คิดให้ดีก่อน ฟื้นเหมืองโปแตชชัยภูมิ

เหมืองแร่โพแทช
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรระคบุตร

โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน กำลังได้รับการผลักดันให้กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2564 จากปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จนถึงขั้นที่จะเลิกบริษัท โดยการดำเนินงานที่ “ลุ่ม ๆ ดอน ๆ” ของบริษัทล้วนเกี่ยวข้องกับการหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ที่ยังสนใจที่จะขุดแร่โพแทชขึ้นมา ภายใต้ความเชื่อที่ว่า จะคุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งจากราคาแร่ และการนำแร่ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเพิ่มทุนเพื่อชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนแรกของสัดส่วนกระทรวงการคลังจำนวน 90 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่กระทรวงการคลังเห็นว่า เป็นส่วนที่ “จำเป็น” และมีความเหมาะสม โดยที่กระทรวงการคลังยังคงสิทธิในการเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 20 ตาม basic agreement ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมอาเซียนที่ถูกริเริ่มขึ้นมาในปี 2523 ได้

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่จะเพิ่มทุนในส่วนแรกในวงเงินแค่ 90 ล้านบาทนั้น นับว่ายังน้อยกว่าข้อเสนอของบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ ที่ประมาณการเฉพาะในไตรมาส 1/2566 จะเรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนเริ่มต้นที่จำนวนเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนของกระทรวงการคลังประมาณ 300 ล้านบาท

โดยกระทรวงการคลังเห็นว่า เงินจำนวน 90 ล้านบาทจะถูกนำไปใช้จ่ายในการ “ทบทวนการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมือง” เป็นอันดับแรกว่า มีความเหมาะสมและคุ้มค่าของโครงการหรือไม่ “มากกว่า” ที่จะลงทุนไปกับการเปิดทำเหมืองอย่างจริงจังตามข้อเสนอของบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ

ทั้งนี้ บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ ได้ยื่นขอประทานบัตรในเดือนตุลาคม 2547 และได้รับอนุญาตประทานบัตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในเนื้อที่ 9,708 ไร่ โดยจะดำเนินการทำเหมืองด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับค้ำยัน (room and pillar) มีปริมาณผลผลิตตลอดโครงการประมาณ 17.33 ล้านตัน แต่จะมี “เกลือหิน” จากการทำเหมืองเกิดขึ้นอีก 7.7 ล้านตันติดมาด้วย แต่ปรากฏผลการดำเนินการทำเหมืองไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ในอดีตที่ผ่านมา โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือ feasibility study จำนวน 2 ครั้ง กล่าวคือ ในปี 2538 บริษัท Jacobs Solutions Inc. (เดิมชื่อบริษัท Jacobs Engineering Group Inc.) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพบว่า อัตราผลตอบแทนของโครงการ (internal rate of return : IRR) เท่ากับร้อยละ 12.2 กับปี 2562 บริษัท ERCOSPLAN ประเทศเยอรมนี ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพบว่า IRR ของโครงการเท่ากับร้อยละ 12.1

แต่ผลการศึกษาของทั้ง 2 บริษัทกลับมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งได้ส่งผลต่อการดำเนินการหาผู้ร่วมทุนอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการดำเนินการทำเหมือง เทคโนโลยีในการผลิตแร่ ราคาแร่ ราคาปุ๋ย และต้นทุนในการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกลือหิน

จึงมีความจำเป็นที่กระทรวงการคลัง ในฐานะประเทศเจ้าของโครงการที่ต้องร่วมทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดเงินลงทุนทั้งหมด (เป็นเงินลงทุนในสัดส่วนของรัฐบาลไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 20 ของยอดเงินลงทุน ส่วนอีกร้อยละ 40 จะมาจากผู้ร่วมลงทุนนอกเหนือจากรัฐบาล) จะต้องแน่ใจได้ว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนในยุคสมัยปัจจุบัน ที่แร่โพแทชสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตภาคอุตสาหกรรมนอกเหนือไปจากการนำไปทำเป็น “แม่ปุ๋ย” จะมีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการต่อไปภายใต้เทคโนโลยีในการขุดแร่และการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองหรือไม่