คอลัมน์ : SD Talk ผู้เขียน : พิชญ์พจี สายเชื้อ
วันก่อนคุยกับ HR ท่านหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่าตอนนี้เปลี่ยนนาย นายที่มาดูแลเป็นนายที่เก่งมาก ๆ มีหลักการเหตุผลดีมาก รู้ทุกอย่าง และละเอียดมาก ๆ เราก็บอกดีสิ ทำงานสบาย นางบอกไม่เลยพี่เครียดมาก เพราะนายรู้ทุกอย่าง เราทำอะไรผิดไม่ได้เลย เป็นโดน แถมบางเรื่องที่ไม่มีหลักการแน่นอน ไม่มีถูกมีผิดชัดเจน นายก็ไม่ฟัง บอกว่าของตัวเองถูก
ตอนนี้งานออกช้ามาก เพราะต้องตรวจร้อยรอบกว่าจะออกได้ กลัวนายถามตอบไม่ได้ ลูกน้องก็เครียดมาก มีคนหนึ่งป่วยเข้าโรงพยาบาลไปเลยด้วยความเครียด เฮ้อ…ไม่รู้จะอยู่ได้นานแค่ไหน ตอนนี้ที่ “ทนอยู่” ก็เพราะสงสารลูกน้องถ้าเราชิงไปก่อน
ดิฉันเลยนึกถึงคำกล่าวที่ว่าเป็นผู้นำบางทีต้องแกล้งโง่บ้าง ไม่งั้นลูกน้อง (เครียด) ตายแน่
ถามว่าการที่ผู้นำเเกล้งโง่ดียังไง ?
หนึ่ง ทำให้ลูกน้องรู้สึกมีความมั่นใจ เกิด self-esteem เกิดความนับถือตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการสร้างลูกน้อง
สอง จริง ๆ ลูกน้องไม่ได้คาดหวังให้ผู้นำต้องรู้ทุกเรื่อง เพราะเป็นไปไม่ได้ ถ้าผู้นำต้องรู้ทุกเรื่อง ผู้นำก็เครียด (เพราะต้องพยายามรู้ทุกเรื่อง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้) ลูกน้องก็ไม่มีการเรียนรู้ต่อเนื่อง เนื่องจากไม่รู้จะเรียนรู้ไปทำไม รู้ไปนายก็ไม่ได้ตื่นเต้น เพราะนายรู้แล้ว ผู้นำบางที ถึงรู้ก็ต้องทำเป็นไม่รู้ ให้ลูกน้องแสดงความเห็นบ้าง ให้เขารู้สึกมีความภูมิใจว่าเขารู้
มี CEO ท่านหนึ่งบอกดิฉันว่า บางทีท่านต้องหลับตาข้างนึง คือบางทีรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายมีผลกระทบกับองค์กรมาก ก็หลับตาซะ ปล่อยไปบ้าง เพราะทำให้ลูกน้องมีความมั่นใจ แล้วถ้าผิด เขาก็เรียนรู้ได้ fail fast learn fast ค่ะ
ซึ่งก็ได้ผลนะคะ สำหรับองค์กรนี้ ดิฉันเห็นว่าเขาสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เริ่มจากเปิดรับ (ฟัง) ความคิดเห็นรอบด้าน (จากพนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และที่สำคัญที่สุดคือลูกค้า) จนปัจจุบันเขาเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลา เห็นมั้ยคะว่าการที่ผู้นำแกล้งโง่ หรือยอมหลับตาข้างนึง ก็สร้างให้เกิด innovative culture ในองค์กรได้ด้วย
นอกจากนี้ ดิฉันอ่านบทความหนึ่งเขาบอกอีกว่าการเป็นนายที่ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้รู้ทุกเรื่อง มันมีประโยชน์คือ
1) คนรู้สึกได้ถึงความจริงใจของคุณที่ยอมรับในสิ่งที่ไม่รู้ และจะสร้างศรัทธาต่อตัวคุณต่อไป เคยได้ยินใช่มั้ยคะ ประโยคประมาณว่า “นายเราดีจัง ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ เป็นนายไม่ต้องรู้ทุกเรื่องก็ได้ (ปล่อยให้ลูกน้องรู้บ้าง ฮา)”
2) คนจะยกย่องคุณในเรื่องความมีจริยธรรม (ที่ยอมรับว่าไม่รู้ ไม่ทำเป็นรู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ โดยใช้ความเป็นนาย) ซึ่งจริยธรรมคือคุณสมบัติสำคัญของ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่
3) คุณสร้างตัวอย่างที่ดีในองค์กร ให้ผู้นำคนอื่นได้ทำตาม
4) คุณจะเครียดน้อยลง เพราะไม่ต้องรู้ทุกเรื่อง
และสำคัญที่สุด 5) ตัวคุณจะได้เรียนรู้มากขึ้น ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว อย่าลืมว่าการยอมรับว่าเราไม่รู้ ทำให้เราเปิดใจเรียนรู้ต่อไปได้นะคะ
สรุปก่อนจบสั้น ๆ เราอยากเป็นแบบองค์กรที่ 1 หรือ 2 ล่ะคะ องค์กรที่ผู้นำรู้จัง รู้ทุกเรื่อง ไม่ฟังอะไรใคร และสุดท้ายพนักงานท้อใจ อยากลาออก หรืออยู่ก็อยู่แบบ “ทนอยู่” หรืออยากเป็นแบบองค์กรที่ 2 ที่ผู้นำแกล้งโง่บ้างในบางเรื่อง เพื่อให้ลูกน้องลองผิดลองถูก คิดเองเป็น และสุดท้ายจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้
ท่านเลือกได้นะคะ จะเป็นผู้นำแบบไหน…ขอให้โชคดีค่ะ