ประวัติ แอน จักรพงษ์ JKN เจ้าของคอนเทนต์ สู่เจ้าของจักรวาลนางงาม

จักรพงษ์ จักราจุธาธิบดิ์

เปิดประวัติ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ จากเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์สาระบันเทิงชั้นนำ สู่การเป็นเจ้าของจักรวาลนางงาม

หลังจาก เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ของ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้ (26 ตุลาคม 2565) ว่า ทางบริษัทได้เข้าซื้อกิจการ องค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) พร้อมทั้งลิขสิทธิ์ต่าง ๆ จาก IMG Worldwide ผู้ถือหุ้นเดิม ด้วยมูลค่าลงทุนรวมไม่เกิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 800 ล้านบาท

การตัดสินใจดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงฮือฮาในหมู่ของคนที่ชื่นชอบและติดตามเวทีนางงามเป็นอย่างมาก ในฐานะคนไทย ที่เป็นทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ และเจ้าของกิจการเวทีการประกวดสาวงามระดับโลก

นอกจากการเป็นเจ้าของเวทีนางงามจักรวาลแล้ว แอน จักรพงษ์ ที่ทุกคนคุ้นเคยกัน คือ ภาพของการเป็นเจ้าแม่คอนเทนต์ ที่ถือสิทธิการจัดจำหน่ายคอนเทนต์ระดับโลกไว้มากมาย ตั้งแต่สารคดี จนถึงซีรีส์ดัง

แต่กว่าจะมาเป็น แอน จักรพงษ์ หรือ แอน JKN อย่างที่ทุกคนรู้จักในทุกวันนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นสู่วันที่ก้าวขึ้นมาเป็น “เจ้าของจักรวาลนางงาม”

“จักรพงษ์” ในวัยเด็ก

แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ หรือชื่อเดิม แอนดรูว์-จักรพงษ์ สุธีสถาพร เกิดในครอบครัวเชื้อสายจีนซึ่งเคร่งเรื่องเพศมาก และเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี โดยศึกษาต่อ ไปพร้อมกับการทำงานเป็นพนักงานปั๊มน้ำมัน จนกระทั่งจบการศึกษาปริญญาตรี ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบอนด์ ประเทศออสเตรเลีย

จุดเริ่มต้น เจ้าของคอนเทนต์ระดับโลก

หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี จักรพงษ์ ในวัย 21 ปี ก็เดินทางกลับมาที่ประเทศไทย เพื่อรับช่วงดูแลกิจการร้านเช่าวิดีโอของบิดา ในกิจการชื่อว่า “เอส ที วิดีโอ (ST Video)” ซึ่งอยู่ในย่านบางแค

เมื่อยุคของเทปวิดีโอเริ่มเข้าสู่ทางตัน จากเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่ อย่าง แผ่นวีซีดี และดีวีดี จักรพงษ์ ในวันที่ดูแลร้านเช่าวิดีโอ เริ่มมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทางธุรกิจ โดยเริ่มต้นจากการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์สารคดีดังจาก BBC อย่าง Walking with Dinosaurs มาทำในรูปแบบดีวีดีภาคภาษาไทย แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

แต่เพราะความไม่ยอมแพ้ ทำให้จักรพงษ์เห็นโอกาสที่อยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ จนนำมาสู่ยอดขาย 10 ล้านบาทแรก และการเริ่มต้นเดินทางของ ST Video ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์สารคดีและซีรีส์ต่างประเทศระดับโลก จาก BBC, Discovery Channel, National Geographic รวมถึง “จี้เส้นคอนเสิร์ต” เทปบันทึกการแสดงตลกที่คนไทยยุค 90 คุ้นเคยอย่างดี

เมื่อถึงยุคที่คอนเทนต์ซีรีส์เอเชียเริ่มเฟื่องฟู พร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมทีวีดาวเทียม ก็เป็นโอกาสของ เอส ที อีกครั้ง โดยการผนึกกำลังของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ เอสทีจี มัลติมีเดีย (STG Multimedia) หรือ ST Video เดิม จัดตั้งบริษัทร่วมทุน STGMM และเปิดตัว JKN ช่องทีวีดาวเทียมที่นำเสนอคอนเทนต์ซีรีส์และวาไรดี้เอเชียคุณภาพ จากเกาหลีและญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 และประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับเรื่องจำนวนผู้ชมเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน STG Multimedia ก็ยังคงทำหน้าที่ถือครองลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายสารคดีและซีรีส์ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตลาดจากคอนเทนต์ระดับโลก สู่คอนเทนต์ระดับเอเชีย ทั้งจีน เกาหลี และญี่ปุ่น พร้อมขยายไปสู่การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ภายใต้ลิขสิทธิ์ที่ได้รับ

จาก STG สู่ JKN

ในปี 2556 เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เมื่อการถือครองลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในนาม เอสทีจี มัลติมีเดีย เปลี่ยนมือสู่บริษัทใหม่ในชื่อ “เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย (JKN GLOBAL MEDIA)” และเปลี่ยนหน้าที่ เอสทีจี สู่บริษัทดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในชื่อ “เจเคเอ็น ลิฟวิ่ง (JKN LIVING)” โดยเฉพาะ JKN Gallery Salaya ที่เป็นทั้งพื้นที่สำหรับการดำเนินงานของ JKN และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ในตัว

ขณะเดียวกัน ธุรกิจด้านคอนเทนต์ ยังเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะจากการเพิ่มขึ้นของช่องทีวีดิจิทัล ทำให้ JKN เนื้อหอมในหมู่ของสถานีต่าง ๆ มีการซื้อคอนเทนต์เพื่อไปออกอากาศเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเจาะตลาดคอนเทนต์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะคอนเทนต์จากแดนภาระ นำมาสู่ฉายาของ จักรพงษ์ ที่ว่า “เจ้าแม่ภารตะพันล้าน” และกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของ JKN จนถึงทุกวันนี้

หลังจากประสบความสำเร็จในการเป็นนักค้าคอนเทนต์แล้ว จักรพงษ์ตัดสินใจที่จะเปิดเผยตัวตนเรื่องเพศกับครอบครัว ก่อนที่เธอจะเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชนอีกครั้ง และลงทุนกับการศัลยกรรมเพื่อเป็นผู้หญิงข้ามเพศอย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ ในปี 2560 JKN เติบโตขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอไอ เริ่มทำการซื้อขายวันแรก เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2560 ในชื่อย่อหลักทรัพย์ “JKN”

จากคอนเทนต์ภารตะ สู่ “CNBC” และ “ช่อง 18”

แม้ แอน จักรพงษ์ จะประสบความสำเร็จในด้านการซื้อ-ขายคอนเทนต์ จนได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว แต่เพราะความทะเยอทะยาน และความกล้าได้ของ แอน จักรพงษ์ ทำให้มีปรากฏการณ์บนหน้าสื่อสารมวลชนไทยอีกครั้ง ด้วย 2 บิ๊กดีลด้านคอนเทนต์ของ JKN

ซื้อแบรนด์สำนักข่าวเศรษฐกิจระดับโลก CNBC

บิ๊กดีลแรก คือ การซื้อลิขสิทธิ์ CNBC แบรนด์สำนักข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนระดับโลกของ NBCUniversal โดย JKN ทุ่มงบฯลงทุนไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท แลกกับการได้รับสิทธิในการนำคอนเทนต์ของ CNBC มาแปลเป็นภาคภาษาไทย รวมถึงผลิตใหม่เป็นภาคภาษาไทย โดยใช้โครงสร้างรายการแบบเดียวกับ CNBC เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2570 ภายใต้ชื่อ JKN-CNBC

การลงทุนใน JKN-CNBC ไม่ใช่เพียงแค่การได้รับสิทธิใช้แบรนด์ และได้สิทธิผลิตรายการตามรูปแบบหรือไบเบิลของ CNBC เท่านั้น แต่รวมไปถึงการทำสตูดิโอออกอากาศ และระบบการออกอากาศต่าง ๆ ซึ่งลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท จากเม็ดเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท

เทคโอเวอร์ ทีวีดิจิทัล ช่อง 18

บิ๊กดีลถัดมา นับเป็นดีลที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการทีวีดิจิทัล คือ การเข้าซื้อธุรกิจทีวีดิจิทัล บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด หรือ ช่อง new 18 จากตระกูล “เหตระกูล” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดินของช่อง มูลค่าลงทุนรวม 1,060 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด 50 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท และค่าตอบแทนรับโอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระคืนเงินกู้ จาก บริษัท สร้างกิจรุ่ง จำกัด มูลค่าประมาณ 1,055 ล้านบาท

แต่เมื่อบวกค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งปันผลผู้ถือหุ้น และค่าใชจ่ายของ กสทช. รวมแล้วเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นกว่า 1,400 ล้านบาท

ดีลการเข้าซื้อช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 18 ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การได้มาของช่องทีวีดิจิทัล อาคารที่ทำการ และทรัพย์สินต่าง ๆ เท่านั้น แต่กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ต่อยอดบริษัทคอนเทนต์ สู่โมเดลใหม่ “คอนเทนต์ คอมเมิร์ซ คอมปะนี (Content Commerce Company)” เชื่อมต่อคอนเทนต์ต่าง ๆ สู่การขายผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ของ JKN ได้อย่างเต็มตัว พร้อมกับขยายฐานผู้ชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ของ JKN ในกลุ่มทีวีดิจิทัลมากขึ้น จากเดิมเป็นผู้ชมทางทีวีดาวเทียมมากกว่า

อย่างไรก็ดี แม้ JKN จะมีทีวีดิจิทัลเป็นของตัวเองแล้ว แต่การขายคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้แก่ทีวีดิจิทัลช่องอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไปตามเดิม

จากเจ้าของคอนเทนต์ สู่เจ้าของ “จักรวาลนางงาม”

ผ่านไปกว่า 1 ปี นับจากดีลการเข้าซื้อช่อง 18 แอน จักรพงษ์ และ JKN สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ให้กับวงการนางงาม เมื่อ JKN หรือ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้าซื้อกิจการและลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ของ Miss Universe Organization ธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาล จาก IMG Worldwide, LLC ผู้ถือหุ้นเดิม

แอน จักรพงษ์ เปิดเผยในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การลงทุนครั้งนี้มีมูลค่าราว 1 พันล้านบาท เพราะไม่ได้ซื้อเพียงตัวธุรกิจเท่านั้น แต่เราได้ดีลที่จะเข้าไปซื้อองค์กรมิสยูนิเวิร์ส 100% กับบริษัท Endeavor Group Holdinhs, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ​IMG Worldwide, LLC พร้อมทั้งยังได้บริษัทในเครือมาทั้งหมด และเป็นเจ้าของคนเดียว 100%

บิ๊กดีลสั่นสะเทือนวงการนางงามครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการได้สิทธิดูแลเวทีนางงามที่มีอายุยาวนานกว่า 7 ทศวรรษเท่านั้น แต่จักรพงษ์ยังมองไปถึงการต่อยอดเวทีนางงามระดับสากลนี้ ไปยังโลกของสินค้าไลฟ์สไตล์ในชื่อ MU Lifestyle โดยผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ภายใต้ Miss Universe Organization รวมถึงต่อยอดและพัฒนาไปยังรูปแบบต่าง ๆ ทั้งลิขสิทธิ์การจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สทั่วโลก ลิขสิทธิ์การจัดประกวดประเทศเจ้าภาพ การจำหน่ายบัตรเข้าชมการประกวด ลิขสิทธิ์การถ่ายทอด เรียลิตี้โชว์ โปรดักชั่น การประกวดนางงาม และโฆษณา

นอกจากนี้ ในด้านการประกวดนางงาม แอน จักรพงษ์ ประกาศการเพิ่มกติกาใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน 27 ปี ที่แต่งงานแล้ว หรือเคยแต่งงานแล้วหย่าร้าง หรือเป็นผู้หญิงข้ามเพศ สามารถเข้ามาประกวดได้ นับเป็นเวทีประกวดเวทีแรกของโลก ที่ให้ความเท่าเทียม

ระยะทางกว่า 22 ปี ของการเป็นนักซื้อ-ขายคอนเทนต์ระดับโลก แม้เส้นทางจะไม่ได้ราบเรียบ ผ่านไปได้อย่างง่ายดาย แต่ตลอดชั่วโมงบินใน 22 ปีที่ผ่านมา รวมถึงความกล้าสู้ กล้าเสี่ยงของหญิงข้ามเพศที่ชื่อ “แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ก็เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของการเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกคอนเทนต์ระดับแนวหน้าของไทย