ครม.ซุ่ม ถอนฟ้อง บ.อาเซียนโปแตซชัยภูมิ ล้างหนี้ 5,848 ล้าน แลกปุ๋ย

ครม.

ครม.ซุ่ม ถอนฟ้อง บ.อาเซียนโปแตซชัยภูมิ เปิดทางชำระหนี้ 5,848 ล้านบาท เป็นปุ๋ย ปีละ 5 หมื่นตัน 8 ปี

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีมติรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินเงินผลประโยชน์พิเศษโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้

1.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และเงินค่าปรับของโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน (ตามข้อ 1) พร้อมทั้งให้ถอนฟ้องคดีศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 2033/2565 ลงวันที่ 9 กันยายน 2565 (บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ ชื่อเดิม บริษัท เหมืองแร่โปแตซอาเซียน จำกัด (มหาชน))

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้แจ้งสำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้องบริษัท อาเซียนโปแตซชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ต่อศาลปกครอง กรณีผิดนัดชำระเงินผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตร จำนวน 5 งวด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง

2.ให้โครงการเหมือนแร่โพแทชของอาเซียนผ่อนชำระหนี้สินด้วยผลผลิตแร่โพแทช (ตามข้อ 2)

3.มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับและบริหารจัดการผลผลิตแร่โพแทชที่ได้จากการชำระหนี้ของโครงการ และพิจารณาแนวทางการผลักดันการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมให้แก่ภาคเกษตรกรรมของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรกรรมและประเทศชาติต่อไป

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินเงินผลประโยชน์พิเศษโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน ประกอบด้วย

ข้อ 1 การปรับโครงสร้างหนี้และเงินค่าปรับ

โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียนมีภาระต้องชำระเงินผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตร จำนวน 8 งวด โดยเป็นหนี้สินค้างชำระและเงินค่าปรับผิดนัดชำระ ตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 (คำนวณถึงวันที่ 31 มกราคม 2566) เป็นเงินงบประมาณ 4,410 ล้านบาท และยังคงเหลือเงินค่างวดที่ 6

ซึ่งจะครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 รวมค่าปรับผิดนัดชำระ เป็นเงินประมาณ 571 ล้านบาท และเงินค่างวดที่ยังไม่ครบกำหนดชำระอีกจำนวน 2 งวด คิดเป็นเงินประมาณ 1,137 ล้านบาท รวมเป็นหนี้สินทั้งสิ้นประมาณ 5,848 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 มกราคม 2566) และเงินค่าปรับผิดนัดชำระอีกวันละประมาณ 1.4 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อให้ดำเนินงานโครงการต่อไปได้ เห็นควรปรับโครงสร้างหนี้เงินค่างวด จำนวน 6 งวด งวดที่ค้างชำระพร้อมเงินค่าปรับผิดนัดชำระของแต่ละงวด และเงินค่างวดที่เหลืออีก 2 งวด รวมเป็นหนี้สินก้อนเดียวกัน

ข้อ 2 การผ่อนชำระหนี้สินด้วยผลผลิตแร่โพแทช

เมื่อโครงการสามารถดำเนินการได้และมีผลผลิตแร่โพแทชแล้ว ให้ชำระหนี้สินตามข้อ 4.4.1 ด้วยผลผลิตแร่โพแทชของโครงการ มูลค่าผลผลิตแร่โพแทชที่นำมาหักหนี้สินให้คิดในอัตราราคาร้อยละ 90 ของราคาประกาศแร่โพแทชของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ณ วันที่ชำระ

โดยโครงการต้องส่งมอบผลผลิตแร่โพแทชเพื่อการชำระหนี้แก่ภาครัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผลผลิตแร่โพแทชของโครงการ จนกว่าจะหมดหนี้สิน แต่ต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000 ตัน และภายในระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี นับแต่วันที่มีผลผลิตแร่โพแทช โดยโครงการต้องเป็นผู้ชำระค่าภาคหลวงแร่และเงินบำรุงพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยแร่แต่เพียงผู้เดียว

ทั้งนี้ กรณีที่ภาครัฐต้องการซื้อผลผลิตแร่โพแทชเพิ่มเติมในระหว่างการชำระหนี้หรือภายหลังจากที่โครงการได้ชำระหนี้ครบแล้ว โครงการต้องจำหน่ายผลผลิตแร่โพแทชให้แก่ภาครัฐในอัตราราคาร้อยละ 93 ของราคาประกาศแร่โพแทชของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ณ ขณะนั้น และโครงการต้องจำหน่ายผลผลิตแร่โพแทชของโครงการให้กับรัฐก่อน

ซึ่งจากการประเมินการชำระหนี้สินของโครงการด้วยผลผลิตแร่โพแทชตามกำลังการผลิตแร่โพแทชของโครงการและการปรับโครงสร้างหนี้และเงินค่าปรับ โดยประเมินราคาเฉลี่ยปุ๋ยโพแทช (พ.ศ.2561-2565) เท่ากับ 15,000 บาทต่อตัน โครงการจะสามารถชำระหนี้สินทั้งหมดให้แก่รัฐได้ภายในระยะเวลาประมาณ 8 ปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีหนังสือยินยอมการชำระหนี้สินด้วยผลผลิตแร่โพแทชแล้ว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2532 เห็นชอบให้โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศไทย

ต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 รับทราบการพิจารณาเพิ่มทุนของรัฐบาลในส่วนที่มีความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 20 ตาม Basic Agreement มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมในการลงทุนโครงการในสัดส่วนของรัฐบาลไทย การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ Basic Agreement

ซึ่งรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาล และแหล่งเงินหากมีความจำเป็นต้องชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุน

ทั้งนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้ต่อทุนเรือนหุ้น 70 ต่อ 30 ซึ่งบริษัท อาเซียนโปแตซชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 2,805,797,300 บาท

โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 20 เป็นเงิน 561,160,000 บาท ต่อมา บริษัทฯ ได้เรียกเพิ่มทุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการจำนวน 19,773 ล้านบาท กระทรวงการคลังจึงต้องลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,900 ล้านบาท เพื่อให้คงสัดส่วน 1 ใน 3 ตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน