OR+AIS+GULF ดรีมทีม “เวอร์ชวลแบงก์“

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะที่คนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบทั้งจากแบงก์หรือน็อนแบงก์ จนกลายเป็นปัญหาคนไทยเป็น “หนี้นอกระบบ” จำนวนมากและนำไปสู่ปัญหาสังคมมากมาย

“ธนาคารไร้สาขา” (Virtual Bank) อาจเป็นหนึ่งในทางออกที่น่าจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ ด้วยต้นทุน (ดอกเบี้ย) ที่ต่ำได้ดียิ่งขึ้น

เพราะหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ในการพิจารณาให้ใบอนุญาตคือ แผนธุรกิจที่จะต้องตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ “รายย่อย-เอสเอ็มอี” ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอ

ขณะที่ Virtual Bank เป็นโมเดลที่ช่วยให้ลดต้นทุนทั้งเรื่องสถานที่ และพนักงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ

กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจึงคาดหวังว่าออกใบอนุญาต “Virtual Bank” จะเข้ามาเขย่าการแข่งขันของธุรกิจสถาบันการเงินให้เปลี่ยนไป และช่วยแก้โจทย์ “หนี้นอกระบบ” ได้มากยิ่งขึ้น

ไทม์ไลน์ Virtual Bank คลังและ ธปท.คาดว่าภายในไตรมาสแรกปีนี้จะสามารถเปิดรับสมัครผู้สนใจขอใบอนุญาต ซึ่งเฟสแรก ธปท.จะเปิดให้เพียง 3 ใบอนุญาต โดยหลังประกาศรายชื่อ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีเวลาเตรียมตัว 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะเห็น Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการในครึ่งแรกของปี 2569

ADVERTISMENT

สำหรับกลุ่มที่เห็นความเคลื่อนไหวมากที่สุดเวลานี้ คงจะเป็นกลุ่มธนาคารกรุงไทย (KTB) เจ้าของแอป “เป๋าตัง” ที่มีฐานผู้ใช้บริการกว่า 40 ล้านคน

แบงก์กรุงไทยได้มีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมมือกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ไปตั้งแต่ปลายปี 2565

ADVERTISMENT

และล่าสุดก็ได้รับการยืนยันว่า แบงก์กรุงไทยได้ร่วมมือกับพันธมิตรใหม่เข้ามาเสริมทีมอีก 1 รายคือ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR

เรียกว่า “ดรีมทีมเวอร์ชวลแบงก์” ที่แท็กทีมมากันแน่นแบงก์กรุงไทย-เอไอเอส-กัลฟ์ฯ และโออาร์ ของยักษ์ใหญ่จาก 4 วงการ

ที่แต่ละบริษัทก็มีจุดเด่นที่แตกต่าง และที่สำคัญคือ “ฐานข้อมูล” ลูกค้าของแต่ละยักษ์

เอไอเอสฐานผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์รวมกันประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งหมายถึงฐานข้อมูล “บิ๊กดาต้า” จากพฤติกรรมการใช้บริการต่าง ๆ ของลูกค้าจำนวนมหาศาล ที่จะนำมาใช้ในการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ รวมทั้งสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแรง และกระแสเงินสดของบริษัทที่ค่อนข้างมาก

ขณะที่กัลฟ์ฯก็เป็นยักษ์พลังงาน และในฐานะบริษัทแม่ของเอไอเอส

สำหรับ “โออาร์” ก็ถือเป็นการเข้าสู่ธุรกิจการเงินอย่างเต็มตัว นอกจากฐานข้อมูลลูกค้าอยู่ในสมาชิก Blue Card ประมาณ 8 ล้านคน โออาร์ยังมีจุดเด่นช่องทาง (หน้าร้าน) ที่ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ทั่วประเทศ ตั้งแต่สถานีบริการน้ำมัน ที่มีกว่า 2,200 แห่ง, ร้านคาเฟ่ อเมซอนกว่า 4,045 สาขา, ร้านสะดวกซื้อ 2,186 สาขา รวมทั้งยังมีร้านอาหารและเครื่องดื่มในเครืออีกหลายแห่ง

หมายถึง โออาร์มีทั้งช่องทาง ฐานข้อมูลลูกค้าหลากหลายพฤติกรรม ในการสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ Virtual Bank ที่ดี

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า Virtual Bank อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ด้วยบริการที่ไม่มีสาขา ทำให้ลดต้นทุนสถานที่ และจำนวนพนักงาน ทำให้เวอร์ชวลแบงก์มีต้นทุนให้บริการที่ต่ำ ช่วยให้สามารถนำเสนอดอกเบี้ยเงินฝากและสินเชื่อที่จูงใจประชาชนได้

นอกจากนี้ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่เป็นการคิดนอกกรอบจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมได้

“คีย์เวิร์ดของ Virtual Bank คือ พันธมิตร โดยพันธมิตรจะฉายภาพว่าแลนด์สเคปการแข่งขันอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ฐานข้อมูลลูกค้า คุณภาพลูกค้า และตลาดเป้าหมาย”

นี่คือโฉมหน้าของ “ผู้เล่นใหม่” ในสมรภูมิการเงินใหม่