
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่นายใหญ่ค่ายโตโยต้า “โนริอากิ ยามาชิตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ออกมาแสดง มุมมอง และทรรศนะ ในฐานะของค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ผู้นำตลาดรถยนต์ในบ้านเรา ถึงความชัดเจนในทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ ในวันที่โตโยต้ากับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ได้มีแค่พลังงานยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เพียงตัวเดียวเท่านั้น แต่บนความหลากหลายของพลังงาน ทั้งไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ไฮโดรเจน และมอเตอร์ไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่สามารถนำพาให้เราบรรลุเป้าหมาย
เขายังมองว่าแม้ว่าการเข้ามาของค่ายผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน และการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้โดยง่าย แต่เมื่อดูตัวเลขจากเมื่อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โตโยต้ามีส่วนแบ่งตลาด 34.8% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว 34.3% จึงเชื่อว่าแนวคิดของโตโยต้ายังมีความเป็นไปได้
แต่ปรากฏว่าดัชนีของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ไม่สู้ดีนัก ตลอดจนการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการการปล่อยกู้และปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้เชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อฟื้นตัว ดังนั้นโตโยต้าจึงขอปรับลดประมาณการยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 730,000 คัน จากเดิมที่ประเมินยอดขายรวมทั้งปีไว้ที่ระดับ 780,000 คัน ถึง 800,000 คัน ซึ่งดีกว่าปี 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับมุมมองการแข่งขันกับรถ EV นั้น โตโยต้ายังเชื่อว่าตลาดรถไฮบริดในประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีความสำคัญ โตโยต้ามองว่าสัดส่วนยอดขายรถ EV ในประเทศไทยอยู่ที่ 10% ในขณะที่รถไฮบริดมีสัดส่วนสูงกว่า อยู่ที่ 12%
ตลาดของรถไฮบริดก็น่าจะขยายตัวออกไปได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยยอดขายของ EV เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่มจาก 10% ไปเป็น 14% ในขณะที่สัดส่วนยอดขายรถไฮบริดเพิ่มขึ้นสูงจาก 12% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 22% ในปีนี้ ถือว่าโตมาก ๆ
ส่วนยอดขายรถไฮบริดของโตโยต้าเมื่อปีที่แล้ว ทำได้ประมาณ 31,000 คัน คิดเป็น 30% ของตลาดไฮบริดโดยรวมในประเทศไทย โดยโตโยต้าได้มีการแนะนำ “ยาริส ครอส” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2566 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากตลาดดีมาก ๆ และหากดูจากยอดขายรถไฮบริดในประเทศไทยเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สัดส่วนทางตลาดที่โตโยต้าทําได้อยู่ที่สูงกว่า 40% ถือเป็นคำตอบที่ดีมาก
ทั้งนี้ “ยามาชิตะ” ยังย้ำถึงจุดที่ทำให้มั่นใจว่าตลาดรถไฮบริดมีความได้เปรียบอย่างแข็งแกร่ง นั่นคือรถไฮบริดไม่จําเป็นจะต้องพึ่งสาธารณูปโภคเพิ่มเติม และสามารถลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทันที
ส่วนรถ EV นั้น หากพิจารณาในการใช้งานจริงขึ้นอยู่กับสาธารณูปโภคก็คือ สถานีชาร์จ ทุกคนจะเข้าถึงได้จริงหรือไม่ ขณะที่ความประหยัดโดยรวมสําหรับลูกค้าอาจจะไม่ได้ประหยัดจริง รวมถึงเมื่อพิจารณาราคาขายต่อ ตลอดจนการประหยัดในระยะยาว ก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งก็ต้องคํานึงถึงปัจจัยที่หลากหลายนี้เช่นกัน
เช่นเดียวกับภาระต่อสิ่งแวดล้อม หากพิจารณาการลด CO2 แบบ Tank to Wheel การผลิตพลังงานภายในรถ EV อาจจะปล่อยคาร์บอนออกมาเป็นศูนย์จริง แต่ถ้าพิจารณาแบบ Well to Wheel คือ แหล่งไฟฟ้าที่เอามาชาร์จรถ EV อย่างประเทศไทย ก็ยังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอยู่เป็นหลัก เพราะฉะนั้นปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกมา เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อย CO2 ของรถทั่วไป หรือรถไฮบริดแล้ว ก็อาจจะไม่ได้ต่างกันมาก ซึ่งต้องคํานึงถึงจุดนี้ด้วย
โตโยต้าจึงเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะนําประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ดังนั้นโตโยต้าจึงมีแผนที่จะแนะนำรถรุ่นใหม่ที่เป็นรถไฮบริดออกมาเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างในปีนี้ โตโยต้าก็มีการแนะนำแคมเปญและข้อเสนอเพื่อกระตุ้นยอดขายต่าง ๆ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งโตโยต้าจะพิจารณากลยุทธ์ระยะกลางกับระยะยาวอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาถึงลูกค้าเป็นสำคัญ
และจากกลยุทธ์ Multi Pathway ของโตโยต้า คือการมุ่งนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับลูกค้าที่มีความต้องการแตกต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้รถที่ตรงกับความต้องการของตนเองมากที่สุด โดย Multi Pathway เป็นนโยบายของโตโยต้าทั่วโลก ซึ่งเราจะดูลักษณะจําเพาะของแต่ละประเทศและแต่ละตลาด ตลอดถึงความเป็นไปได้ในอนาคต แล้วจึงนําเสนอทางเลือกที่เหมาะสมให้ได้มากที่สุด
ส่วนการจะเลือกว่าเทคโนโลยีใดเหมาะสมกับประเทศไหน มีปัจจัยในการพิจารณาทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1.ปัจจัยแรกก็คือ ตัวลูกค้า ว่าลูกค้าแนวโน้มจะซื้อรถที่มีเทคโนโลยีอะไร โดยเราก็จําเป็นจะต้องดูจากสภาพทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น และสภาพการใช้งานจริงของลูกค้าด้วย
2.ปัจจัยที่สอง คือ ภาระต่อสิ่งแวดล้อม เราจําเป็นต้องดูด้วยว่าแต่ละประเทศตอนนี้มีโครงสร้างทางพลังงานอย่างไร เทคโนโลยีไหนที่จะช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศได้เหมาะสมที่สุด
3.ปัจจัยที่สาม คือ เรื่องที่ว่าเราจะช่วยเหลือเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้อย่างไร อย่างที่ทราบกันดี ประเทศไทยถือว่าเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ก็คิดเป็นสัดส่วน GDP สูงถึง 12% ของประเทศไทย
หากเราพิจารณาปัจจัย 3 ข้อนี้แล้ว แน่นอนว่ารถ EV ก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสําคัญมากสำหรับอนาคต และโตโยต้าจะนิ่งเฉยไม่ได้แน่นอน
สุดท้าย โตโยต้าน้อมรับนโยบายของประเทศไทย ที่อยากจะมีสัดส่วนการใช้รถ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 โดยจะขยายเทคโนโลยีการผลิตแบบ Step-by-step โดยมุ่งสร้างสรรค์ทางเลือกที่ดีที่สุดสําหรับลูกค้าในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการใช้งานได้จริง ความประหยัด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างแท้จริง ตามแผนโตโยต้าระบุว่าจะผลิตรถไฮลักซ์ EV แบบ Mass Production ภายในปี 2568 พร้อมกับพิจารณาเทคโนโลยีทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงไฮบริดและพลังงานไฮโดรเจนด้วย