ตลาดรถยนต์ทรุดต่อเนื่อง ปิกอัพหดตัวแรง “ฟอร์ด” เจ๋งบวกเจ้าเดียว

ฟอร์ดเอเวอร์เรสต์

ตลาดรถยนต์ยังหดตัวต่อเนื่อง ยอดขาย 4 เดือนทรุด 6% ได้แค่ 2.76 แสนคัน ทั่วประเทศชะลอการซื้อ เศรษฐกิจยังผันผวน ปิกอัพร่วงหนักสุด “ฟอร์ด” แรงยอดบวก 40%

วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ว่า มีปริมาณการขายเพียง 276,603 คัน หดตัวลง 6% ซึ่งมาจากประเด็นหลัก คือ รถปิกอัพขนาด 1 ตัน หดตัวรุนแรงมากกว่า 20% เป็นผลมาจากการชะลอการตัดสินใจซื้อของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ประกอบกับเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด มียอดสั่งซื้อไปก่อนหน้าแล้ว แบ่งเป็น อันดับที่ 1 โตโยต้า 94,686 คัน ลดลง 4.2% ส่วนแบ่งตลาด 34.2%, อันดับที่ 2 อีซูซุ 60,495 คัน ลดลง 18.3% ส่วนแบ่งตลาด 21.9% อันดับที่ 3 ฮอนด้า 32,370 คัน เพิ่มขึ้น 5.3% ส่วนแบ่งตลาด 11.7%

นายศุภกรกล่าวคาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการชะลอการตัดสินใจซื้อ ซึ่งภาคประชาชนและภาคเอกชน ต่างเฝ้ารอความชัดเจนในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป

สำหรับตลาดรถยนต์ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนเมษายน 2566 มีปริมาณการขาย 59,530 คัน แบ่งเป็นโตโยต้า 19,565 คัน อีซูซุ 13,336 คัน ฮอนด้า 6,409 คัน และแบรนด์อื่น ๆ 20,220 คัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ไม่ว่าจะสอบถามค่ายรถยนต์ยี่ห้อไหน ส่วนใหญ่ระบุชัดถึงปัญหาสะสม ซึ่งมีทั้งซัพพลายชิ้นส่วนสำหรับการผลิตรถยนต์บางรุ่น รวมถึงผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในการจับจ่าย และประเด็นที่น่ากังวลสูงสุด คือ ความเข้มงวดของไฟแนนซ์ในการปล่อยสินเชื่อ

โดยเฉพาะกลุ่มรถปิกอัพทำให้กระทบหนักสุด 4 เดือนอีซูซุทำได้ 60,495 คัน ลดลงเกือบ 20% โตโยต้ามียอดขาย 59,322 คัน หดตัวถึง 17% มีเพียงฟอร์ดเจ้าเดียวที่ตัวเลขเป็นบวก ทำได้ 13,909 คัน เพิ่มขึ้นมากกว่า  40%  กินส่วนแบ่งตลาด  7.8%  ตอนนี้มีความจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหากันอย่างเร่วด่วน และหลายยี่ห้อคาดการณ์ว่า ปัญหานี้จะลากยาวไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่หรือเกินครึ่งปีแน่นอ