คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
แม้หน่วยงานราชการจะออกข่าวการลดลงของปลาหมอคางดำ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในหลายพื้นที่ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 7 มาตรการ ได้แก่
1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด
2) การปล่อยปลา “ผู้ล่า” ในแหล่งน้ำธรรมชาติไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว
3) การนำปลาหมอคางดำไปแปรรูป
4) การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในพื้นที่กันชน
5) การให้ความรู้ด้วยการจัดทำคู่มือประชาชน
6) พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม
และ 7) การฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายลง
ทว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยัง “สวนทาง” กับปริมาณปลาหมอคางดำที่ว่า “ลดลง” เนื่องจากยังมีรายงานข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องถึงการแพร่ระบาดในวงกว้างตามแหล่งน้ำ หรือปากแม่น้ำตามธรรมชาติ ตลอดจนถึงการพบปลาหมอคางดำบริเวณชายฝั่งทะเลแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำเป็นไปอย่างกว้างขวาง
จากข้อเท็จจริงที่ว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ใช่พึ่งจะมาเกิดขึ้นเอา 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้เพราะกรมประมงก็ได้ดำเนินการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง “เพื่อลดผลกระทบ” ตั้งแต่ปี 2561 เกิดโครงการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม-เพชรบุรี เพื่อนำไปทำ “ปุ๋ยหมักชีวภาพ”
มีการปล่อยปลาผู้ล่าลงแหล่งน้ำโดยช่วงนั้นได้ใช้งบประมาณของกรมประมงกับงบประมาณจังหวัดร่วมกัน จนมาถึงปี 2563 งบประมาณในการจัดหาปลาผู้ล่าของจังหวัดก็หมดลง เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าการจัดหาพันธุ์ปลาผู้ล่าเป็นหน้าที่ของกรมประมง ไม่ใช่ของจังหวัด ดังนั้น จังหวัดจึง “งด” การจัดสรรงบประมาณลง
แน่นอนว่าจำนวนเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ “กำจัด” ปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2563 ที่ลดลง หรืออาจมี “น้อยมาก” ได้กลายเป็นสวรรค์ในการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ อย่างที่เรียกว่า “ทบเท่าทวีคูณ” จากแหล่งที่พบการระบาดในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น “ต้นตอ” ตามรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แพร่ออกไปในหลายต่อหลายจังหวัด จากแหล่งน้ำธรรมชาติลงสู่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ขยายเข้าสู่แม่น้ำลำคลอง และออกสู่ปากแม่น้ำ กระทั่งการพบปลาหมอในทะเลตามแนวชายฝั่งต่าง ๆ
กระทั่งเรื่องมาบานปลายออกมา เมื่อไม่สามารถควบคุมความเสียหายที่เกิดจากปลาหมอคางดำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูญเสียของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการหายไปของสัตว์น้ำประจำถิ่น เอาเข้าจริงการกำจัดปลาหมอคางดำอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ถ้ามี “งบประมาณ” เพียงพอตั้งแต่ต้น โดยจะเห็นได้จากช่วงเปิดมาตรการเร่งด่วนล่าปลาหมอคางดำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็เป็นไปในลักษณะของ “การลงแขก” ขอความร่วมมือเสียมากกว่า
จนถึงกับต้องไปขอความสนับสนุนงบประมาณจากการยางแห่งประเทศไทย ประมาณ 50 ล้านบาท ในการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่พบ การได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอ กก.ละ 15 บาท เพื่อส่งเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานปลาป่น จากปกติที่ใช้ “ปลาเป็ด” เฉลี่ย กก.ละ 9 บาท ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเปิดรับซื้อในราคานี้ไปได้นานเท่าใด ไปจนถึงการ “บริจาค” พันธุ์ปลาผู้ล่าปล่อยลงแหล่งน้ำ ประกอบกับมีความพยายามที่จะประกาศ “เขตภัยพิบัติ” หวังใช้งบฯทดรองราชการ จังหวัดละ 20 ล้านบาทในทุกจังหวัดที่พบการระบาดด้วย
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของ “เงิน” ที่จะนำมาใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำที่ต้องกำจัดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนสุดท้าย ครม.ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำปี 2567-2570 โดยใช้ “กรอบงบประมาณ” 450 ล้านบาทในช่วง 4 ปี กับ 7 มาตรการข้างต้น ซึ่งยังมีข้อน่าสงสัยอยู่ว่า กรอบงบประมาณดังกล่าวจะเพียงพอต่อการกำจัดปลาหมอคางดำไม่ให้หวนกลับคืนสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือไม่ เพียงใด