EV จีนแห่ลงทุน 2 แสนล้าน สะเทือนรถใหม่ญี่ปุ่น-มือสอง

เปิดข้อมูลทัพ EV จีนเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง 8 แบรนด์ยักษ์ทุ่มเม็ดเงินปีนี้เกือบ 2 แสนล้าน จับตาปี 2568 ชักแถวลงทุนอีก 2 แบรนด์ใหญ่ ทั้ง “Geely” และ “Chery” คนวงในเชื่อสะเทือนอุตฯรถยนต์ทั้งประเทศ สงครามราคา EV จีน กระแทกตลาดรถมือสองราคาดิ่งซ้ำอีก 10-20% รถยึดเต็มลานประมูล เผยปลายปีกระบะ EV จีนแบรนด์น้องใหม่เข้าถล่มตลาด

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่รัฐบาลสนับสนุนและยกระดับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีเป้าหมายให้รถ EV กลายเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 ต่อจากรถปิกอัพและอีโคคาร์ ถึงวันนี้มีแบรนด์ EV จีนเข้าทำตลาดในบ้านเรามากกว่า 10 แบรนด์ และเริ่มทยอยลงทุนตั้งโรงงานผลิตปีนี้ไม่น้อยกว่า 7-8 แบรนด์

เม็ดเงินลงทุนแตะ 2 แสนล้าน

สำหรับเม็ดเงินลงทุนซึ่งเริ่มต้นผลิตในปี 2567 อาทิ เกรท วอลล์ฯ 2.2 หมื่นล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปีราว ๆ 1 แสนคัน (รวมส่งออก) ตามมาด้วย MG ใช้เม็ดเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปี 1 แสนคัน (รวมส่งออก) NETA จ้างบางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี ในเครือ PNA ประกอบ เม็ดเงินลงทุน 3,500 ล้านบาท มีกำลังผลิตต่อปี 2 หมื่นคัน

ตามมาด้วย BYD, GAC รวมถึงรายเล็กอย่างแบรนด์หวู่หลิง และยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งแบตเตอรี่ EV สถานีชาร์จ ฯลฯ เม็ดเงินเกือบ 10,000 ล้านบาท คิดเป็นยอดรวมแล้ว ปีนี้น่าจะใกล้เคียง 2 แสนล้านบาท

BYD จัดเต็ม

นายหวัง ชวนฟู่ ประธานกรรมการและประธานบริษัท บีวายดี กรุ๊ป เปิดเผยว่า เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกนอกประเทศจีน บนพื้นที่ 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม WHA ระยอง 36 ต.พนานิคม อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ภายใต้งบประมาณการลงทุนกว่า 35,000 ล้านบาท โดยจะมีกำลังที่ 150,000 คัน/ปี

“เราใช้เวลาแค่ 16 เดือน หลังได้รับส่งเสริมการผลิตในโรงงานนี้ เน้นลดใช้พลังงานและคาร์บอนต่ำ ครบครันด้วยเครื่องจักรกลอัตโนมัติ มีระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ล้ำสมัย ครอบคลุม 4 ขั้นตอนการผลิตยานยนต์ ได้แก่ การขึ้นรูป การเชื่อม การทำสี และการประกอบ เพื่อการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าคุณภาพสูงและได้มาตรฐานสำหรับตลาดประเทศไทย เป็นฮับพวงมาลัยขวา คาดว่าจะสร้างงานได้กว่า 10,000 ตำแหน่ง”

ADVERTISMENT

GAC ดึง AI ช่วยผลิต

นายเจิง ชิ่งหง ประธานบริษัท GAC กรุ๊ป กล่าวว่า การเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ GAC AION ในประเทศไทย ถือเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของแบรนด์ทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสองแห่งในประเทศจีน มีกำลังการผลิต 500,000 คันต่อปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 120% ทั้งยังมียอดการผลิตและจำหน่ายอยู่ใน 3 อันดับแรกของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ โรงงานแห่งนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับบริษัท

สำหรับโรงงานในประเทศไทย เฟสแรกใช้เงินลงทุน 2,300 ล้านบาท จะใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับชั้นนำของโลกและควบคุมคุณภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยี AI ที่ทรงพลัง การผลิตอัจฉริยะไร้คาร์บอนชั้นนำของโลก ตอกย้ำว่า GAC AION มุ่งมั่นเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาดให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และยังได้นำเสนอรถยนต์ไฟฟ้า AION V เจเนอเรชั่นที่ 2 อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเผยโฉม AION V เจเนอเรชั่นที่ 2 ในประเทศจีนอีกด้วย

ADVERTISMENT

อีก 3 แบรนด์พร้อมขึ้นไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจาก MG, เกรท วอลล์ฯ, เนต้า, BYD, GAC AION ที่เปิดโรงงานอย่างเป็นทางการในไทยแล้ว ในช่วงไตรมาสแรกปี 2568 จะมีมาเพิ่มอีก 3 โรงงาน ประกอบด้วย Changan, Chery และ Geely

นายเซิน ซิงหัว ประธานบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่า ฉางอานต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในไตรมาสแรกของปี 2568 โดยโรงงานในประเทศไทยจะมีกำลังผลิตเบื้องต้น 100,000 คันต่อปี และจะต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้ได้มากกว่า 60% รวมทั้งจะเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในอนาคต ใช้เม็ดเงินลงทุนราว ๆ 8,800 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัท CHANGAN Automobile มีเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับโลกใน 6 ประเทศ มากกว่า 10 ศูนย์ ที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทีมงานกว่า 18,000 คน จาก 30 ประเทศ

ขณะที่แบรนด์เชอรี่ ผู้บริหาร เชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (Chery International) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากทยอยแต่งตั้งดีลเลอร์จำนวน 30 รายในไทยและกำหนดเปิดตัวรถ EV รุ่นโอโมด้า 5 (OMODA 5) ภายใต้แบรนด์ O&J (OMODA&JACCO) ด้วยการนำเข้าจากประเทศจีนในช่วงเดือนสิงหาคม 2567

คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 จะเริ่มผลิตในประเทศโดยเริ่มจ้างผลิตก่อน และหลังจากนั้นราว ๆ 2 ปีจะลงทุนซื้อที่สร้างโรงงานเอง ขณะที่ความได้เปรียบของเชอรี่ คือ ในประเทศจีน เชอรี่เป็นพันธมิตรกับ BYD และ CATL ที่มีความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ EV

เป้าหมายใช้ไทยเป็นฐานการผลิต จะมีทั้งรถ EV และกลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด กำลังการผลิตเฟสแรกปี 2567-2568 เพื่อจำหน่ายในประเทศ กำลังการผลิตต่อปี 18,000 คัน เฟสที่ 2 ปี 2569-2570 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 45,000 คัน และส่งออกเซาท์อีสต์เอเชีย 5,000 คัน ส่วนเฟสที่ 3 ปี 2571-2573 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 60,000 คัน และส่งออกทั่วโลก 25,000 คัน

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแบรนด์ Geely ที่ดำเนินการโดย Geely Holding Group มีรายงานว่า การรุกตลาดในไทยได้เตรียมแผนเข้ารับการสนับสนุนรถ EV กับรัฐบาลไทย ในโครงการ EV 3.5 ซึ่งมีระยะเวลา 2567-2570 โดยรถ EV ตัวแรกที่จะทำตลาดเป็นแบรนด์ RIDDARA เป็นรถกระบะ EV โดยกำหนดเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2567

หั่นราคาสะเทือน “มือสอง”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า การรุกตลาดอย่างจริงจังและรุนแรงของค่ายรถ EV จากจีน รวมถึงการขึ้นไลน์ผลิตอย่างรวดเร็ว หลายคนเชื่อว่าจะยิ่งส่งผลกระทบต่ออุตสหกรรมโดยรวม โดยเฉพาะสามารถใช้สงครามราคาเป็นหัวหอกในการทำตลาดได้ง่ายขึ้นจากต้นทุนที่ต่ำลง ผลที่ตามมาเชื่อว่าจะกระทบกระเทือนอุตฯรถยนต์ทั้งประเทศ โดยเฉพาะรถใหม่ค่ายญี่ปุ่น และยังรุกลามไปถึงตลาดรถมือสอง  ทำให้ราคาร่วง ยอดประมูลรถวูบมากกว่า 50% ทั้งแบงก์และไฟแนนซ์เข้มเลือกกลุ่มปล่อยสินเชื่ออย่างหนัก หนำซ้ำยังลดวงเงินสินเชื่อ โดยเฉพาะรถเก่าตอนนี้เกิดปรากฏการณ์รถอายุเกิน 13 ปี ไล่แจกฟรีกันแล้วด้วย

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าสงครามราคากระทบราคารถยนต์มือสอง ปรับลดลงเฉลี่ย 10-20% และอาจมีบางรุ่นที่ราคาปรับลดลงมากกว่า 20% เช่น รถในกลุ่มยุโรป

โดยธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบจากสงครามราคาของรถอีวีตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบัน รวมถึงผลจากรถยึดที่ไหลเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้น และสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ซัพพลายมีมากกว่าดีมานด์ที่ลดลง

ทั้งนี้ จากสถานการณ์หนี้เสียและราคารถยนต์ที่ปรับลดลง ส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดคุณสมบัติลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อ โดยหากเป็นลูกค้าทั่วไป อาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ จะปล่อยยากขึ้นเมื่อเทียบกับมนุษย์เงินเดือน

โดยในช่วงหลังโควิด-19 ธนาคารได้ปรับเพิ่มวงเงินการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) โดยให้วงเงินเฉลี่ยสูงกว่า 100% แต่ปัจจุบันปรับลด LTV เหลือเพียง 80-90% และกรณีเป็นรถยนต์แบรนด์รอง ๆ ก็จะให้เพียง 70-80%

ไม่รับจัดไฟแนนซ์อีวีมือสอง

นายวิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะที่อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) จะเห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยหากเป็นรถยนต์เก่าอัตราการปฏิเสธจะเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 15% รถยนต์ใหม่ป้ายแดงเฉลี่ย 10-20% จากเดิมอยู่ที่ 10-15% อย่างไรก็ดี หากเป็นรถอีวีมือสอง จะเห็นว่าไม่มีสถาบันการเงินรับจัดไฟแนนซ์ เนื่องจากปัญหาราคารถที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งราคารถป้ายแดงปรับราคาลง หากเป็นรถยนต์มือสองราคาอาจจะตกไปถึง 50% ได้

อย่างไรก็ตาม มองว่าไตรมาส 4 ปีนี้ สถานการณ์น่าจะทยอยปรับดีขึ้น สถาบันการเงินจะเริ่มผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อในบางกลุ่มลูกค้า จากเดิมอาจจะไม่ปล่อยสินเชื่อ เช่น กลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่รับเงินเดือนเป็นเงินสด หรือกลุ่มอาชีพอิสระที่เข้มงวด

ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์หนี้เสีย (เอ็นพีแอล) หรือกลุ่มสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM-ค้างชำระตั้งแต่ 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน) มีสัญญาณดีขึ้น ทำให้โอกาสการปล่อยสินเชื่อใหม่ปรับดีขึ้น รวมถึงคาดว่าราคารถยนต์น่าจะเริ่มทรงตัว

“ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ยอดการอนุมัติสินเชื่อดีขึ้น ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีประวัติการชำระดีในข้อมูลเครดิตบูโร ซึ่งบางแห่งอาจจะดูประวัติ 12-18 เดือน หรือบางแห่งดูถึง 24 เดือน ขึ้นกับนโยบายการเงินของแต่ละแห่ง ส่วนราคารถมือ 2 คาดว่าคงไม่ตกไปกว่านี้แล้ว โดยในพอร์ตซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ มีสัดส่วนรถเก่า 95% และที่เหลือ 5% จะเป็นจำนำทะเบียน”

เต็นท์มือสองชะลอสต๊อกรถ

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากลูกค้าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ ธุรกิจส่วนตัว หรือเอสเอ็มอีขนาดเล็ก สถาบันการเงินอาจจะปฏิเสธสินเชื่อทันที ทำให้ Rejection Rate ในกลุ่มรถมือสองเพิ่มขึ้น

รวมถึงการแข่งขันราคาของรถ EV ทำให้ราคารถยนต์มือสอง โดยเฉพาะรถที่มีอายุเกินกว่า 10 ปี ราคาปรับลดลง 10-15% และส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากความเสี่ยงไม่คุ้มกับดอกเบี้ยที่ได้รับ ซึ่งมีเพดานดอกเบี้ย 15% ต่อปี ตอนนี้เต็นท์รถมือสองซื้อรถจากลานประมูลน้อยลง จากเดิมอยู่ที่ราว 100 คัน ปัจจุบันเหลือเพียง 30-50 คัน

รถอายุเกิน 13 ปีไม่มีราคา

นายสิทธิศักดิ์ มหาสิทธิวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์การตลาดและสื่อออนไลน์ บริษัท สยามอินเตอร์ การประมูล จำกัด หรือ SIA เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปรากฏการณ์รถยนต์มือสองตอนนี้ ถ้าเป็นรถอายุเกิน 13 ปี จะมีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ จากปกติราคารถมือสองจะปรับลงเฉลี่ย 10% ต่อปี แต่ปีนี้ร่วงไปแล้ว 15-20% เพราะเจอแรงกระแทกจาก EV ทำให้ราคาผิดปกติ ตอนนี้เต็นท์รถจากเดิมขายได้ 100% เหลือ 50% และทุกคนก็ไม่กล้าสต๊อกรถ

“รถประมูลปีเก่า ๆ เกิน 13 ปี ไม่มีราคาแล้ว อย่างของบริษัทก็มีการทำโปรโมชั่นให้เต็นท์ที่ประมูลไปเท่าไร่ จะได้รถอายุเกิน 13 ปีไปฟรี ๆ หรือบางครั้งก็ประมูลขายไปในราคาแค่ 2,000-5,000 บาท”

นายสิทธิศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 รถยึดล้นลานประมูล ส่วนหนึ่งมาจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่บวมมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ที่ประคองกันมา และเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว ทำให้หนี้ระเบิดออกมาให้เห็น สถาบันการเงินจึงชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่ สะท้อนผ่านอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น จากเดิมมีผู้กู้ 100 ราย ยอดอนุมัติอยู่ที่ 60 ราย ปัจจุบันเหลือเพียง 30-40 รายเท่านั้น