โควิดทุบรถเช่า-รถทัวร์-แท็กซี่หัวทิ่ม แบงก์ชาติจี้ลีสซิ่งพักชำระหนี้

Taxi จอดทิง-covid-19-Lockdown
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

โควิดทุบ “รถเช่า-แท็กซี่-รถทัวร์” ตายสนิทจอดทิ้งเป็นสุสาน บางรายปล่อยยึดขายทอดตลาด “แบงก์ชาติ-สมาคมเช่าซื้อ-กระทรวงยุติธรรม” ช่วยไกล่เกลี่ย เผยตัวเลขเช่าซื้อทะลุ 2.2 ล้านล้าน สหกรณ์ถอดใจวิกฤตแรงกว่าที่คิด ถอดชิ้นส่วนขายเป็นเศษเหล็ก เปิดเบื้องลึก “สหกรณ์บวร” ทิ้งรถหลายพันคัน “โตโยต้า ลีสซิ่ง” ระงม

จากกรณีธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจอื่น ทั้งรถเช่า, รถทัวร์รับท่องเที่ยว และรถแท็กซี่ จนกลายเป็นกระแสข่าวผู้ประกอบการออกมาขอความช่วยเหลือ เยียวยา พักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย บางรายก็ตัดสินใจปิดกิจการปล่อยรถยึดหรือจอดทิ้งเป็นสุสาน

เร่งประนอมหนี้ช่วยแท็กซี่-รถตู้

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตัวแทนสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กระทรวงยุติธรรมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวแทนธนาคารพาณิชย์ ตัวแทนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ตัวแทนจากกลุ่มแท็กซี่และรถตู้ ได้ร่วมหารือเพื่อหาทางออกในการช่วยเหลือประนีประนอมกับลูกค้ากลุ่มแท็กซี่และรถตู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

โดยสมาชิกสมาคมแต่ละรายจะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แตกต่างกันไปแต่พร้อมให้การช่วยเหลือเต็มที่ รวมถึงโครงการล่าสุดที่ร่วมกับ ธปท.ไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อ ซึ่งมีกลุ่มรถแท็กซี่รวมอยู่ด้วย โดยจะพยายามไม่ยึดรถ เพื่อให้สามารถนำรถไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น

Photo by AFP

เผยยอดเช่าซื้อทะลุ 2.2 ล้านล้าน

นายบุญหนา จงถิ่นสุวรรณ ผู้จัดการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน โดยพอร์ตธุรกิจเช่าซื้อของสมาชิกสมาคมมีทั้งสิ้นราว 2.2 ล้านล้านบาท จากจำนวนสมาชิก 40 บริษัท

โดยในจำนวนดังกล่าวที่ได้ขอรับความช่วยเหลือประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 47% ของพอร์ตธุรกิจ ทั้งนี้ ในจำนวนพอร์ตที่ขอได้รับความช่วยเหลือมีประมาณ 30% ที่กลับมาชำระหนี้ได้บ้าง

และอีก 70% ยังขอความช่วยเหลือต่อเนื่อง หรือคิดเป็นพอร์ตสินเชื่อราว 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมีกลุ่มรถแท็กซี่รวมอยู่ด้วย

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการตลาดและบริหารความสัมพันธ์สินเชื่อยานยนต์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้พักชำระหนี้ให้ 3 เดือน และหลังจากนั้นผ่อนชำระเป็นขั้นบันได เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ระยะยาวให้กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว

ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มรถเชิงพาณิชย์ แท็กซี่และรถตู้ที่เข้ารับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้มีอยู่ราว 50-60% ของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่มีค่อนข้างน้อยประมาณ 1% จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมดอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท โดยส่วนที่เหลืออีก 40-50% ยังคงสามารถชำระเป็นปกติ

นายโกวิท รุ่งวัฒนโสภณ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง กล่าวว่า สถานการณ์ลูกค้าเช่าซื้อในกลุ่มรถแท็กซี่และสหกรณ์แท็กซี่ รวมถึงรถประจำทาง-รถบัสที่วิ่งอยู่ตามสนามบินได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างมาก

ประมาณ 90% ของลูกค้ากลุ่มเหล่านี้ได้เข้ามาขอความช่วยเหลือยืดอายุการชำระหนี้ และพักชำระหนี้ 3 เดือน โดยเป็นการพักเงินต้น และหากครบกำหนดยังชำระไม่ไหวจะขยายต่ออีก 3 เดือน

หรือลูกค้าจะเข้าโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระแสเงินสด (cash flow) ของลูกค้าแต่ละราย ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อกลุ่มรถแท็กชี่ประมาณ 300-400 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1%

ส่วนกลุ่มรถประจำทางและรถบัสที่ให้บริการในสนามบินปัจจุบันมีพอร์ตประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างพักชำระหนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากสนามบินปิดให้บริการ จึงไม่มีลูกค้า

ซึ่งต้องรอจากสนามบินเปิดจึงน่าจะกลับมาได้ ขณะที่กลุ่มรถบรรทุก 6 ล้อ และ 10 ล้อ ซึ่งเป็นพอร์ตลูกค้าหลักของบริษัท ได้รับผลกระทบเล็กน้อย โดยกลุ่มรถบรรทุกที่เข้าโครงการพักชำระหนี้มีประมาณ 4-5% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 2,000-3,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้ยังไม่ถูกจัดชั้นหนี้เป็นหนี้ทีไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเป็นค้างชำระไม่เกิน 90 วัน

สหกรณ์บวรแท็กซี่จอดทิ้งพันคัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากกรณีนายฐาปกรณ์ อัศวเลิศกุล ที่ปรึกษาสหกรณ์บวรแท็กซี่และราชพฤกษ์แท็กซี่ เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดเกือบ 2 ปีเต็ม สมาชิกนำทิ้งรถมาทิ้งไว้บริเวณอ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และที่อื่นเป็นพันคัน อยากให้ภาครัฐและผู้บริหารไฟแนนซ์ลงมาทางช่วยเหลือ และส่วนใหญ่แท็กซี่เกือบทั้งหมด เป็นรถยนต์โตโยต้า อัลติส ทำสินเชื่อกับโตโยต้า ลีสซิ่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังทีมผู้บริหารของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทั้งสองส่วนงานกล่าวว่า ประเด็นนี้มีความซับซ้อนและบริษัทกำลังให้ทีมกฎหมายพิจารณาในรายละเอียด คาดว่าอีกสักพักน่าจะให้คำตอบได้

ขณะที่ผู้ประกอบการแท็กซี่รายใหญ่ยอมรับว่า เจ้าของสหกรณ์บางรายทำตัวเป็นลีสซิ่งอีกทอด ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับสมาชิกหรือบุคคลทั่วไป อาจมีการชำระเป็นเงินก้อนบ้างแบบเดียวกับเงินดาวน์แล้วให้ผ่อนชำระเป็นรายวัน

เช่นวันละ 500-700 บาท จนกว่าจะหมดแล้วได้สิทธิ์เป็นเจ้าของรถ ซึ่งสหกรณ์ก็ได้กินส่วนต่างพอเป็นกำไร แม้ระยะจะมีการปรับลดค่าเช่า จากวันละ 700-800 บาท เหลือเพียง 200-300 บาท ก็ยังหาคนไม่ได้

“อย่างอู่ของผมยอมรับว่า รายได้หายไปเลยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็ใช้วิธีปรับตัวลดราคาค่าเช่า”

รถนำเที่ยวหั่นขายเป็นเศษเหล็ก

นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนวิกฤตโควิดมีรถบัสประมาณ 40,000 คัน ปัจจุบันมีถึง 75% จอดนิ่งมานานกว่าปีแล้ว

ในจำนวนนี้มากกว่า 50% ทั้งเจ้าของและคนขับตัดสินใจทิ้งธุรกิจทิ้งรถไปทำมาหากินอย่างอื่นแล้ว เชื่อว่าธุรกิจจะไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งได้

“ภาพรวมตอนนี้ยังเหลือเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสถาบันการเงินสนับสนุนอยู่เท่านั้น แต่ก็อยู่ในภาวะย่ำแย่ ซึ่งเชื่อว่าหากธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่กลับมาในช่วงต้นปีหน้า กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เหล่านี้ก็น่าจะรอดยากเช่นกัน ส่วนผู้ประกอบการายเล็กและรายย่อย ๆ ที่มีไม่มาก ตอนนี้ยอมตัดรถขายเป็นเศษเหล็ก หรือถอดชิ้นส่วนขาย เพราะขายเป็นคันไม่มีคนซื้อ” นายวสุเชษฐ์กล่าว


สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ มีรถบัสตั้งแต่ 100 คันขึ้นไป มีสัดส่วนประมาณ 20% 2.ผู้ประกอบการขนาดกลาง มีรถตั้งแต่ 20-100 คัน มีสัดส่วนประมาณ 40% และ 3.ผู้ประกอบการรายย่อย มีรถตั้งแต่ 1 คัน แต่ไม่เกิน 20 คัน มีสัดส่วนประมาณ 40%