2018 ปีแห่งรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่ค่ายรถยนต์ทั่วโลกเริ่มหันหลังหนีจาก “น้ำมัน” ออกนโยบายให้สอดรับกับ “โลกร้อน” ด้วยการปรับแผนการผลิตรถยนต์ มุ่งสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (electric vehicles : EV) โดยปี 2018 น่าจะเรียกว่าเป็นการก้าวสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า เมื่อหลายค่ายเริ่มเดินหน้าเปิดตัวโมเดลรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ

ขณะที่รัฐบาลในหลายประเทศก็เริ่มให้ความสนใจกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะการอัดงบประมาณสำหรับติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า และการพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

มูฟเมนต์ค่ายรถชั้นนำ

ที่ผ่านมาจะเห็นค่ายรถยนต์จำนวนมากเริ่มขับเคลื่อนเป้าหมายจับตลาดรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งประเทศเป้าหมายหลักในการลงทุนโรงงานผลิต คือ “ประเทศจีน” ซึ่ง “ฟอร์ด” เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ประกาศร่วมทุนกับค่ายรถของจีน

โดยฟอร์ดระบุว่า ได้บรรลุข้อตกลงการร่วมลงทุนมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์ กับบริษัท Anhui Zotye Automobile ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน พร้อมตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 50 คันแรก เพื่อป้อนตลาดโลก ในปี 2025

ขณะที่ “เทสล่า” ผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันยืนยันว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลจีน ในการเปิดโรงงานในนครเซี่ยงไฮ้ โดยเป็นการลงทุนรายเดียว ไม่ใช่ joint venture ซึ่งจะเน้นที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อป้อนตลาดโลก

โรงงานแห่งนี้จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งที่สองของเทสล่า โดยก่อนหน้านี้ฐานการผลิตของเทสล่าทั้งหมดอยู่ในสหรัฐอเมริกาโดยมีเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของเทสล่าที่ต้องการผลิตเพิ่มเป็น 500,000 คันต่อปี หรือ 6 เท่าตัวจากปัจจุบัน เพื่อเจาะตลาดยุโรปและเอเชีย เป็นเหตุผลที่ทำให้เทสล่า จำเป็นต้องเปิดโรงงานในต่างแดนเพิ่ม

นอกจากนี้ยังมี บริษัท “เดมเลอร์ เอจี” ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนี ประกาศจับมือกับบริษัทร่วมทุนของจีน BAIC Motor Corporation ในการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน มูลค่าสูงถึง 735 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์จะเป็นผู้รับหน้าที่ศึกษาโอกาสของตลาดภายใต้แบรนด์ BBAC หรือ Beijing Benz Automotive Co.

จีนเปิดหลักสูตรรับอุตฯ EV

มุมมองที่ค่ายรถยนต์ชั้นนำมองว่า ประเทศจีนเหมาะสมที่จะเป็น “ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า” เนื่องจากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนถือว่าเติบโตมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ติดต่อกันสองปีซ้อนหลังจากรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เกี่ยวกับนโยบายที่ช่วยลดภาวะมลพิษที่เกิดขึ้น จากปัจจุบันจีนมีรถอีวีวิ่งอยู่ในประเทศกว่า 402,000 คันและคาดว่าในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคัน

กระแสการไหลบ่าของแบรนด์ข้ามชาติที่แห่มาเปิดโรงงานในจีน นักวิเคราะห์ของไชน่าเดลีระบุว่า เป็นความได้เปรียบของจีนในการสร้างงานให้กับแรงงานในประเทศ จากเดิมที่หลายอุตสาหกรรมหนีออกนอกประเทศ เนื่องด้วยค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเตรียมบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเพิ่มความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตรถอีวี และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของหนุ่มสาวชาวจีน

รับกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยจะเป็นการนำร่องเปิดหลักสูตรในสถาบันอาชีวะด้านยานยนต์ในเมืองอุตสาหกรรม เช่น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง โดยคาดว่าหากสำเร็จจะสามารถผลิตบุคลากรเฉพาะด้านได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถชดเชยกลุ่มแรงงานมีทักษะที่ย้ายออกนอกประเทศได้

4 โมเดลรถอีวีบุกตลาด

นอกจากนี้ เว็บไซต์กรีน คาร์ รีพอร์ต ยังรายงานว่า ในปี 2018-2019 คาดว่าจะมีโมเดลรถอีวีใหม่ออกทำตลาดอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 4 โมเดลประกอบด้วย “นิสสัน ลีฟ” รถยนต์ไฟฟ้า 200 ไมล์ ราคาไม่แพง ที่ตั้งเป้าจะเปิดตัวใน 50 ประเทศทั่วโลกในต้นปี 2018 หลังเปิดตัวนำร่องไปก่อนที่ประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว

ต่อด้วยรถยนต์ไฟฟ้าอีกหนึ่งแบรนด์ที่ขยับฟังก์ชั่นสูงอีกนิด อย่าง “เทสล่า โมเดล 3” ที่วิ่งไกลระยะ 215 ไมล์ จากการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์รองรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และซูเปอร์ชาร์จ เพื่อการชาร์จไฟฟ้าที่รวดเร็ว ด้วยระดับราคาเริ่มต้นที่ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดย “อีลอน มัสค์” ซีอีโอของเทสล่าระบุว่า รถอีวีของเทสล่าเริ่มบุกตลาดอเมริกาตั้งแต่ปี 2016 และจะครองส่วนแบ่งตลาดในหลายประเทศตามเป้าในช่วงปลายปี 2018

ขณะที่แบรนด์รถหรูสัญชาติเยอรมนี เตรียมเปิดตัว “ออดี้ อี-ตรอน” (Audi e-tron) ในปี 2019 ที่สามารถขับเคลื่อนระยะทางราว 311 ไมล์ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง จากแบตเตอรีลิเธียม-ไอออน มีความจุ 95 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ดร.ดีทมาร์ ว็อกเจนเรเทอร์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายขาย ออดี้ เอจี กล่าวว่า จีนถือเป็นตลาดรถอีวีที่น่าสนใจที่สุด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตตลาดรถอีวีจะเติบโตและแพร่หลายมากเมื่อมีการขยายสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าอย่างทั่วถึง

สำหรับ “บีเอ็มดับเบิลยู” อีกหนึ่งแบรนด์หรูจากเยอรมนีก็มีแผนจะเปิดตัวและวางจำหน่ายโมเดล “บีเอ็มดับเบิลยูไอ 5” ในปี 2019 ซึ่งเป็นการลดช่องว่างของรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก “บีเอ็มดับเบิลยู ไอ 3” ที่เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้ากับ “บีเอ็มดับเบิลยู ไฮบริด ไอ 8” ที่เป็นรุ่นปลั๊ก-อิน ไฮบริด โดยคาดว่าระยะวิ่งจะอยู่ที่ 200-250 ไมล์ต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย ๆ แบรนด์ที่ประกาศจะบุกตลาดอีวีในปี 2020-2030 โดยต้องการใช้เวลาศึกษาและทดลองรถยนต์ไฟฟ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ “โตโยต้า” เพิ่งจับมือทดสอบสมรรถนะของรถอีวีร่วมกับ “พานาโซนิค” ในระหว่างที่ร่วมกันพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ชื่อว่า “Prismatic Cells” โดยตั้งเป้าว่าปี 2020 จะสร้างโมเดลมากกว่า 10 รุ่น และออกสู่ตลาดจริงในปี 2030 ซึ่งเดอะวอลล์สตรีต เจอร์นัลมองว่า หากโตโยต้าทำสำเร็จ จะทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทันที โดยวัดจากการผลิตรถยนต์ไฮบริด-ไฮโดรเจนที่ป้อนตลาดเป็นแบรนด์ท็อป ๆ ของโลก

ส่วน “ฮุนได” ก็เพิ่งยืนยันเมื่อไม่นานว่าเตรียมจะเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกภายใต้แบรนด์หรู “เจเนซิส” โดยคาดว่าจะเปิดตัวในปี 2019 และรุ่นที่สองในปี 2021 โดยทั้งสองรุ่นจะมีระยะวิ่งประมาณ 200 ไมล์ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

ขณะที่ “เชฟโรเลต” เตรียมเปิดตัว “เชฟโรเลต อีวี ครอสโอเวอร์” เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดโลกเช่นกัน มีการคาดการณ์ว่าจะเปิดตัวอยู่ที่ 2 รุ่น ภายในปี 2020-2021 และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานเดียวกับ “เชฟโรเลต โบลต์” รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่งเปิดตัวไปในปี 2560 ที่ผ่านมา และกำลังเป็นที่นิยม

อัดงบฯสร้างสถานีชาร์จไฟ

ทั่วโลกพยายามปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะเห็นว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศทุ่มงบประมาณสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า และกลายเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาแห่งชาติที่สำคัญ เช่น สำนักงานพลังงานแห่งชาติจีนระบุว่า ปัจจุบันทั่วประเทศจีนได้สร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า 171,000 แห่ง และกำลังเร่งสร้างสถานีชาร์จไฟประเภทชาร์จได้เร็วบนทางด่วนระหว่างเมือง รวมถึงการชาร์จไฟบนทางหลวง 14,500 ครั้ง โดยมีปริมาณการชาร์จไฟฟ้ามากถึง 123,100 กิโลวัตต์ เพิ่มขึ้น 315% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และภายในปี 2018 รัฐบาลจีนตั้งงบฯก่อสร้างสถานีประจุไฟเพิ่มอีก 100,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น

ขณะที่ “อินเดีย” รัฐบาลเปิดรับกว้างจากนโยบายปรับท้องถนนสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในปี 2030 ดังนั้นแผนการก่อสร้างสถานีประจุไฟจึงเปิดรับอย่างเต็มที่ ปัจจุบัน ABB ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวีชั้นนำของโลก และเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานให้ก่อสร้างจำนวนมากที่สุดในอินเดีย เปิดเผยถึงแผนการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟ 4,500 แห่งภายในปี 2020 ด้วย

ส่วนฝั่งยุโรป จะเห็นว่าก่อนหน้านี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป 4 แห่ง ได้แก่ ฟอร์ด, เดมเลอร์, โฟล์คสวาเกน และบีเอ็มดับเบิลยู จับมือสร้างเครือข่าย

ภาคี “Ionity” เตรียมติดตั้งสถานีชาร์จไฟ

สำหรับรถอีวี ในอนาคตทั่วยุโรปตั้งเป้า 400 แห่งในปี 2020 ซึ่งปัจจุบันมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งไปแล้วทั้งหมด 20 แห่ง ในประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และนอร์เวย์ โดยติดตั้งในทุก ๆ ระยะ 120 กิโลเมตร ขณะที่เทสล่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากอเมริกาที่เดินหน้าติดตั้งสถานีชาร์จไฟไปแล้วมากกว่า 7,000 แห่งทั่วโลก


แม้แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ให้ความสำคัญกับการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย รัฐบาลดูไบมีแผนการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟเพิ่มเติมใน “ดูไบ” ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและมีจำนวนผู้ใช้รถยนต์มากที่สุด จำนวน 100 สถานี ภายในปี 2018 จากเดิมที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 100 แห่ง