คนไทยต้องไม่ผิดหวัง

โตโยต้า
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง

ประเด็นใหญ่ที่พูดถึงในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์หลังจาก “อากิโอะ โตโยดะ” ประธานบอร์ด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ใช้พื้นที่ช่องทางออนไลน์แถลงชี้แจงเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ของการเตรียมการทดสอบการชนด้านข้าง (UN R95) โดยบริษัทลูก ไดฮัทสุ มอเตอร์ ตรวจพบรถยนต์รุ่น ยาริส เอทีฟ (Yaris Ativ) ที่ผลิตจากโรงงานของโตโยต้า 2 แห่งในภูมิภาคเอเชีย พร้อมประกาศหยุดการขายและส่งมอบรถชั่วคราว

เขาให้สัมภาษณ์สื่อว่า ได้มีการปรึกษาหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบอีกครั้ง มีการลงความเห็นว่าสำหรับรถรุ่นปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขใด ๆ และยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้งานรถของท่านต่อไปได้ตามปกติ

จากกรณีดังกล่าวต้องชื่นชมในแนวทางการทำงานของ “โตโยต้า-ไดฮัทสุ” เพราะทันทีที่มีการรายงานปัญหาพบความผิดพลาดทีมผู้บริหารระดับสูงได้ออกมายอมรับเท่ากับแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ และสะท้อนถึงความรับผิดชอบของบริษัทผู้ผลิตโดยตรง

รถจำนวนทั้งสิ้น 88,123 คัน ในจำนวนนี้ มีรถผลิตในไทย ขายในประเทศส่งออกไปในตะวันออกกลางและเม็กซิโก 36,890 คัน

นอกจากประธาน “อากิโอะ โตโยดะ” จะกล่าวขอโทษลูกค้าผ่านสื่อแล้ว วันที่ 8 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ยังตัดสินใจบินตรงมาตั้งโต๊ะแถลงด้วยตัวเองที่ประเทศไทย หลายคนมองว่านี้ คือ วิธีการกอบกู้ชื่อเสียง แสดงความรับผิดชอบให้เกียรติกับลูกค้า แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ในแบบฉบับของคนญี่ปุ่นแล้ว

ยาริส เอทีฟ (Yaris Ativ) เองถือเป็นรถธงที่โตโยต้าตั้งความหวังไว้ไม่น้อย

การที่มีผู้บริหารระดับสูง ตั้งโต๊ะแถลงข่าวและไทยเป็นประเทศเดียวที่เขาเลือกมาด้วยตัวเอง แน่นอนว่า คำตอบย่อมไม่ “ธรรมดา”

เพราะนอกจาก “ไทย” คือ ฐานผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโตโยต้าด้วยกำลังผลิตที่ 760,000 คันต่อปี ยังเป็นตลาดที่มียอดขายกว่า 3 แสนคันต่อปี ที่โตโยต้าจะสูญเสียพื้นที่ไปไม่ได้

การกู้ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และความเชื่อใจ ให้กลับมาโดยเร็วที่สุดนั้นเป็นเรื่องที่โตโยต้าต้องรีบดำเนินการ

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา หากใครได้ฟังการแสดงวิสัยทัศน์-ความรู้สึกที่มีต่อประเทศไทยและคนไทย บนเวทีฉลอง ครบรอบ 60 ปี โตโยต้าประเทศไทย

จะพบว่าเขามีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับคนไทยและประเทศไทย

“อากิโอะ โตโยดะ” ฉายภาพความประทับใจและความผูกพันกับสยามประเทศว่าเมื่อครั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารที่ดูแลรับผิดชอบภูมิภาคอาเซียน

ครั้งที่โตโยต้าต้องเผชิญ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ได้รับผลกระทบครั้งใหญ่จากวิกฤตค่าเงิน ซึ่งโตโยต้าไม่ได้มีการเลิกจ้างพนักงานแม้แต่คนเดียว และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์สั่งซื้อรถยนต์โซลูน่าโดยให้พนักงานใช้มือทำ ไม่ต้องใช้เครื่องจักรไม่ต้องรีบเพื่อให้พนักงานคนไทยจะได้มีงานทำนาน ๆ

การเลือกมาแถลงข่าวด้วยตัวเองในเชิง “ธุรกิจ” ถือว่ามีความจำเป็นระดับหนึ่ง แต่ในเชิงคุณค่าทาง “จิตใจ” “อากิโอะ โตโยดะ” มองว่ายิ่งใหญ่กว่า

เพราะในใจลึก ๆ ของเขาไม่ต้องการให้คนไทยผิดหวังกับแบรนด์โตโยต้า“ลูกค้า” และ “ประเทศไทย”

“อากิโอะ โตโยดะ” ใช้คำว่า Thailand my home away from home หรือประเทศไทย คือ “บ้านอีกหลังหนึ่งนอกจากบ้านเกิดที่ญี่ปุ่นของเขา และความสำเร็จของโตโยต้าในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของจำนวนยอดขายรถที่เราทำได้ที่นี่ หรือการมียอดขายเป็นอันดับหนึ่ง แต่ความหวังสูงสุดคือแค่อยากให้เราเป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้าในประเทศไทยแห่งนี้”