ญี่ปุ่นเปิดเกมดูดลูกค้ารถจีน โตโยต้า พร้อมถล่มปิกอัพอีวี

โตโยต้า

ค่ายรถญี่ปุ่นเจ้าตลาดเครื่องยนต์สันดาป ดิ้นปรับตัวอุตลุดแก้เกมกระแสรถ EV มาแรง ปูพรมทั้งไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด ดูดกลับลูกค้ารถจีน “โตโยต้า” สปีดเต็มเหนี่ยวเข็นรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่น ฟาก “ฮอนด้า” จ่อส่งอีวีลงตลาดเพิ่มหลังเดินตามสเต็ปด้วยเทคโนโลยี e:HEV มาอย่างต่อเนื่อง ยันพร้อมก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ โดยเฉพาะจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่มอเตอร์ไฟฟ้า ไทยจัดเป็นประเทศแถวหน้าในภูมิภาคอาเซียนที่ทำได้อย่างรวดเร็ว โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานสถิติการลงทุนในมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้าน EV ที่กำหนดให้สิทธิประโยชน์กับยานยนต์ 3 ประเภท ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี

รวมถึงจักรยานยนต์ไฟฟ้า สามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เรือไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2560 ถึงวันนี้ บีโอไอให้การส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มีมูลค่า 80,208 ล้านบาท ใน 26 โครงการ (17 บริษัท) คิดเป็นจำนวนรถมากถึง 838,775 คัน

จดทะเบียนอีวีปีนี้ทะลุ 3 หมื่นคัน

ขณะที่นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังได้ประเมินสถิติยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ประเภท BEV หรือรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2565 ที่ผ่านมาว่า น่าจะมียอดจดสูงกว่า 20,000 คัน เติบโตมาก 200%

ประเด็นใหญ่คือ รัฐบาลให้การสนับสนุน มีแพ็กเกจเงินอุดหนุนสำหรับผู้ซื้อรถอีวี และยังมีส่วนลดพิเศษด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการ จึงทำให้เห็นการเติบโตรถอีวีอย่างชัดเจนและรวดเร็ว โดยมั่นใจว่าในปี 2566 ยอดจดทะเบียนรถอีวีน่าจะก้าวกระโดดไปถึง 35,000 คัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเติบโตแบบก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะรถจีน ทั้งแบรนด์เอ็มจี, เกรท วอลล์ฯ, BYD, เนต้า ฯลฯ ส่งผลให้ค่ายญี่ปุ่นที่เคยสนุกสนานกับรถใช้เครื่องยนต์ต้องเร่งปรับตัวเองกันอุตลุด โดยภาพที่เห็นชัดเจนตอนนี้ คือ ความพยายามที่จะดึงมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเสริม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนและให้ความประหยัดมากขึ้น ในรูปแบบของกลุ่มรถไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด

โตโยต้าเข็นอีวี 2 รุ่นปะทะจีน

นายอากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะกรรมการบริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยถึงทิศทางการทำตลาดรถอีวีในประเทศไทยว่า จะมี 2 รุ่น คือ รถยนต์ไฟฟ้า 100% แบรนด์ bZ รุ่น 4X ซึ่งได้เปิดตัวไปตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมา ส่วนปี 2566 โตโยต้าจะแนะนำปิกอัพ ไฮลักซ์ รีโว่ อีวี

ก่อนหน้านี้นายโตโยดะ ได้ประกาศเมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมาว่า โตโยต้ามีกลยุทธ์มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีแผนจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ถึง 30 รุ่น ภายในปี 2573 โดยโตโยต้าจะใช้เงินลงทุนรวมเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่มากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการพัฒนาแบตเตอรี่ไฟฟ้าจะใช้เงินมากถึง 6 แสนล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวน 3.5 ล้านคันภายในปี 2573

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแบรนด์โตโยต้า ปัจจุบันรถยนต์เกือบทุกรุ่น ที่ขายในประเทศไทย ทั้งอัลติส คัมรี่ รวมถึงซี-เอชอาร์ และโตโยต้า ครอส ต่างมีรุ่นไฮบริดให้เลือกเป็นเจ้าของ โดยเร็ว ๆ นี้กำลังพิจารณาจะเพิ่มไฮบริดในรุ่นยาริส เอทีฟ เช่นเดียวกับพลังงานไฮโดรเจน โตโยต้ายืนยันว่าการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่ใช่มีแต่เพียงมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น เทคโนโลยีไฮโดรเจนก็ทำได้ และโตโยต้ากำลังมองเทคโนโลยีนี้เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย

สำหรับสเป็กของ bZ4X เป็นรถอีวีที่พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม e-TNGA ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน 71.4 kWh โดยชาร์จเต็มสามารถวิ่งได้ไกล 500 กม. รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อหน้าใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 150 kW อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 8.4 วินาที ขณะที่รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อสามารถวิ่งได้ 460 กม. ใช้มอเตอร์ 2 ตัวหน้า+หลัง 80+80 kWh ให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 7.7 วินาที

ส่วนไฮลักซ์ รีโว่ อีวี มิติโดยรวมจะเท่ากับรีโว่ที่ใช้เครื่องยนต์ ปรับปรุงกระจังหน้าเล็กน้อย เกียร์ไฟฟ้า ดิสก์เบรกทั้งหน้าและหลังเพื่อการหยุดรถที่ดีขึ้น ล้อขนาด 20 นิ้ว ส่วนตัวแบตเตอรี่อีวียังไม่ชัดเจน

ฮอนด้ายันเดินตามสเต็ป

ด้านนายโนริยุกิ ทาคาคุระ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เคยกล่าวว่า การใช้รถอีวีเพื่อผลักดันให้สังคมไทยไปสู่สังคมปลอดมลพิษ ฮอนด้าเห็นด้วยอย่างยิ่งและสนับสนุนมาตลอด แต่ต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังมีระบบซัพพลายเชนค่อนข้างยาว ต้องใช้เวลาปรับตัว

ดังนั้นระหว่างทางที่จะก้าวไปสู่อนาคตสังคมซีโร่คาร์บอน ฮอนด้าจะมุ่งนำเสนอรถยนต์ e:HEV หรือไฮบริดมาเป็นเทคโนโลยีในการเชื่อมระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งเทรนด์ส่วนใหญ่จะเริ่มจากไฮบริดต่อด้วย PHEV และอีวีในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมีกระแสว่าฮอนด้าพร้อมเข้าร่วมโครงการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล โดยคาดว่าจะมีการนัดหมายเพื่อเซ็นเอ็มโอยู ใช้สิทธิรับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท และลดภาษีอื่น ๆ ในเร็ว ๆ นี้ ส่วนรถอีวีที่ฮอนด้าจะใช้ทำตลาด คาดว่าจะเป็น HONDA e:NS1 ELECTRIC รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ที่วิ่งได้ไกลถึง 500 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

ลูกค้ามาสด้ารออีกนิด

ส่วนรถญี่ปุ่นแบรนด์อื่น ๆ เช่น มิตซูบิชิ ก็มีเทคโนโลยีให้ลูกค้าเลือก โดยเฉพาะรุ่นเอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ขณะที่นิสสันก็มีเทคโนโลยีอี-เพาเวอร์เป็นของตัวเอง ใส่ในนิสสัน คิกส์ และเร็ว ๆ นี้พร้อมจะลงในเก๋งเล็กอัลเมร่า ไม่ต่างจากแบรนด์ซูซูกิ ที่ปรับตัวเร็วมาก ล่าสุดในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปี 2565 ที่ผ่านมา เปิดตัวซูซูกิ เออร์ติกา ไฮบริด เพิ่มอีก 1 รุ่น เพื่อรับกระแสนิยมรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้า จะมีเพียงแบรนด์เดียวอย่างมาสด้า ที่ยังไม่มีรถยนต์กลุ่มนี้เลย

โดยก่อนหน้านี้นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กระแสรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังแรงและเป็นเทรนด์ของทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยนั้น มาสด้ายืนยันว่าพร้อมจะตอบสนองความต้องการของลูกค้า หลังจากได้รับแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มั่นใจว่าตามแผนงานที่ยืนไว้ภายในระยะเวลา 3 ปี จะต้องมีรถยนต์จากโครงการดังกล่าวออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทแม่