
เปิดประวัติ นายแพทย์บุญ วนาสิน หมอผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร และเป็นผู้ก่อตั้งธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG)
นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือที่รู้จักในชื่อ หมอบุญ ก่อตั้ง และ ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เขายังไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากนัก จนกระทั่งเขาออกมาคุยว่า สามารถนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดบางชนิด มาช่วยคนไทย และรัฐบาลไทยได้ แต่เรื่องไม่คืบหน้า จึงทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เป็นที่รู้จักของคนไทย ในช่วงการระบาดของโควิด-19
ประวัติ และการศึกษา
หมอบุญ เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2481 (อายุ 86 ปี) เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ (บางรัก) และสำเร็จการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณพิต มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาหมอบุญเดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา
โดยเริ่มจากการเป็นอินเทิร์นที่ School of Medicine ของ Virginia Commonweath University ในรัฐ Virginia 1 ปี ต่อด้วยเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาล Sinai Hospital ในรัฐ Maryland อีก 2 ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ โดยเลือกเรียนในสาขาระบบทางเดินอาหาร
มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ก่อตั้งโดยจอนส์ ฮอปกินส์ ในปี พ.ศ. 2419 นับเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในด้านการวิจัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงโดยเฉพาะด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และการพยาบาล
นายแพทย์เหลือพร ปุณณกันต์ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ กรรมการผู้จัดการศิริราชมูลนิธิ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้น้องร่วมมหาวิทยาลัยมหิดลกับหมอบุญบอกว่า “จอนส์ ฮอปกินส์ เป็นมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ที่คนแย่งกันไปเรียน เพราะติดระดับ Top 5 ของสหรัฐอเมริกา ปกติจะเปิดรับจำนวนจำกัดมาก เพราะส่วนใหญ่ก็จะรับคนที่เป็น American Citizen”
นายแพทย์เหลือพรกล่าวว่า “พี่บุญ” ต้องสอบบอร์ดการเป็นแพทย์ และการสอบบอร์ดแพทย์ระบบทางเดินอาหารนั้นจะต้องเก่งมากถึงอยู่ได้จนจบ จะต้องเก่งกว่าคนที่เป็น American Citizen เพราะคนสัญชาติอเมริกันบางคนยังอยู่ที่นี่ได้แค่ปีหนึ่ง จะขึ้นปีสองไม่ผ่านก็ต้องออกไปอยู่ที่อื่น
หมอบุญเรียนด้านระบบทางเดินอาหารอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ 3 ปี เป็น Fellow อีก 2 ปี จบการศึกษาภายใน 5 ปี ในขณะที่คนอื่นใช้เวลาเรียนอยู่ถึง 6 ปี นายแพทย์เหลือพรกล่าวว่า “จบเร็วกว่าชาวบ้าน เพราะความเก่งบวกนิสัยไม่ยอมแพ้”
ด้านการทำงาน
เริ่มงานในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานที่ประเทศไทยในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จนขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ก่อนที่ในปี 2519 นายแพทย์บุญ วนาสิน จะร่วมกับกลุ่มแพทย์ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรีที่นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 46 ปี
หมอบุญตั้งโรงพยาบาลธนบุรีขึ้นปี 2519 ก็ด้วยแนวคิดเพื่อใช้เป็นที่รองรับคนไข้ที่ล้นมาจากโรงพยาบาลศิริราช ในสมัยนั้น โรงพยาบาลธนบุรีได้ชื่อว่าเป็น “ศิริราช 2” ก็เพราะได้ “อาจารย์หมอ” จากศิริราชมาประจำอยู่ครบแทบทุกสาขา
ปัจจุบันโรงพยาบาลธนบุรี อยู่ในเครือข่ายบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ประกอบด้วย 3 ธุรกิจ คือ
1.ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก มีโรงพยาบาลในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงดำเนินกิจการผ่านบริษัทในเครือ กิจกรรมร่วมค้า และโรงพยาบาลที่รับจ้างบริหาร
2.ธุรกิจบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์
3.ธุรกิจอื่น ๆ สามารถขยายกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายโรงพยาบาลในประเทศ 18 แห่ง มีขนาดเตียงจดทะเบียน รวมกว่า 1,100 เตียง รองรับผู้ป่วยนอกได้มากกว่า 5,800 คนต่อวัน และมีโรงพยาบาลในประเทศเมียนมา เมืองย่างกุ้งอีก 1 แห่ง ขนาด 200 เตียง ในชื่อ Ar Yu International Hospital
บทบาทของหมอบุญในช่วงโควิด-19
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายแพทย์บุญ วนาสิน เป็นผู้เสนอแนวคิดผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า “ควรให้มีการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นด่านหน้าควรได้รับวัคซีนชนิด mRNA ก่อนเป็นกลุ่มแรก กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งมีจำนวนมาก และควรจะได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด”
ต่อมาหมอบุญเผยว่าเตรียมนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์จากเยอรมนี 20 ล้านโดส และเป็นวัคซีนไฟเซอร์ชนิดเดียวกันกับที่บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับใช้ในไทยได้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว จึงกระจายส่งมอบและฉีดได้ทันที โดยคิดราคาประมาณ 900 บาทต่อโดส
ไม่เพียงแค่เรื่องการจัดหาวัคซีนเท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้หมอบุญก็เคยออกมาพูดถึงการนำเข้าวัคซีน จนถูกองค์การเภสัชกรรมจ่อว่าจะฟ้องร้องมาแล้ว ในประเด็นที่ว่าการนำเข้าวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” อาจต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ประมาณ 2 รอบ รอบแรกมาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้แทน
ส่วนรอบที่ 2 โรงพยาบาลเอกชน ซื้อต่อจาก อภ.อีกครั้ง บวกกับค่าบริหารจัดการที่ อภ.จะคิดอีก 5-10% รวมทั้งหมดแล้วอาจสูงสุดที่ 24% ทำให้ต้นทุนวัคซีนเพิ่มขึ้นไปที่ 2,000 กว่าบาท องค์การเภสัชกรรมจึงออกแถลงการณ์แจ้งความดำเนินคดี ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา อันเป็นเหตุให้องค์การเภสัชกรรมได้รับความเสียหาย
ซึ่งเจ้าตัวก็ยินดีที่จะให้ฟ้องร้อง เพื่อให้องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยหลักฐานการนำเข้าวัคซีนให้ชัดเจน จนชาวเน็ตออกโรงปกป้องและเกิด #Saveหมอบุญ ขึ้นมา
“เขาพูดแซะทุกอย่าง ผมยังไม่รู้ว่าเขาจะฟ้องร้องอะไร อย่างไร แต่ก็ดีนะ จะได้เปิดเผยในศาลเลยว่า คุณซื้อซิโนแวคอย่างไร เท่าไร เพราะตามกฎหมาย เป็น nondisclosure เขามีสิทธิที่จะไม่เปิดเผย แต่ถ้าเขาฟ้องผม แล้วศาลสั่ง เขาก็ต้องเอาตัวเลขทั้งหมดมาเปิดดู เราจะได้รู้รายการอื่น ๆ ด้วย รู้จำนวนเงินด้วย” หมอบุญให้สัมภาษณ์กับมติชน
พร้อมทั้งเคยเชือดนิ่ม ๆ ว่า “อย่าให้พูดนะว่านักการเมืองหรือข้าราชการ คนไหนฉีดไฟเซอร์ไปแล้ว เอกสารมีหมด”