“เบนซ์” ลั่นยังไม่พร้อมขายรถอีวี หยุดขยาย “ออโต้เฮาส์” ส่ง 15 รุ่นปั๊มยอด

“เบนซ์” ย้ำชัดปี 2564 ยังไม่มีรถอีวีขาย แต่ประเทศไทยยังไงก็ต้องขึ้นไลน์ผลิต เร่งศึกษาแผนลงทุนบีโอไอทั้ง 2 แพ็กเกจ ลั่นชะลอขยายออโต้เฮาส์แบบ 3 เอส ลุยเพิ่มออโตไลต์เซอร์วิส แบบ 2 เอส รองรับลูกค้า เชื่อตลาดฟื้นตัวส่งรถใหม่และไมเนอร์เชนจ์ 15 รุ่นกู้ยอดปีนี้

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงความชัดเจนของแผนงานการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า ภายในปี 2564 จะยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่าย แต่การลงทุนพร้อมทั้งขึ้นไลน์ผลิตและทำตลาดในประเทศไทยยังอยู่ในนโยบายของบริษัท ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รองรับในอนาคต

นายโฟล์เกอร์กล่าวอีกว่า บริษัทได้หารือกับรัฐบาลและพาร์ตเนอร์มาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะระบบอินฟราสตรักเจอร์รองรับและยังต้องศึกษาแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนของบีโอไออันใหม่ด้วยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแพ็กเกจเดิมมากน้อยเพียงใด แต่ยืนยันว่าท้ายที่สุด เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต้องมีฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นคงไม่ใช้เงินลงทุนจำนวนมากไปกับโรงงานแบตเตอรี่ และนโยบายบริษัทแม่ก็ประกาศชัดเจนว่าภายในปี 2030 เมอร์เซเดส-เบนซ์ทั่วโลกจะมีสัดส่วนการขายรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถอีวี รวมกันสูงถึง 50% ของพอร์ต

“เราถือเป็นพันธสัญญากับคนไทยว่าจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอน แต่ปีนี้ยังโฟกัสไปที่รถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด เป็นหลัก”

ส่วนแผนทำตลาดในปีนี้ เตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และไมเนอร์เชนจ์มากกว่า 15 รุ่น ช่วงครึ่งปีแรกจะมี 5 รุ่น เช่น อี-คลาสใหม่, จีแอลเอ และซีแอลเอ เอเอ็มจี 35 เป็นต้น หลังจากปีที่ผ่านมาประสบปัญหาด้านซัพพลายเชน เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้แผนการเปิดตัวรถยนต์ช้าโดยเฉพาะเอ-คลาส และจีแอลเอล่าช้ากว่ากำหนด แต่ขณะนี้แก้ปัญหาได้หมดแล้ว บวกกับความร่วมมือของตัวแทนจำหน่าย เชื่อว่าจะสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างแน่นอน

นายพุทธิ ตุลยธัญ รองประธานบริหารฝ่ายบริการหลังการขาย กล่าวว่า บริษัทได้ปรับโมเดลการดำเนินธุรกิจงานบริการหลังการขายจากการจัดส่งอะไหล่รายสัปดาห์เป็นการจัดส่งรายวัน เพื่อลดสต๊อกให้กับดีลเลอร์ และเน้นขยายบริการวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 13 แห่งให้เพิ่มเป็นครบทุกแห่งทั่วประเทศ และปีที่ผ่านยังได้ขยายเวลาวอร์แรนตีในช่วงโควิด รวมถึงการนำเสนอ “Welcome Back Service Campaign” เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าด้วยส่วนลดและข้อเสนออื่น ๆ ส่งผลให้งานบริการหลังการขายเติบโตขึ้น ทั้งยอดขายน้ำมันเครื่องของเมอร์เซเดส-เบนซ์โต 14.4% ยอดการซ่อมสีตัวถังโตขึ้น 24.4% และยอดขายยางรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 260.8%

ขณะที่แผนการขยายดีลเลอร์เน็ตเวิร์กที่เป็นออโต้เฮาส์แบบ 3 เอส ซึ่งมีทั้งงานขาย บริการ และอะไหล่ บริษัทไม่มีนโยบายขยายเพิ่ม จากปัจจุบัน 30 ราย 40 โชว์รูม ซึ่งถือว่าเพียงพอ และช่วงหลังการขายรถออนไลน์เริ่มมีความชัดเจนขึ้นโดยจะหันไปเน้นศูนย์ออโตไลต์เซอร์วิสเซ็นเตอร์ แบบ 2 เอส ซึ่งมีเฉพาะเซอร์วิสและสแปร์พาร์ต จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ บางพลัด, ระยอง, ถนนสาย 345 ปีนี้จะเพิ่มเป็น 6 สาขา ได้แก่ อยุธยา, สุขุมวิท ส่วนอีกสาขาอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด และในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 7 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับผลงานปีที่ผ่านมา แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด เมอร์เซเดส-เบนซ์สามารถปิดยอดขายได้ตามเป้าหมาย 10,613 คัน ส่วนปีนี้คาดว่าหลังใช้วัคซีนก็น่าจะทำให้ยอดขายโดยรวมและตลาดรถหรูดีขึ้นอย่างแน่นอน ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัว อี-คลาส ใหม่ 3 รุ่น ทั้งเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร E 200 d AMG Sport และเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรปลั๊ก-อิน ไฮบริด E 300 e Avantgarde และ E 300 e AMG Dynamic ราคาเริ่มต้น 3.19 ล้านบาท

สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในตลาดโลกยังคงสามารถรักษายอดขายได้มากกว่า 2 ล้านคันติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ด้วยยอดขาย 2,528,349 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฮบริด 115,000 คันเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในหลาย ๆ ตลาด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง เฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิก สามารถทำยอดขายได้ถึง 1,024,315 คัน หรือเติบโตขึ้น 4.7% โดยมีตลาดจีนเป็นตลาดสำคัญในการขับเคลื่อน ด้วยยอดขายที่เติบโตขึ้นถึง 11.7% หรือ 774,382 คันซึ่งถือว่าเป็นสถิติใหม่