ศาลรัฐธรรมนูญ แถลง ยังไม่ตัดสินคดีนายกฯ 8 ปี วันที่ 8 ก.ย.นี้

เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เผยประธานศาลเสียใจ เอกสารหลุด กระทบคนให้ความเห็น ยังไม่ตัดสินชะตากรรมนายกฯประยุทธ์ วันที่ 8 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงถึงกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุม ในวันที่ 8 กันยายน 2565 พิจารณาคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่ ว่า ในการให้ข่าวศาลในการพิจารณาคดีดังกล่าว นับแต่ศาลพิจารณารับคำร้องเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม และดำเนินการตามวิธีพิจารณามาตลอด อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตามปกติ

ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดในวันที่ 8 กันยายน ไม่ใช่การไปเร่งเวลา หรือทำให้เวลาช้าลงแต่อย่างใด การดำเนินการของศาลเป็นไปตามลำดับขั้นตอนกระบวนการพิจารณาของศาลตามปกติ แต่ถามว่า คดีนี้มีความสำคัญหรือไม่ ก็ถือว่ามีความสำคัญ ศาลให้ความสำคัญตามความสำคัญของคดีพร้อมกันไปด้วย แต่ไม่ใช่เป็นการเร่งรัด หรือทำให้ช้า หรือเป็นการลัดขั้นตอน

ส่วนการดำเนินการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 กันยายน 2565 นั้น ผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรขอให้ติดตาม ส่วนข่าวที่มีผลออกมาเป็นเสียงข้างมากข้างน้อยเท่านั้นเท่านี้ ตามกระบวนการยังไม่ไปถึงขั้นที่จะทราบได้ว่ามติเป็นอย่างไร เพราะกระบวนการพิจารณาในวันที่ 8 กันยายน เป็นเพียงการนำพยานหลักฐานที่ศาลขอมาจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาดูว่าเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้หรือไม่

“ดังนั้น การที่มีข่าวทำนองว่าจะมีการนัดอ่านคำวินิจฉัยในอีก 15 วัน หรืออย่างไรนั้น ยังไม่มีเงื่อนไขของการนัดเวลาที่จะอ่านคำวินิจฉัย เพราะลำดับขั้นตอนเมื่อศาลพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้มา จะมีการอภิปรายว่าอยู่ในชั้นที่พอพิจารณาตัดสินได้หรือไม่ ถ้ายังไม่พอ ศาลก็จะแสวงหาเพิ่มเติมด้วยวิธีที่กฎหมายกำหนด เช่น ขอพยานเอกสารจากบุคคล หรือขอให้บุคคลมาให้ถ้อยคำก็ได้ หรือขอให้หน่วยงานราชการ พนักงานสอบสวน มาให้การอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นประโยชน์ในการพิจารณาต่อศาลก็ได้” นายเชาวนะกล่าว

นายเชาวนะกล่าวว่า ส่วนกรณีหนังสือคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลุดหรือรั่วไปในสื่อโซเชียลมีเดีย ในเรื่องนี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญและมีความกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะต้องติดตามตรวจสอบต่อไปว่าเป็นเอกสารที่มีที่มาอย่างไรต่อไป และยังกังวลเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ กระทบ กราบเรียนสื่อมวลชนให้ทราบว่า ประธานไม่ได้นิ่งนอนใจ ให้ดำเนินกระบวนการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป

“ท่านมีความเสียใจอย่างยิ่งว่า การรั่วไหลของเอกสารนั้น แม้จะยังไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่กระทบต่อผู้ให้ความเห็น มีการพาดพิงเกี่ยวโยงไปยังคู่ความในส่วนต่าง ๆ ของคดีด้วย ขอสื่อมวลชนให้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวยังอยู่ในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของศาล ยังไม่ได้สรุปว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ประธานก็แสดงความห่วงใย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ให้ตรวจสอบว่าหลุดได้อย่างไรใช่หรือไม่ นายเชาวนะกล่าวว่า เนื่องจากเอกสารระบุให้ความเห็นของนายมีชัย ถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในข้อเท็จจริงศาลได้มีการขอความเห็นไปจริง แต่เอกสารที่รั่วไหลเนื่องจากเป็นเอกสารอ้างอิงว่านายมีชัยส่งให้ศาล ก็มีความจำเป็นที่ศาลต้องตรวจสอบด้วย

ส่วนเป็นเอกสารจริงหรือปลอมนั้น ไม่ได้มุ่งไปทางนั้น เบื้องต้นเพื่อให้เห็นว่า มาตรการต่าง ๆ ที่เรากำหนดควบคุมไว้ทุกขั้นตอน มีข้อบกพร่องที่ทำให้เกิดเหตุเช่นนั้นได้หรือไม่ ส่วนเป็นเอกสารจริงหรือไม่ก็ไว้ทีหลัง แต่ในชั้นต้นการตรวจสอบมีความเกี่ยวข้องกับสำนวนคดี ศาลก็ต้องตรวจสอบด้วย เป็นการตรวจสอบในชั้นธุรการ ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบในชั้นดำเนินคดี

เมื่อถามว่า จะถึงขั้นเอาผิดที่ทำเอกสารหลุดได้หรือไม่ นายเชาวนะกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเรื่องว่าเป็นไปในทางไหนอย่างไร แต่เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ให้ความเห็นและผู้เกี่ยวข้อง จนทำให้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ และมีการคาดการณ์ถึงผลของความเห็นดังกล่าวว่าจะมีการตัดสินทางนั้นทางนี้ เป็นผลกระทบที่เกี่ยวเนื่อง โดยหลักเมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านประธานเห็นว่าควรมีการตรวจสอบในเบื้องต้นเสียก่อน

เมื่อถามว่า เป็นเอกสารที่หลุดออกมาเป็นของจริงหรือไม่ นายเชาวนะกล่าวว่า “ยังยืนยันไม่ได้ เพราะเราก็เห็นแบบเดียวกับสื่อเห็นในโซเชียล” นายเชาวนะกล่าว

นายเชาวนะกล่าวอีกว่า ท่านประธานฝากย้ำว่าท่านห่วงและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ยังไม่รู้ว่าเอกสารมีที่มาจากไหน แต่ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้ให้ความเห็นต่อศาลและเกี่ยวข้องกับคดีนี้ด้วย

“ในส่วนที่เป็นการคาดการณ์จากคนภายนอก หรือคนอื่นคนใด ศาลเพียงแต่รับฟังไม่ได้มีส่วนในการเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ศาลจะเอาข้อเท็จจริงในสำนวนมาพิจารณา ไม่ได้ตำหนิติเตียนทั้งสิ้น ศาลมีความเป็นกลาง เป็นอิสระ ตั้งมั่นอยู่ในความยุติธรรม และตุลาการทั้ง 9 ท่าน ล้วนเป็นอิสระ ไม่มีท่านใดรู้ว่าแต่ละท่านวินิจฉัยเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ณ เวลานี้เมื่อยังไม่ได้ข้อยุติว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่พอแล้วหรือยัง ก็ยังไกลเกินไปที่จะบอกว่าท่านตัดสินแล้ว หรือในใจ ด่วนสรุปเร็วเกินไป” นายเชาวนะกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ วันที่ 17 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ต่อมา ในวันที่ 24 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของฝ่ายค้านด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 พร้อมกับสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ด้วยเสียง 5 ต่อ 4 ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญระบุในการรับคำร้องว่า

“สำหรับคำขอร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง ศาลพิจารณาคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมากให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย”

ต่อมา 1 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้องได้ยื่นคำชี้แจงถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นเอกสารกว่า 30 แผ่น โดยมี พล.ต.วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

กระทั่งในวันที่ 5 กันยายน ได้มีรายงานจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณาคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์

วันที่ 6 กันยายน ปรากฏเอกสารที่ระบุว่า เป็นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลุดออกมาทางโซเชียลมีเดีย โดยระบุตอนหนึ่งถึงวาระการเป็นนายกฯ นับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560

“รัฐธรรมนูญมาตรา 264 ครม.รวมทั้งนายกฯที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับคือวันที่ 6 เมษายน 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้”

“จึงมีผลต่อ ครม.และนายกฯดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป”