บทเรียน “ไอทีวี”

ITV
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

กรณี “พิธา” ถือหุ้น “ไอทีวี” ที่เป็นข่าวใหญ่ในวันนี้ นอกจากเป็นบทเรียนเรื่องการเมืองแล้ว

ยังเป็นบทเรียนสำคัญด้านธุรกิจด้วย

ในทางการเมือง การที่ “พิธา” ประมาท ไม่โอนหุ้น “ไอทีวี” ทิ้ง หรือสละสิทธิจากมรดก กลายเป็นปัญหาใหญ่ทางการเมือง

ทุกคนสงสัยว่าทำไม “พิธา” ถึงมาติดหล่มตื้น ๆ แบบนี้ ทั้งที่รู้ว่าพรรคก้าวไกลต้องเผชิญอุปสรรคหนักหนาสาหัสกว่าพรรคการเมืองอื่นอยู่แล้ว

และมีบทเรียนจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ถูกตัดสิทธิการเป็น ส.ส. จากกรณีการถือหุ้นสื่อมาแล้วครั้งหนึ่ง

แล้วทำไมจึงมาซ้ำรอยเดิม

ADVERTISMENT

มูลค่าหุ้นก็น้อยนิด เผลอ ๆ จะติดลบด้วยซ้ำไป

นี่คือ บทเรียนทางการเมืองของ “พิธา”

ADVERTISMENT

แต่สำหรับภาคธุรกิจ การปลุกผี “ไอทีวี” ขึ้นมาให้เป็น “สื่อ” เพื่อจัดการ “พิธา” นั้น กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก

การที่นักธุรกิจสนับสนุนพรรคการเมืองไหน เป็นเรื่องเสรีภาพทางการเมือง

จะสนับสนุนทางการเงินเท่าไรก็ได้

เกี่ยวพัน “ทางบวก” ไม่เป็นไร

แต่เอาไปยุ่งใน “ทางลบ”

แบบนี้จะมีปัญหา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ไม่ใช่บริษัทส่วนตัว

อย่างกรณีการปลุกผีไอทีวีครั้งนี้ มีหลายเรื่องที่ผิดปกติ

ไม่รู้ว่าเจตนา หรือไม่เจตนา

อย่างเช่น บันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566

ในบันทึกการประชุม มีคนตั้งคำถามผู้บริหารไอทีวีว่า “ไอทีวี” มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่ออยู่หรือไม่

ประธานในที่ประชุมตอบว่า “ปัจจุบันบริษัทยังมีการดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

แต่ “แยม” ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นำคลิปการประชุมมาเปิดในรายการข่าว 3 มิติ

ปรากฏว่าคำตอบในบันทึกการประชุมตรงกันข้ามกับในคลิป

นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุม ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”

ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

เป็นเรื่องเลยครับ

เพราะคำตอบในบันทึกการประชุม เหมือนต้องการบอกว่า “ไอทีวี” ยังทำสื่ออยู่

สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานมัด “พิธา” ได้

และอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องงบการเงิน ที่ถูกตั้งข้อสงสัยในความผิดปกติ

บังเอิญผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “ไอทีวี” คือ “อินทัช”

ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “อินทัช” คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์

และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “กัลฟ์” คือ “สารัชถ์ รัตนาวะดี”

แบบนี้ก็เป็นเรื่องสิครับ

“ไอทีวี” ใช้เวลาหลายวันกว่าจะออกแถลงการณ์ชี้แจง โดยระบุว่าบันทึกการประชุมเป็นการสรุปสาระสำคัญจากหลาย ๆ คำถามและคำตอบ

ใครอ่านแถลงการณ์ก็คงรู้สึกเหมือนกัน

แสบสีข้างมาก

เป็นการดิ้นออกจากวงล้อม ไปหา “ทางตัน”

เพราะถ้าฟังคลิปช่วงคำถามของผู้ถือหุ้นกับคำตอบ

ทุกคำถามและคำตอบ บันทึกได้เป๊ะมาก

แต่พอมาคำถามนี้ คำตอบที่บันทึกไม่สามารถเรียกได้ว่าการสรุป

เพราะไปอีกทางเลย

เรื่อง “ไอทีวี” คงไม่จบแค่นี้

และที่สำคัญ คงไม่จำกัดวงแค่ “ไอทีวี”

มันจะบานปลายไปมากกว่านี้

เป็นบทเรียนว่า ถ้าเป็นบริษัทมหาชน

ศรัทธาและความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญ

อย่าเอามาเล่นการเมืองเป็นอันขาด