ฟื้นเหมืองโปแตชชัยภูมิทุนใหม่ต่อยอดแบตอีวี

เหมืองแร่โปแตช

คืนชีพเหมืองโปแตชชัยภูมิ ยักษ์พลังงานสนใจร่วมลงทุน หวังต่อยอดผลิตแบตเตอรี่รถอีวี หลังศึกษาพบ “แร่โพแทช” ผลิตแบตชนิดโพแทสเซียมไอออนได้ ไม่ต้องพึ่งนำเข้า “ลิเทียม” ราคาแพง รอคลังเรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุน พร้อมเดินหน้าโครงการเหมืองตลอดอายุประทานบัตรที่เหลือ 16 ปี

การพลิกฟื้นโครงการเหมืองแร่โปแตชที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ได้กลับเข้ามาอีกครั้ง หลังจากที่ กระทรวงการคลัง โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทมีแผนที่จะเรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเปิดดำเนินการทำเหมืองต่อ หลังจากที่บริษัทต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

19 ปีเหมืองโปแตชชัยภูมิ

โครงการทำเหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดชัยภูมิ ถูกริเริ่มขึ้นจากข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน กำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการร่วมลงมุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดเงินลงทุน โดยมีสัดส่วนที่เป็นเงินลงทุนจากรัฐบาลเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 20 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 เป็นเงินลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอโครงการทำเหมืองแร่โปแตชที่ อ.บำเหน็จณรงค์ ในปี 2532

บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ได้ยื่นขอประทานบัตรในเดือนตุลาคม 2547 และได้รับอนุญาตประทานบัตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในเนื้อที่ 9,708 ไร่ โดยจะดำเนินการทำเหมืองด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับค้ำยัน (room and pillar) และแจ้งแผนการแต่งแร่ด้วยวิธีการละลานด้วยความร้อนและตกผลึก พร้อมคาดการณ์ปริมาณสำรองแร่โพแทชชนิดคาร์นัลลิไทท์ (KCl.NaCI.MgCl2 6H2O) ประมาณ 429 ล้านตัน หรือมีปริมาณ KCI ประมาณ 67.7 ล้านตัน มีแผนการผลิต 1.1 ล้านตัน/ปี ปริมาณผลผลิตตลอดโครงการประมาณ 17.33 ล้านตัน

บริษัทได้จัดทำแผนการดำเนินการทำเหมือง กำหนดแผนการลงทุนในอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 70 : 30 แบ่งเป็นส่วนของทุนประมาณร้อยละ 30 และเงินกู้ร้อยละ 70 มีระยะเวลาการดำเนินโครงการประมาณ 3 ปี ภายหลังก่อสร้างเหมืองเสร็จแล้ว บริษัทคาดการณ์จะสามารถขุดแร่โพแทชในปีแรกได้ในปริมาณ 596,000 ตัน และในปี 2563 จะขุดแร่ได้เต็มกำลังการผลิตที่ 1.235 ล้านตัน/ปี แต่ปรากฏผลการดำเนินการทำเหมืองไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยในปี 2564 บริษัทประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานได้

ประกอบกับมีการเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนนำไปสู่การเตรียมการที่จะเลิกบริษัท แต่ในเดือนสิงหาคมปี 2565 บริษัทแจ้งว่า มีนักลงทุนรายใหม่จำนวน 2 รายสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียน ดังนั้นบริษัทจึงวางแผนที่จะเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเพื่อที่จะดำเนินโครงการต่อไป และมีเงินทุนในการจ้างที่ปรึกษา โดยสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียน และรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณในโครงการนี้ประมาณ 4,000 ล้านบาท

อ้างทดแทนการนำเข้าแม่ปุ๋ย

มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเข้ามาว่า จากการหารือกับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ แจ้งว่า โครงการจะมีกำลังการผลิตแร่โพแทชประมาณ 1.235 ล้านตัน/ปี ใช้เวลาพัฒนาโครงการ 3 ปี และสามารถผลิตแร่ได้ประมาณ 13.5 ปี (สิ้นสุดประทานบัตรวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2583) พร้อมกับแจ้งเหตุผลสำคัญของการทำเหมืองแร่โปแตชอีกด้วยว่า จะสามารถทดแทนการนำเข้า “แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม” จากต่างประเทศได้ทั้งหมดถึงประมาณ 700,000-800,000 ตัน และยังช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยโพแทสเซียมในราคาที่ถูกลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-30

อย่างไรก็ตาม บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ได้ประมาณการเงินลงทุนในช่วงระหว่างการก่อสร้างอยู่ที่ 63,800 ล้านบาท ประมาณการอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (IRR) ที่ร้อยละ 15.42 และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 11,888 ล้านบาท โดยสมมุติฐานรายได้ของโครงการใช้ราคาปุ๋ยโพแทสเซียมจากราคาตลาดโลก รวมค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และค่า premium (free on board Vancouver) อยู่ที่ 612 เหรียญ/ตันจนถึงปี 2571 ต่อจากนั้นปรับลดเป็น 450-514 เหรียญ/ตันจนถึงปี 2582 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัมปทาน

“บริษัทจะต้องใช้แหล่งเงินทุนจากส่วนทุนร้อยละ 30 เป็นเงิน 19,132 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นส่วนของกระทรวงการคลังในสัดส่วนร้อยละ 20 คิดเป็นเงินประมาณ 3,826 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน และเฉพาะไตรมาส 1/2566 บริษัทจะเรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุน เริ่มต้นจำนวนประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนของกระทรวงการคลังที่จะต้องจ่ายประมาณ 300 ล้านบาท

โดยเงินจำนวน 1,500 ล้านบาทนี้จะใช้ชำระหนี้สินของบริษัทบางส่วน และใช้เป็นเงินหมุนเวียนเพื่อดำเนินการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายดำเนินการ (SG&A) จำนวน 413 ล้านบาท และส่วนอื่น ๆ อีก 1,087 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเห็นว่า ที่ผ่านมาบริษัท เหมืองแร่โปแตชชัยภูมิ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง การเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนและการหาผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการในสัดส่วนของรัฐบาลไทยก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ร่วมลงทุนไม่พร้อมที่จะยืนยันการเข้าร่วมทุนจากประเด็นสำคัญ คือ 1) การยืนยันปริมาณสำรองแร่และแผนการทำเหมืองแร่ 2) การจัดทำ bankable feasibility 3) การสรุปเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ และ 4) การมีนักลงทุนที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจเหมืองแร่โปแตชเข้าร่วมทุน

“ดังนั้นหากบริษัทจะเรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนเริ่มต้น (1,500 ล้านบาท) กระทรวงการคลังจะพิจารณาเฉพาะในส่วนที่จำเป็นและเหมาะสม แต่ยังคงสงวนสิทธิ์ในการเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 20 อยู่”

ต่อยอดแบตเตอรี่ EV

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากวงการค้าหุ้นเข้ามาว่า ข้ออ้างที่จะทำการฟื้น โครงการเหมืองโปแตชชัยภูมิ จากการผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศนั้น เป็นช่วงจังหวะที่ราคาแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศมีราคาแพง อันเนื่องมาจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับราคาแม่ปุ๋ยมีขึ้น-ลงตลอด ไม่ใช้ราคา fix ถาวร แต่การทำเหมืองโปแตชต้องใช้เวลาอีก 16 ปีถึงจะสิ้นอายุสัมปทาน จึงนับเป็นความเสี่ยง หากราคาปุ่ยโพแทสเซียมไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการใช้แร่โพแทช และในระยะเวลาเดียวกันของอายุสัมปทานก็ยังมีการเปิดเหมืองโปแตชรายใหม่ ๆขึ้นมาในประเทศอีก

“ขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนทางด้านพลังงานสนใจที่จะเข้ามาร่วมทุนในโครงการเหมืองแร่โปแตชที่ชัยภูมิ โดยผู้สนใจที่จะเข้ามาร่วมทุนไม่ได้มองไปถึงการผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม แต่มองว่า ต้องการที่จะนำแร่โพแทชไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและปัญหาด้านวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด

จนพบว่า มีวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเทียมและมีศักยภาพนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โดยสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ได้ เป็นแบตเตอรี่ชนิดโพแทสเซียมไอออนและโซเดียมไอออน สามารถนำมาต่อยอดโรงงานแบตเตอรี่รถ EV ได้”

ขณะนี้กลุ่มนักลงทุนด้านพลังงาน กำลังรอความชัดเจนในการเจรจาเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นในบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ และยังต้องการความมั่นใจจากกระทรวงการคลังในฐานะรัฐบาลเจ้าของโครงการที่ถือหุ้นร้อยละ 20 อยู่ด้วย

25 ผู้ถือหุ้นโปแตชชัยภูมิ

สำหรับผู้ถือหุ้นปัจจุบันของบริษัท ประกอบไปด้วย ทีอาร์ซี อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด (สัญชาติมอริเชียส) จำนวน 6.3 ล้านหุ้น มูลค่า 630 ล้านบาท (22.4535%), กระทรวงการคลัง (สัญชาติไทย) จำนวน 5.61 ล้านหุ้น มูลค่า 561.16 ล้านบาท (20.0%), บริษัท ไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 5.25 ล้านหุ้น มูลค่า 525.35 ล้านบาท (18.7236%), พี ที พีโทรคีเมีย กรีชิค (เพอซีโร) (สัญชาติอินโดนีเซีย) จำนวน 1.67 ล้านหุ้น มูลค่า 167.31 ล้านบาท (5.9630%),

มินิสเตอร์ ออฟ ไฟแนนซ์ (อินคอร์ปอเรชั่น) (สัญชาติมาเลเซีย) จำนวน 1.67 ล้านหุ้น มูลค่า 167.31 ล้านบาท (5.9630%), บริษัท เอส กรุ๊ป เออีซี (ประเทศไทย) จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 1.58 ล้านหุ้น มูลค่า 158.57 ล้านบาท (5.6514% , เทอร์มอล เทรด แอนด์ อินเวสเม้นท์ ลิมิเต็ด (สัญชาติหมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ)) จำนวน 1.16 ล้านหุ้น มูลค่า 116.01 ล้านบาท (4.1347%)

บริษัท ทีอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สัญชาติฮ่องกง) จำนวน 750,000 หุ้น มูลค่า 75 ล้านบาท (2.6730%), นางศิริกาญจน์ ศักดิเดชภาณุพันธ์ ณ อยุธยา (สัญชาติไทย) จำนวน 350,000 หุ้น มูลค่า 35 ล้านบาท (1.2474%), บริษัท สามลม จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 330,700 หุ้น มูลค่า 33.07 ล้านบาท (1.1786%), บริษัท อาซาฮีกลาส จำกัด (สัญชาติญี่ปุ่น) จำนวน 313,170 หุ้น มูลค่า 31.32 ล้านบาท (1.1162%),

บริษัท รวยชัย อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 300,000 หุ้น มูลค่า 30 ล้านบาท (1.0692%), บริษัท พีพีเจ จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 297,061 หุ้น มูลค่า 29.71 ล้านบาท (1.0587%), นางศัลยา จารุจินดา (สัญชาติไทย) จำนวน 250,000 หุ้น มูลค่า 25 ล้านบาท (0.8910%), นายกิตติ ชีวะเกตุ (สัญชาติไทย) จำนวน 250,000 หุ้น มูลค่า 25 ล้านบาท (0.8910%), นายคนิสร์ สุคนธมาน (สัญชาติไทย) จำนวน 177,000 หุ้น มูลค่า 17.7 ล้านบาท (0.6308%)

นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย (สัญชาติไทย) จำนวน 175,000 หุ้น มูลค่า 17.5 ล้านบาท (0.6237%), น.ส.อุรภา สุทธิพงษ์ชัย (สัญชาติไทย) จำนวน 175,000 หุ้น มูลค่า 17.5 ล้านบาท (0.6237%), ควอลิตี้ เจเวล อินเวสท์เมนท์ส ลิมิเต็ด (สัญชาติหมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ)) จำนวน 160,000 หุ้น มูลค่า 16 ล้านบาท (0.5702%), นายพิชัย รุ่งนพคุณศรี (สัญชาติไทย) จำนวน 140,000 หุ้น มูลค่า 14 ล้านบาท (0.4990%),

นางสุเรขา วัชรบุญโชติ (สัญชาติไทย) จำนวน 140,000 หุ้น มูลค่า 14 ล้านบาท (0.6237%), นายวรวิทย์ เจนธนากุล (สัญชาติไทย) จำนวน 136,836 หุ้น มูลค่า 13.68 ล้านบาท (0.4877%), มินิสเตอร์ ฟอร์ ไฟแนนซ์ คอร์ปอเรชั่น (สัญชาติบรูไน) จำนวน 128,700 หุ้น มูลค่า 12.87 ล้านบาท (0.4587%), เนชั่นแนล ดีเวลลอปเม้นท์ คัมพานี (สัญชาติฟิลิปปินส์) จำนวน 128,700 หุ้น มูลค่า 12.87 ล้านบาท (0.4587%) และเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (ไพรเวท) ลิมิเต็ด (สัญชาติสิงคโปร์) จำนวน 128,700 มูลค่า 12.87 ล้านบาท (0.4587%)