นายกฯ 8 ปี ถ้าพรุ่งนี้ ไม่มีประยุทธ์ เป็นรัฐบาล จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปม 8 ปีประยุทธ์ที่จะเดินทางมาสู่คำตัดสินชี้ชะตาในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.) เป็นที่จับตามองจากสังคมไทย สังคมโลก เพื่อติดตามศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 8 ปีหรือไม่

14 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาเอกสารเพิ่มเติม วาระการดำรงตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565

เหลือไว้แต่การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตำแหน่งเดียว มาแล้ว 20 วัน

แม้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะยังไม่สิ้นสุดลง ตามคำร้องของพรรคฝ่ายค้าน 171 คน แต่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

แต่กระนั้นแผนการต่าง ๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน จัดโครงสร้างอำนาจ ถูกกะการไว้ล่วงหน้า ราวกับรู้ชะตาที่จะถูกชี้ด้วยองค์อำนาจแห่งองค์กรอิสระ

อย่างน้อยโผโยกย้ายนายทหาร 765 นาย ถูกจัดวางไว้อย่างถูกที่-ถูกเวลา ทั้ง 4 เหล่าทัพ รวมกองบัญชาการกองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม ล็อกเก้าอี้อนาคตให้แม่ทัพภาคที่ 1 ไว้ล่วงหน้า

ส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่พลิกโผ ทั้งระดับผู้บัญชาการ และนายพลทั้ง 255 นาย

ส่วนข้าราชการระดับสูง ทั้งปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงความมั่นคง ลงไปถึงระดับอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็นยุทธศาสตร์รับการเลือกตั้งถูกทยอยจัดวาง ระหว่างที่มีรักษาการนายกรัฐมนตรี

งบประมาณปกติ-งบฯกลางฉุกเฉิน ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ถูกอนุมัติผ่าน พร้อมใช้เงิน 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

ความเห็นนักกฎหมายพญาครุฑ

14 กันยายน 2565 คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดี ตามเอกสารของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เผยแพร่หลังประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ระบุว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 วันที่ 11 ก.ย. 2561 มีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 2561 โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 13 ก.ย. 2565 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไป วันที่ 14 ก.ย. 2565”

20 วันหลังศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว มีความเห็นของนักกฎหมาย ทั้งในฐานะพยานบุคคลและพยานเอกสาร ที่ทยอยหล่นพ้นจากแฟ้มลับ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ พญาครุฑทางกฎหมาย ตามฉายาที่ตั้งโดยที่ นายวิษณุ เครืองาม ส่งปากคำไว้ว่า “คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือวันที่ 6 เมษายน 2560”

“และโดยผลดังกล่าว บทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้ จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป”

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่นายมีชัยเคยให้ฉายาไว้ว่า เป็นมือกฎหมายระดับพยัคฆ์ ให้ความเห็นการนับวาระนายกรัฐมนตรีไว้ว่า ไม่ใช่เริ่มวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามที่ฝ่ายค้านร้อง แต่ถ้าศาลบอกว่านับวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ต้องกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ ก็รักษาการไป ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ และจนกว่านายกฯ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ ถึงจะพ้นไป

ส่วนคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ 20 กว่าหน้า ก็หลุดออกมา แทงทะลุทะลวงคำร้องของฝ่ายค้าน ระบุว่า “และความเป็นนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าที่เริ่มต้นใหม่ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นั้น ขาดตอนจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว”

ไม่นับรวามเมควห็นทั้งปวงของเครือข่ายนักกฎหมาย ระดับกูรูฝ่ายอนุรักษนิยม ที่เห็นปใไนทิศทางเดียวกันว่า วาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุด ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ครบ 8 ปี ตามที่ฝ่ายค้านร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

หากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม หากศาลชี้ไปทางตรงกันข้ามกับที่นักกฎหมายฝ่ายรัฐบาลเชื่อมั่น การเมืองจะพลิกผันไปอีกทาง แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่ง อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไข

ในกรณีที่ 1.ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 อาทิ ตาย, ลาออก, สภาลงมติไม่ไว้วางใจ, ใช้สถานะแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ, ถือหุ้นในเอกชนเกิน 5%

2.สภาครบวาระ หรือยุบสภา 3.ครม.ลาออกทั้งคณะ 4.ให้ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย (ดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี)

ทั้ง 4 เงื่อนไข รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นายกรัฐมนตรี “รักษาการ” จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

คณะรัฐบาล รักษาการ ทำอะไรได้บ้าง

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่ง จากการ “ยุบสภา หรือสภาครบวาระ 4 ปี”

ในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 กำหนด “ข้อปฏิบัติ” สำหรับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ไว้ดังนี้

1.ไม่อนุมัติโครงการ หรือมีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่กำหนดไว้ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2.ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เว้นแต่ กกต.อนุมัติ

3.ไม่อนุมัติงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉิน-จำเป็น เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุญาต

4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ กระทำอันใดที่มีผลต่อการเลือกตั้ง หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ระเบียบของ กกต.

หากศาลชี้ “ประยุทธ์” พ้นจากเก้าอี้-ครบวาระนายกฯ 8 ปี

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 158 วรรคสี่ หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปีแล้ว อำนาจที่เหลือของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี มีดังนี้

1.พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่ง รักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็ยังมีอำนาจเต็ม เท่ากับนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ

2.มีกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

3.ดำเนินการตามขั้นตอน เริ่มจากสภาเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองที่เสนอไว้ตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.ทั้งหมด ณ ตอนนี้คือ 48 คน ในการเสนอชื่อ

4.การลงคะแนนเลือกนายกฯ ต้องทำโดยขานชื่อ เปิดเผย และต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว. ตอนนี้คือ 363 คน จาก 726 คน (ส.ส. 477 คน ส.ว. 249 คน)

5.กรณีถ้าไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของแต่ละพรรคการเมืองได้ สมาชิกทั้ง 2 สภา ส.ส.-ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ 363 คน สามารถเข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรี จากนอกบัญชีของพรรคการเมืองได้ โดยให้รัฐสภามีมติยกเว้น ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯในบัญชีเสียก่อน

6.จากนั้นรัฐสภาจะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 (484 เสียง) ให้สภาเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ แล้วค่อยดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี ในขั้นตอนตามปกติก่อนหน้านี้ คือการเสนอชื่อนายกฯ จะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 และการลงคะแนนจะต้องทำโดยเปิดเผย และต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง

7.กรณีที่ถ้าเสียงในรัฐสภาไม่พอ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลรักษาการ ทำหน้าที่ต่อไป

กระบวนการทั้งหมดนี้ จะเริ่มขึ้นทันที หากมติศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำร้องของฝ่ายค้าน ฉากทัศน์ทางการเมืองจะพลิกโฉม-เปลี่ยนแปลงทุกองคาพยพ