ประยุทธ์ เปิดแผนเกลือจิ้มเกลือ ตีโต้ฝ่ายค้าน วาระนายกฯ 8 ปี

คดี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นหนังดราม่า แถมเกมซ่อนกลอีกหลายชั้นมีเดิมพันสูงถึงขั้นเก้าอี้ผู้นำประเทศ

การต่อสู้หลังม่านทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ กับฝ่ายที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากอำนาจจึงต้องละเอียดทุกเม็ด

อย่างไรก็ตาม คำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นพี่ใหญ่ ดูเหมือนจะมี “ช่องโหว่” ให้ทีม พล.อ.ประยุทธ์โต้แย้ง

หากถอดรหัสคำร้องของพรรคฝ่ายค้าน ช่วงหนึ่งมีการอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 7/2562 วันที่ 27 สิงหาคม 2562 ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง กับ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ที่ 1, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ 2, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ 3, และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ที่ 4 หรือคดี 4 รัฐมนตรี

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก 4 รัฐมนตรีดังกล่าว ในรัฐบาล คสช.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ ก็ต้องนำในมาตรา 186 และมาตรา 187 (เรื่องการถือหุ้นในบริษัทเอกชน เกิน 5% กับถือหุ้นสัมปทานรัฐ) มาบังคับใช้ด้วย

โดยฝ่ายค้านนำมาเทียบเคียงว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 264 ที่ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

แต่ไม่ได้ยกเว้น ไม่ให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ เรื่องการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี มาบังคับใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อาจเป็นนายกฯต่อเนื่องถึง 8 ปี

แต่คำวินิจฉัยเดียวกันนั้น ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์กลับนำมาใช้ประโยชน์ เป็นข้อโต้แย้งในชั้นศาล

“เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 4 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งจะต้องนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 มาใช้บังคับด้วย”

“เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 วันที่ถือว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 จึงเป็นวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น ผู้ถูกร้องทั้งสองรวมทั้งคู่สมรสและบุตรจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2560”

คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จากคำวินิจฉัยข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2562 กลับชี้ให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของผู้ที่เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

และกลายสถานะมาเป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพราะผลของบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ต้องอยู่บริหารราชการแผ่นดินต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะเข้ารับหน้าที่นั้น

มีความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยให้ถือเอาวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นวันที่ผู้นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264

“ซึ่งจากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2562 ข้างต้น ตามที่ผู้ร้องอ้างอิงนี้ เมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรณีที่ผู้ร้องกล่าวหาข้าพเจ้าแล้ว กลับกลายเป็นปฏิปักษ์กับข้อกล่าวหาของผู้ร้อง และสอดคล้องเจือสมกับคำชี้แจงโต้แย้งของข้าพเจ้าที่ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ได้สิ้นสุดลงแล้ว”

“และความเป็นนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าที่เริ่มต้นใหม่ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นั้น ขาดตอนจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว”

พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ยุทธวิธี เกลือจิ้มเกลือ หักล้างสำนวนฝ่ายค้าน