ค่ายรถปรับแนวรุกสู้โควิด ยื้อเป้า 8 แสนคัน/ชิ้นส่วนห่วงแรงงานขาด

ค่ายรถฮึดสู้โควิด ยันไม่ปรับเป้าขายทั้งปี ยืน 800,000 คัน แม้ 6 เดือนจะปั้นตัวเลขได้แค่ 3 แสนกว่าคัน ลั่นส่งรุ่นใหม่ทำตลาดพร้อมดึงแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วย ค่ายชิ้นส่วนฯปรับแผนขึ้นค่าแรงหวั่นขาดแคลนแรงงานกระทบการผลิต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงจากกรมการขนส่งทางบกในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา พบว่ามียอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ราว 300,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง จำนวน 307,454 คัน เพิ่งขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 298,166 คัน และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน จำนวน 6,792 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 9,758 คัน

ขณะที่เป้าหมายยอดขายรถยนต์ในปีนี้ ที่เกือบทุกค่ายรถยนต์มองว่าทั้งปีน่าจะทำได้ 800,000-900,000 คันเมื่อประเมินจากสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก เปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่เหลืออีก 6 เดือนหลัง ซึ่งประเมินจากปัจจัยรอบด้านทั้งภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจไปไม่ถึง

แหล่งข่าวระดับบริหารจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงยอดการจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในช่วงครึ่งปีแรกว่าทำได้ 42,715 คัน และบริษัทยังคงยืนยันเป้าหมายยอดขายที่มากกว่า 100,000 คันตามเป้าหมายเดิม หลังจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในครึ่งปีหลังดีขึ้น

พร้อมทั้งยังมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรถธงที่จะเข้ามากระตุ้นตลาดและสร้างยอดขายให้กับบริษัทหลังจากเพิ่งส่งรถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ แฮตช์แบ็ก ไฮบริดออกสู่ตลาดไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งพยายามสนับสนุนให้ผู้จำหน่ายได้ทำกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบออนไลน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะที่ปรึกษาการขายได้ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าที่ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป สำหรับกิจกรรมทดลองขับที่สามารถจองผ่านระบบออนไลน์ก็ยังเปิดให้บริการในบางจังหวัดที่สามารถทำได้

เช่นเดียวกับนายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยยอดขายรถยนต์ของซูซูกิในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมาขายได้ 10,645 คัน ลดลง 4% ซึ่งเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ซูซูกิยังคงยืนยันเป้าหมายยอดขายที่ 30,000 คันไว้เช่นเดิม ส่วนทั้งปีที่คาดกันว่าจะมียอดขายรวมที่ 800,000 คัน

เช่นเดียวกับนายรัฐการ จูตะเสน รองกรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกว่า แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ฟอร์ดยังมียอดขายโตจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาประมาณ 42% โดยมียอดขายรวมอยู่ที่ 16,330 คัน ถือเป็นแบรนด์รถยนต์ที่สามารถกลับมาเติบโตได้ดีที่สุดในอุตสาหกรรมจากตลาดรวมที่มีการเติบโตเฉลี่ยที่ 14% และฟอร์ดยังได้นำกลยุทธ์ด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาใช้สื่อสารกับผู้บริโภค

ด้านนายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมฯได้ออกมาประกาศว่าผลิตไปแล้ว 710,000 คัน คิดเป็น 47% ของยอดประมาณการทั้งปี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน 33% โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจะมากกว่าใช้ในประเทศ

ส่วนแนวโน้มในครึ่งปีหลังน่าจะมีการผลิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และยอดขายรถยนต์ที่ 800,000 คันนั้นก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าประเทศไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

ไม่ต่างจากแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เนื่องจากสถานการณ์การผลิตรถยนต์ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดจะส่งผลกระทบและอาจส่งผลให้กลายเป็นปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องเพิ่มมาตรการความเข้มข้นอย่างสูงสุดในการเฝ้าระวัง และมีโรงงานบางแห่งได้ ตัดสินใจเพิ่มค่าแรงและค่าครองชีพให้กับพนักงานเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานบนสถานการณ์เช่นนี้ บางโรงงานให้มากกว่าค่าแรงขึ้นต่ำและบางแห่งมีค่าขยันเพิ่มให้ถึง 600 บาท