CHANG-AN วางกลยุทธ์ ดัน ‘ไทย’ เป็นฮับสู่เป้าหมาย 5 ล้านคัน

จู หัวหรง
จู หัวหรง
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลังจากเข้ามาเปิดตลาดในบ้านเราได้พักใหญ่ สำหรับค่ายรถยนต์สัญชาติจีนอย่าง ฉางอาน ออโตโมบิล (CHANG-AN) กับรถยนต์ไฟฟ้า 100% แบรนด์ดีพอล (DEEPAL) เป็นแบรนด์แรก ก่อนตามมาด้วย ลูมิน LUMIN และอวาตาร์ (AVATR)

ล่าสุด “จู หัวหรง” ประธานกรรมการบริหาร ฉางอาน ออโตโมบิล ประกาศความสำคัญกับประเทศไทย ในฐานะฐานการผลิต และโรงงานรถยนต์ CHANG-AN แห่งแรกนอกจีน ภายใต้งบประมาณการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท

และคาดว่าจากนี้จะมีการลงทุนต่อเนื่องฉางอานจะขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางใด ไปติดตามกัน

Q : มองจุดแข็ง-โอกาสของฉางอาน

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน ฉางอานมองเห็นโอกาสการเติบโต ซึ่งเรามีความมั่นใจว่าเรามีจุดแข็งสำคัญจากประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 163 ปี ที่สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผสานกับวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการเปลี่ยนแปลง (Transformation) และความรับผิดชอบในฐานะรัฐวิสาหกิจของจีน จะมีส่วนผสมผสานเพื่อให้เราสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างแข็งแกร่ง

Q : ความสำเร็จปีที่ผ่านมา

ปี 2567ฉางอานมียอดขายรวมอยู่ที่ 2.68 ล้านคัน โต 5.1% จากปี 2566 เมื่อลงรายละเอียดจะเห็นว่า สัดส่วนการขายของรถยนต์พลังงานใหม่มีจำนวนถึง 735,000 คัน โต 52.8%

ADVERTISMENT

ยิ่งทำให้ฉางอานมั่นใจว่าเป้าหมายที่เราวางไว้ว่าภายในปี 2573 จะมียอดขาย 5 ล้านคัน โดยที่ 3 ล้านคันของจำนวนดังกล่าวจะเป็นยานยนต์พลังงานใหม่

Q : โรงงานไทยมีส่วนสำคัญไปสู่เป้าหมายขาย 5 ล้านคัน

แน่นอนว่าโรงงานผลิตรถยนต์ จ.ระยอง ประเทศไทยถือเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นและความชัดเจน ที่ว่าบริษัทต้องการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในประเทศไทยและภูมิภาคนี้

โรงงานระยอง ถือเป็นโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกนอกจีนขอฉางอานถือเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา หลักสำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับโลก และสะท้อนความมุ่งมั่นในการลงทุนระยะยาวในไทย ทั้งยังสร้างงาน พัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (Localization) และการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ในประเทศ

โดยการลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ วันนี้เราเริ่มลงทุนระยะแรกคือลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย มูลค่าลงทุน 10,000 ล้านบาท และเรายังลงทุนในส่วนของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อีก 10,000 ล้านบาท ภายใต้กำลังผลิตเฟสแรก 100,000 คัน โดยประมาณ 30% ของการผลิตในไทยจะถูกส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ

นอกจากนี้ ในสเต็ปต่อไปก็จะมีการขยายกำลังการผลิต และจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา มีมูลค่าการลงทุนรวม 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตเป็น 200,000 คัน รองรับการผลิตทั้งรถยนต์ EV และ REEV และส่งออก

Q : ปั้นแบรนด์ AVATR และ DEEPAL

ไม่เฉพาะแต่ไทยเท่านั้น แต่ฉางอานยังให้ความสำคัญกับการทำตลาดทั่วโลกอย่างจริงจัง เพื่อให้ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา และยุโรป

อีก 3 ปีข้างหน้า ไทยจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ประมาณ 8 รุ่น และ12 รุ่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมดจะเป็นยานยนต์พลังงานใหม่

ส่วนแบรนด์ AVATR จะถูกวางตำแหน่งเป็นแบรนด์พรีเมี่ยมลักเซอรี่

ขณะที่ DEEPAL จะเน้นรถยนต์เทคโนโลยี ER-EV (REEV) ที่เรียกว่า “Super Range” เพื่อตอบโจทย์ความกังวลเรื่องระยะทาง พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายรุ่น

ฉางอาน จะใช้กลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาด ควบคู่กับการสร้างการรับรู้ในแบรนด์ โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี การออกแบบ และการบริการที่เป็นเลิศ

สุดท้ายไทยยังเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาคนี้ ที่มีศักยภาพสูง ทั้งการเป็นฐานการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีขณะนี้บริษัทไม่มีแผนสร้างโรงงานเพิ่มเติมในประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างชัดเจน

แต่ “จู หัวหรง” ยืนยันว่า หากมีโอกาส ก็พร้อมพิจารณา วันนี้โรงงานไทยกลายเป็นฮับการผลิตที่ฉางอานมุ่งหวังให้พัฒนาไปสู่การเป็นโรงงานที่มีความครบวงจรในระยะยาว