บีโอไอลุ้นดึงโรงงานแบตอีวี เว้นภาษี 13 ปีลงทุนรถไฮโดรเจน

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

บีโอไอลุ้นตัวโก่ง ดึงโรงงานแบตเตอรี่จากอินโดนีเซียเข้าไทย คาดดีมานด์รถอีวีไทยสูงเป็นประวัติการณ์ เผยดีลค่ายอีวีใหม่ 4 รายจบแล้ว รอชง พล.อ.ประยุทธ์ลงนามประกาศสิทธิยกเว้นภาษี 13 ปี ให้กิจการยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV หรือรถพลังงานไฮโดรเจนและกิจการลงทุนไฮเทคโนโลยี มีผล 3 มกราคม 2566 พร้อมเตรียมโรดโชว์จีน-ยุโรปเคาะประตูนักลงทุน 200 ครั้ง หวังเบียดเวียดนาม

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ บอร์ดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนการส่งเสิรมการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่เพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมไฮเทค รถยนต์อีวี

เช่น กิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehicles : FCEV) หรือยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนและกิจการผลิตอุปกรณ์สำหรับเซลล์เชื้อเพลิง กิจการสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (battery swapping station) กิจการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต กิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ

โดยมาตรการใหม่ดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จัดเป็นกลุ่ม A1+ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 10-13 ปี ในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ประกอบด้วย ไบโอเทค นาโนเทค และเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันการศึกษา

ประยุทธ์ประกาศมีผล 3 ม.ค. 66

“เราให้ยกเว้นภาษีสูงสุด 13 ปี ไม่เคยมีการให้สิทธิประโยชน์สูงเท่านี้มาก่อน อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ เวียดนามให้สิทธิประโยชน์ 15 ปี แต่ให้เป็นขั้นบันได มาตรการของบีโอไอ เราปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขณะนี้เตรียมแพ็กเกจ และเงื่อนไขการลงทุน เตรียมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดบีโอไอ ลงนามในประกาศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ให้นักลงทุนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนได้ ในวันที่ 3 มกราคม 2566”

เลขาธิการบีโอไอเปรียบเทียบไทยกับเวียดนามด้วยว่า แม้ว่าเราจะไม่อยากฉายภาพว่าเป็นคู่แข่ง แต่เทียบจุดแข็ง 2 ประเทศ ก็ต่างคนต่างมี เวียดนามเขาได้เปรียบเรื่องแรงงานที่มีคนหนุ่มสาวมาก วัยกำลังทำงานสูง ขณะที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย เวียดนามมี FTA มากกว่าไทย โดยเฉพาะ FTA เวียดนาม-ยุโรป ซึ่งไทยไม่มี รัฐบาลเขาเบ็ดเสร็จมากกว่าเรา อีกทั้งที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ สามารถมีลูกเล่นในการจัดสิทธิประโยชน์ได้มากกว่า ในขณะที่ประเทศไทยที่ดินเป็นของเอกชน

“แม้ว่าขณะนี้การลงทุนด้านไฮเทค ไปเวียดนามเยอะ เช่น การประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้แรงงานสูง ซึ่งไทยไม่ประมาท แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวไม่ใช่เป้าหมายของไทยแล้ว เราต้องการขยับไปสู่ตลาดบน ตลาดไฮเทค ซึ่งคู่แข่ง คือ มาเลเซีย

และเรามีขีดความสามารถในการแข่งเรื่องอุตสาหกรรมนวตกรรมสูง สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น ทุกประเทศก็ต้องชูจุดแข็งของตัวเอง ไทยต้องมีจุดขายของตัวเองเพื่อขึ้นเป็นผู้นำ เช่น เรื่องแบตเตอรี่รถอีวี เราจึงมีแผนที่จะดึงโรงงานมาจากอินโดนีเซีย”

ดึงโรงงานแบตฯจากอินโดฯ

เลขาธิการบีโอไอกล่าวด้วยว่า นโยบายของรัฐบาลเรื่องรถยนต์อีวี คือ มาตรการกระตุ้นดีมานด์เพื่อสร้างตลาด โดยมีเป้าหมาย 30/30 คือ ในปี 2030 จะมีการผลิตอีวี 30% ของยอดผลิต หรือ 725,000 คัน ต้องการแบตเตอรี่ 40 จิกะวัตต์ เป็นที่มาของการที่จะดึงการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ จากอินโดนีเซีย ให้มาลงทุนในประเทศไทย เพื่อตอบสนองดีมานด์ในอนาคต โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถอีวีในปีนี้ถึงปีหน้า ประมาณ 2-3 หมื่นคัน

โดยบรรดาค่ายรถยนต์อีวี จากจีนจะมาคุยกับบีโอไอเป็นด่านแรกทุกครั้ง เวลาจะตัดสินใจมาลงทุน ในระยะข้างหน้า ยังมีหลายบริษัทเตรียมเข้ามาเจรจา เพราะรถไฟฟ้าจีนมีประมาณ 100 แบรนด์

ดีลค่ายรถอีวีใหม่จบแล้ว 4 ราย

เลขาธิการบีโอไอเล่าว่า อุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ไทยสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้โลกตะลึง ด้วยยอดขายและยอดจองท่วมท้นในปีแรก “ตอนนี้ต้องบอกว่าตลาดรถยนต์อีวีจุดติดแล้ว และไทยมีความโดดเด่นและสามารถเป็นผู้นำอีวีในภูมิภาค ทำให้ค่ายรถต่าง ๆ หันมามองมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะจีน ซึ่งจีนมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า 100 แบรนด์ โดยบีโอไอคุยกับบริษัทโดยตรงหลายราย ที่มีความชัดเจนแล้ว 3-4 ราย

แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ มีทั้งประเทศจีนและประเทศอื่นด้วย ยุโรป อเมริกา ในแง่จำนวนจีนจะมากหน่อย เพราะมีผู้เล่นเยอะ และเทคโนโลยีอีวี วันนี้จีนเป็นอันดับหนึ่งของโลก แบตเตอรี่เป็นอันดับหนึ่งของโลก”

ตั้ง 10 บิ๊ก ดูนักลงทุนต่างชาติ

นายนฤตม์ระบุว่า บอร์ดบีโอไอได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาให้นักลงทุนต่างชาติแบบเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องตั้งวาระเข้าพิจารณาในบอร์ดที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะพิจารณามาตรการ และประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา

คณะกรรมการประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธาน Joint Foreign Chamber of Commerce (JFCCT), หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร, นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

คณะอนุกรรมการชุดนี้จะประชุมนัดแรกในกลางเดือนธันวาคม 2565 โดยจะพิจารณาให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางในการประสานงาน ที่ช่วยเหลือนักลงทุน ประกอบด้วย บีโอไอ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมสรรพากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

“ส่วนงานนี้จะให้บริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน สร้างอีโคซิสเต็มเพื่ออำนวยความสะดวกในการมาลงทุนมากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนจะไม่ได้คำนึงถึงสิทธิประโยชน์อย่างเดียว โดยตั้งวันสต็อปเซอร์วิส โดยจับมือกับ 4 หน่วยงาน โดยมีบีโอไอเป็นด่านหน้า คาดว่าจะเริ่มได้ต้นปีหน้า”

โรดโชว์ลงทุนจีน-ยุโรป ดึงรถ EV

ในปี 2566 บีโอไอจะผนึกกำลังพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติ ในการเดินทาง roadshow และจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนทั่วโลก โดยพันธมิตรจะประกอบด้วย EEC, กนอ., กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และกลุ่ม influencers รวมทั้ง ธนาคาร สภาธุรกิจฯ สภาอุตสาหกรรมฯ นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ

เลขาธิการบีโอไอกล่าวด้วยว่า ในปีหน้าจะมีการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งแบบ physical, virtual, hybrid รวมกว่า 200 ครั้ง และล่าสุดได้หารือกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทย แสดงความจำนงจะไปโรดโชว์ดึงนักลงทุนจีน คาดว่าน่าจะเดินทางได้ประมาณไตรมาสแรกของปี 2566 นอกจากนี้ มีการจัดกิจกรรมพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อีก 25 ครั้ง

บีโอไอจะชักจูงนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายหลักจากประเทศต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย และสหรัฐอเมริกา และมีแผนที่จะโรวโชว์กลุ่มประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี โดยมุ่งเน้นดึงนักลงทุนในกิจการรถยนต์ EV, อิเล็กทรอนิกส์, BCG, ดิจิทัล, เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์กระแสรถยนต์เครื่องยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ว่า ตลาดรถยนต์ BEV มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า รถยนต์ BEV ในปี 2565 จะมียอดขายอยู่ที่ 12,500 คัน ขยายตัวจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ในปี 2564 ถึง 212.5%

และปี 2566 จะมียอดขาย 24,000 คัน หรือขยายตัว 92.0% ไปในทิศทางเดียวกับคาดการณ์ของ Bloomberg ที่ประเมินยอดขายรถยนต์ BEV ของไทยในปี 2565-2566 ที่ 15,600 คัน และ 24,000 คัน โดยในปี 2565 ที่ทาง Krungthai COMPASS ประเมินต่ำกว่า Bloomberg ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนที่ทำให้การส่งมอบรถอาจล่าช้าออกไป

สำหรับ 3 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนรถยนต์ BEV ได้แก่ 1.การสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้ราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น รวมทั้งจูงใจผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนทำให้ทางเลือกในตลาดเพิ่มขึ้น 2.การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี ทำให้รถยนต์ BEV มันใช้งานได้จริง และ 3.ต้นทุนการใช้งานที่มีความคุ้มค่ากว่ารถยนต์สันดาปภายในถึงเกือบ 20% และคาดหมายว่าในปี 2565-2566 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 15 แบรนด์ ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป