โตโยต้า+พันธมิตร แก้โจทย์ Carbon Neutral ด้วยพลังงานหลากหลาย

โยชิกิ โคนิชิ
โยชิกิ โคนิชิ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลังจากประกาศความร่วมมือกับกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศไทย อย่างกลุ่ม ซี.พี. ไปเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ล่าสุด โตโยต้าและบริษัท CJPT หรือ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิป เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น) เดินหน้าสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทาง รวมทั้งการขับเคลื่อนของกลุ่มบริษัทพันธมิตรค่ายรถยนต์ชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น 4 ราย ได้แก่ อีซูซุ มอเตอร์, ซูซูกิ มอเตอร์, ไดฮัทสุ มอเตอร์ และฮีโน่ มอเตอร์ จัดกิจกรรมทดสอบสมรรถนะรถยนต์ ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย ณ “TOYOTA ALIVE”

นอกจากจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมผัสรถพลังงานทางเลือกที่หลากหลายแล้ว ยังมีการเชิญชวนคู่ค้า หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน กลุ่มลูกค้ารายใหญ่มาร่วมสัมผัสถึงเทคโนโลยีที่จะนำพาไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนความต้องการของตลาด และที่สำคัญ “โยชิกิ โคนิชิ” asia leader of commercial japan partnership technologies (CJPT) และกรรมการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง ยังเปิดโอกาสให้ได้ พูดคุยถึงทิศทางในการขับเคลื่อนกลุ่ม CJPT เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” จะเป็นอย่างไรไปติดตามกัน

Q : ความตั้งใจในการจัดงานครั้งนี้

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ CJPT ตั้งใจที่จะนำรถยนต์และเทคโนโลยียานยนต์ที่หลากหลาย เพื่อนำพาเราไปสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” มานำเสนอ และแนะนำให้คนไทยได้รู้จัก แม้ว่ารถยนต์จะมีเพียงแค่ Hilux BEV เพียงรุ่นเดียวเท่านั้นที่มีแผนอย่างชัดเจนว่าจะจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนรุ่นอื่น ๆ นั้นหวังว่าจะได้รับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณา และนำไปสู่การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป

Q : ปีนี้จะได้เห็น Hilux BEV แน่นอน

วันนี้ในส่วนของ Hilux BEV ได้จบในเรื่องของการพัฒนาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแค่กระบวนการเตรียมการผลิตเท่านั้น ขณะรุ่นอื่น ๆ ที่นำมาจัดแสดงในประเทศไทยครั้งนี้ จะมีรุ่นที่ผลิตและจำหน่ายไปแล้ว เช่น FCEV รถบรรทุกขนาดเล็ก, รถบัส SORA, รถ VAN แบบ K-Car และ Japan taxi ที่มีการผลิตและจัดจำหน่ายแล้ว ส่วนรถที่ยังไม่ได้มีการจำหน่ายในญี่ปุ่นคือรถบรรทุกขนาดใหญ่ FCEV และรถ Hilux BEV

Q : จะได้เห็นรถปิกอัพแบรนด์อื่น ๆ ที่เป็น BEV

เราได้หารือกันภายในกลุ่ม CJPT อย่างอีซูซุก็ได้มีการหารือร่วมกันตลอดเวลา ส่วนแบรนด์อื่น ๆ ก็จะมีการลงรายละเอียดกันต่อไปในอนาคต เช่น อีซูซุตอนนี้ก็ได้มีการพัฒนารถโปรโตไทป์ของ D-Max BEV อยู่แล้ว เพื่อทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนได้จริง แต่วันนี้ยังไม่สามารถโชว์ให้เห็นได้

แต่จุดประสงค์หลักของเราคือเรื่องของ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ที่จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร แทนที่เราจะมาแข่งขันกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าเรามาร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ตรงนี้คือประเด็นหลักในการหารือร่วมกันกับทุก ๆ แบรนด์ รวมทั้งอีซูซุด้วย

ไทยมีเป้าหมายของประเทศคือ 30@30 ที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ให้ได้ภายในปี 2030 เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นก็มีเป้าหมายภายในปี 2050 จะต้องมี “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ทั้งนี้ แบรนด์เดียวคงทำไม่ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจริง เกิดความร่วมมือของ CJPT ขึ้นมาเพื่อพัฒนารถยนต์ร่วมกัน เช่น รถ FCEV ขนาดเล็ก (ไฮโดรเจน) โครงสร้างเป็นของอีซูซุ แต่ระบบ FCEV เป็นของโตโยต้า ถ้าเราเป็นคู่แข่งขัน ในประเทศไทยก็คงจะไม่มีรถยนต์แบบนี้เกิดขึ้น

โตโยต้า FCEV

และครั้งนี้เรามองว่าจะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อนำเสนอตัวเลือกขึ้นมาหนึ่งตัวเลือก ทำให้เห็นว่าสามารถตอบสนองความเป็นกลางทางคาร์บอนขึ้นมา อนาคตแบรนด์ใดจะทำตลาดอย่างไรนั้น คงต้องมีการหารือรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างการนำ K-Car เข้ามา เพื่อตอบสนองการใช้งานในเมืองที่ต้องเข้าไปในซอยเล็ก ๆ ขนส่งสินค้าจำนวนมาก ถ้าอนาคตมีความเหมาะสม ผู้บริโภคในประเทศไทยมีความต้องการ

อนาคตเราก็อาจจะส่งรถกลุ่มนี้เข้ามาทำตลาด และจะสามารถบอกได้ว่าจะเป็นไดฮัทสุ หรือซูซูกิ ที่จะเป็นผู้นำมาทำตลาด ถ้าตลาดมีความต้องการ อนาคตก็เป็นไปได้ที่จะนำเข้ามา เรานำรถเข้ามาเพื่อให้ฟังเสียงเรียกร้อง ความต้องการของลูกค้าชาวไทย

Q : โจทย์ของ CJPT คืออะไร

ความเป็นกลางทางคาร์บอน โจทย์ที่ CJPT ได้รับคือ จะทำอย่างไรให้สามารถลด CO2 ให้ได้มากที่สุด และนี่คือโจทย์ที่ผู้ผลิตรถยนต์มองเห็น และรถที่มีขนาดเล็กกว่าจะสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้มากขึ้น เราหวังว่าจะฟังความคิดเห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ CJPT ต้องมองหาความสมดุลเพื่อจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ และเป็นสิ่งที่เราต้องหาร่วมกันเพิ่มเติม

Q : รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน

จากทั้งหมด 4 รุ่น มี 2 รุ่นที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุน คือรถบรรทุก FCEV ขนาดเล็ก และรถบัส SORA ซึ่งเราไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ส่วนอีก 2 รุ่นนั้น เป็นรถที่จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการโดยตรงไม่มีการอุดหนุน

Q : ประเทศไทยให้การสนับสนุนแค่รถอีวี

CJPT ต้องการสื่อสารให้เห็นว่า ตัวเลือกในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายของรัฐบาลไทยในปี 2030 รวมทั้งคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 นั้น นอกจากรถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV แล้วยังมีพลังงานที่หลากหลาย ทั้ง FCEV, LPG, CNG และคนที่จะเลือกนั้นคือ “ตลาด-ผู้บริโภค” ดังนั้น เราต้องหารือ สื่อสารกับผู้บริโภคให้ดีว่า

ท้ายที่สุดแล้วต้องการพลังงานแบบใดเพื่อตอบโจทย์ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ได้ แม้ว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการสื่อสาร เพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นตัวเลือกที่ตนเองต้องการ และตัวเลือกที่เป็น BEV หรือ FCEV นั้น ยังมีความจำเป็นจะต้องมีสถานีเติมพลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจน ซึ่งจะต้องไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเรายังต้องสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคมองเห็นตรงนี้ด้วย

Q : ใช้เวลาศึกษารถแท็กซี่นานแค่ไหน

สำหรับเราจะรีบลงรายละเอียดในการศึกษา คาดว่าในช่วงกลางปีนี้เพื่อรับฟังความต้องการ วันนี้ได้กระแสค่อนข้างดี เราต้องคุยกับโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทยอีกที่หนึ่ง แต่วันนี้ยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจน

แต่ด้วยข้อกำหนดในปัจจุบัน รถคันนี้ยังไม่สามารถเปิดตัวเป็นแท็กซี่ได้ ต้องพูดคุยหารือกับภาครัฐในการแก้ไขตรงนี้ก่อน แน่นอนว่ารถที่เรานำมาเปิดตัว มาโชว์ในครั้งนี้ย่อมจะมีผลกระทบกับรถที่มีขายอยู่ ทั้งอัลติส จากรถเจแปนแท็กซี่ หรืออย่างรถปิกอัพ จากตัว K-Car แต่โจทย์ใหม่คือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งทุกคนพยายามแก้โจทย์ตรงนี้ให้ได้จริง ตัวเลือกของพลังงานที่หลากหลาย

ตอนนี้เรายังไม่ได้เริ่มคุยกับภาครัฐ แต่คงต้องศึกษาความเป็นไปได้ โดยเฉพาะ “ดีมานด์” ว่ามีมากน้อยแค่ไหน มีความต้องการหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะต้องชัดเจนก่อน ต้องให้เป็นโจทย์ที่มีคำตอบก่อนเราถึงจะเริ่มการผลิต วันนี้ยังมีเรื่องของสเป็ก ขนาด ความต้องการด้านต่าง ๆ เราต้องฟังเสียงของผู้บริโภคก่อน แต่ถ้ามองในเรื่องความรวดเร็ว ต้องนำเข้ามาจากญี่ปุ่นโดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อทำตลาดได้เลยนั้นจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุด

ส่วนความเป็นไปได้ต้องขึ้นอยู่กับตลาดว่ามีความต้องการรถในกลุ่มนี้มากน้อยแค่ไหน เราก็จะผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด สำหรับเจแปนแท็กซี่ มีคอนเซ็ปต์คือ ใช้ระบบ LPG HEV เพื่อทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน และเหมาะสมกับผู้พิการ ผู้สูงอายุที่สามารถขึ้น-ลงรถได้สะดวก ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเชื่อว่าความต้องการตรงนี้จะมีเพิ่มมากขึ้น

Q : ถ้ารัฐไม่สนับสนุน ยังจะสามารถผลิตได้หรือไม่

รถ FCEV วันนี้ยังมีราคาแพงอยู่ ถ้าผลิตได้จำนวนมากต้นทุนในการผลิตก็จะลดลง เราพยายามสู้เพื่อนำเสนอรถประเภทนี้ออกสู่ตลาด แต่อาจจะต้องใช้เวลา เพราะไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ภาย 1-2 วัน ภายในปี 2030, 2040, 2050 เราวางเป้าหมายไว้อย่างไร ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรถยนต์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน

ตรงนี้เป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกันกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง วันนี้เป็นเพียงสเต็ปแรก ที่จะปีนไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน วันนี้กลุ่ม CJPT พยายามนำเสนอตัวเลือกต่าง ๆ HEV, LPG, FCEV, BEV เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ และท้ายที่สุดจะต้องไปถึงยอดภูเขา คือความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 ให้ได้

สุดท้าย “ซาโคชิ โอกุยาม่า” เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในผู้บริหารของ CJPT ยังได้ช่วยตอกย้ำและชื่นชมโตโยต้า ที่ตัดสินใจแนะนำรถยนต์ไฮบริดออกมา เมื่อ 20 กว่าปี ว่าหากไม่มีรถไฮบริดก็จะทำให้คาร์บอนเพิ่มขึ้น 20%

การมี “ไฮบริด ทำให้คาร์บอนลดลงไป 20% และนี่ก็ถือเป็นการทำให้เราเข้าใกล้ความเป็นกลางทางคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น


ตัวเลือกหนึ่งที่โตโยต้านำเสนอมานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะพยายามต่อไป