เปิดประวัติ โฟร์ท นฤมล จิวังกูร MD หญิงไทยคนแรกของซิตี้แบงก์ ไทย

โฟร์ท นฤมล จิวังกูร ผู้บริหาร ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

เปิดประวัติ โฟร์ท นฤมล จิวังกูร นายแบงก์หญิง อดีตนักร้องอาร์เอส กับการเป็นหญิงไทยคนแรก ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ (MD) ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

หากพูดถึงชื่อ “โฟร์ท-นฤมล จิวังกูร” หลายคนอาจคุ้นเคยในฐานะนักร้องหญิงแห่งค่ายอาร์เอส เจ้าของผลงานเพลงต่าง ๆ ในยุค 90

แต่อีกบทบาทหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบาทหลัก คือ การเป็น “นายธนาคารหญิง (Banker)” และเป็นหนึ่งในผู้บริหารธนาคาร กับชั่วโมงบินบนเส้นทางสายการเงินที่เข้าใกล้ 3 ทศวรรษแล้ว

และล่าสุด ธนาคารซิตี้แบงก์ ประกาศแต่งตั้ง นางสาวนฤมล จิวังกูร ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย (Citi Country Officer for Thailand) ดูแลรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจภายในประเทศไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้บริหารคนเก่ง ให้ทำความรู้จักกัน

จบปริญญาโทด้านการเงิน ทำงานกับแบงก์ระดับโลก

นฤมล จิวังกูร หรือโฟร์ท เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2515 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะศิลปศาสตร์ (เอกภาษาอังกฤษ) และปริญญาโทจาก California State University คณะบริหารธุรกิจ (เอกบริหารการเงิน)

เริ่มต้นการทำงาน ด้วยการเป็นนักร้องจากการรวมกลุ่มกับเพื่อนนักร้องหญิง 3 คนคือ โฟร์ท นฤมล จิวังกูร , อัยย์ พรรณี วีรานุกูล และอ๊อด พิรุณ ยิ้มพงษ์ ออกอัลบั้มในนามวง “เอ็กซิท (Exit)” ชื่อชุด “ทางออกของความรู้สึก” ออกวางจำหน่ายเมื่อ เมษายน พ.ศ. 2536

ในปี พ.ศ. 2539 ได้ออกอัลบั้มร่วมกับ ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว และสามารถ สุขกนิษฐ อัลบั้ม “Something in R & B” ออกวางจำหน่ายเมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ก่อนที่จะยุบไปหลังจากนั้น

หลังจากยุบวงก็มีผลงานเพลงประกอบละคร ภาพยนตร์ และงานร้องประสานเสียงให้กับศิลปินมากมายหลายคน

และในปีเดียวกัน โฟร์ท นฤมล เริ่มต้นทำงานในสายงานธนาคารในปี 2539 ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ในสายงานห้องค้า (Global Markets) ในส่วน Trading ทำให้เธอได้เห็นสภาพการทำงานของตลาดการเงินที่ผันผวนท่ามกลางวิกฤตนั้นที่ต้องการการวิเคราะห์และการตัดสินใจฉับไวในตลาดเงิน

โฟร์ท นฤมล เล่าว่า ความท้าทายในการทำงานช่วงแรก ๆ คือผู้ร่วมงานรอบตัวซึ่งล้วนจบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เธอต้องใช้ความอดทน ความตั้งใจ พร้อมเรียนรู้และวิ่งเข้าหาโอกาส เพราะเวลาทุกนาทีมีค่าและสำคัญ

จากนั้นได้ย้ายไปทำงานในสายงานอื่น ๆ ใน Global Markets ไม่ว่าจะเป็น Corporate Sale ทำหน้าที่หลักดูแลด้านการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ของลูกค้าองค์กรต่าง ๆ รวมถึงการคิด Solution ในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนทางตลาดเงินโดยใช้ด้านตราสารอนุพันธ์

ทำหน้าที่ดูแล หา Solution และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านการเงินและการลงทุนให้ลูกค้าองค์กรและสถาบันการเงิน ทำให้ได้ประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ยึดเป็นหลักในการทำงานคือต้องทำให้ดีเพราะนี่คืองานที่ได้รับมอบหมาย

นายแบงก์หญิงคนนี้ เคยเล่าว่า “ค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร แล้วขับเคลื่อนตัวเองไปหาสิ่ง ๆ นั้น การเปิดรับความท้าทายใหม่ ๆ จะทำให้เราเรียนรู้ ได้ประสบการณ์ และค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่เราสนใจมากที่สุด”

เส้นทางการเป็นนายแบงก์หญิง ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 2558 โฟร์ท นฤมล เข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินตลาดทุน และหลักทรัพย์บริการ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ซึ่งคือตำแหน่งปัจจุบัน และเป็นผู้หญิงคนแรกในสายงานนี้ขององค์กรในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ช่วงที่รับตำแหน่งใหม่ ๆ มีคนกล่าวกับเธอว่า “ยินดีต้อนรับสู่เกมของผู้ชาย” แม้จะเป็นคำกล่าวทักทายที่ทำให้ตกใจในครั้งแรกที่ได้ยิน แต่นั่นถือเป็นคำแนะนำและนำมาใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะการดึงเอาจุดเด่นและข้อดีของการเป็นผู้หญิงเข้ามาเติมเต็มในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

กระทั่งล่าสุด วันนี้ (3 พ.ค. 2566) ธนาคารซิตี้แบงก์ ประกาศแต่งตั้ง นางสาวนฤมล จิวังกูร ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย (Citi Country Officer for Thailand) ดูแลรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจภายในประเทศไทย โดยขึ้นตรงต่อ นายอมล กุปเต ผู้บริหารใหญ่ธนาคารซิตี้แบงก์ ภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน (Head of South Asia and Asean for Citi) และมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

“นายแบงก์” คืองานหลัก “นักร้อง” คืองานอดิเรก

หลังจากงานหลักของ โฟร์ท นฤมล เปลี่ยนเป็น นายธนาคาร ตามสายที่จบการศึกษามา แต่เส้นทางการเป็นศิลปิน นักร้อง ยังไม่ได้หายไปไหน

โฟร์ท นฤมล ตัดสินใจทำงานเป็นนายธนาคารควบคู่ไปกับการเป็นศิลปิน โดยใช้วันหยุดจากการทำงานที่ธนาคารไปทำงานอดิเรกที่รักคือการร้องเพลงโดยที่ผู้ใหญ่ของทั้งสององค์กรเข้าใจและให้โอกาส

เส้นทางการเป็นศิลปินเดี่ยว เริ่มต้นขึ้นในสังกัด อาร์.เอส.โปรโมชั่น หลังเซ็นสัญญาออกอัลบั้มเมื่อปี 2541 โดยได้มีผลงานอัลบั้มออกมาจำนวนมากในช่วงระหว่างปี 2542-2548 ดังนี้

  • ปี 2536 : อัลบั้ม Exit
  • ปี 2539 : อัลบั้ม Something in R&B
  • ปี 2542 : อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ “แตก 4 รัก โลภ โกรธ เลว”
  • ปี 2542 : อัลบั้ม Fourth
  • ปี 2543 : อัลบั้ม ธรรพ์ณธร-โฟร์ท Fire&Ice
  • ปี 2543 : อัลบั้ม Magic Love
  • ปี 2544 : อัลบั้มพิเศษ “The Celebration”
  • ปี 2544 : อัลบั้มพิเศษ “Impression”
  • ปี 2544 : อัลบั้มพิเศษ “Zodiac”
  • ปี 2545 : อัลบั้ม Fourth Secret
  • ปี 2545 : อัลบั้มพิเศษ “Inspiration”
  • ปี 2546 : อัลบั้ม ธรรพ์ณธร-โฟร์ท แสงและเงา
  • ปี 2547 : อัลบั้มพิเศษ “DREAMS by Parn Fourth Piano”
  • ปี 2547 : อัลบั้มพิเศษ “Unforgettable”
  • ปี 2548 : อัลบั้ม Real Me
  • ปี 2548 : อัลบั้มพิเศษ “คิดถึงแม่ เรียงความเรื่องแม่”
  • ปี 2548 : อัลบั้มพิเศษ “All My Life”

โดยผลงานเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่างมากมาย อาทิ นาฬิกาทราย, คนที่ใช่ (ในวันที่ผิด), ไม่มีฉันคนนั้นอีกแล้ว, หมายความว่ายังไง และเพลง เหตุผล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากออกอัลบั้มพิเศษ “All My Life” โฟร์ท นฤมล ก็หันหลังให้กับวงการบันเทิง ก่อนจะกลับมาร้องเพลงอีกครั้ง เมื่อปี 2562 ในเพลง “เจ็บเพื่อรัก” ซึ่งเป็นเพลงประกอบละคร เพลิงรักเพลิงแค้น ทางช่อง 3

ความสำเร็จของการเป็น “นายแบงก์หญิง”

ตลอดช่วงที่ โฟร์ท นฤมล ทำหน้าที่เป็นนายแบงก์หญิง เคยได้รับรางวัล Best Secondary Market Contribution จากกระทรวงการคลัง ในงาน Ministry of Finance Award 2019 (MOF Award) รางวัลที่มอบให้สถาบันการเงินคู่ค้าพันธบัตรของกระทรวงการคลังที่มีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมสภาพคล่องของพันธบัตรรัฐบาล โดยมีมูลค่าธุรกรรม ซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองสูงสุดในปี 2019

ถือเป็นรางวัลสำคัญต่อสายงานที่เธอกำลังทำอยู่ อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนในองค์กรต้องเดินก้าวไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดอยู่กับที่ พร้อมพัฒนา ทุกอย่างให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ให้ความสำคัญกับทุกคนในองค์กร

ตลอดระยะเวลาการทำงาน เธอเผยว่าจะให้ความสำคัญกับบุคลากรหรือทีมงาน เพราะองค์กรไม่สามารถขับเคลื่อนได้เพียงแค่คนเดียว เนื่องจากโลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงทุกวัน หากมีบุคลากรที่พร้อมก้าวไปข้างหน้าก็จะสามารถนำพาทุกคนและองค์กรไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

และไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร ทุกคนต้องช่วยกันเติมเต็มสิ่งที่อีกฝ่ายขาด พร้อมเลือกใช้ข้อดีของแต่ละฝ่ายที่มี เพื่อให้เกิดความสมดุล การทำงานต้องไม่กลัวที่จะกล่าวคำปฏิเสธ ต้องกล้าบอกสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึก หรือความตั้งใจที่จะทำ องค์กรเปิดกว้างและเห็นความสำคัญของบุคลากร สนับสนุนให้พนักงานแสดงความสามารถและมีโอกาสเติบโตในสายงาน

ข้อมูลจาก ข่าวสด, แพรว