ประวิตร กล่าวถ้อยแถลงด้านการศึกษา ในการประชุมยูเอ็น สหรัฐ

ประวิตร กล่าวถ้อยแถลงด้านการศึกษา ในการประชุมยูเอ็น สหรัฐ

“ประวิตร วงษ์สุวรรณ” กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (TES 2022) ย้ำการเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค ครอบคลุม เท่าเทียม โปร่งใส และการพัฒนาครู

วันนี้ 20 กันยายน 2565 เวลา 04.40 น. (ซึ่งตรงกับวันที่ 19 กันยายน 2565 เวลา 17.40 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit 2022 : TES) ในช่วง Leaders’ Round Tables ซึ่งอยู่ระหว่างสัปดาห์ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 (77th Session of the United Nations General Assembly : UNGA 77)

เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้นำแต่ละประเทศต่อประเด็นการศึกษาทั่วโลกที่อยู่ในสภาวะวิกฤตและการพัฒนาการศึกษาเพื่อบรรลุสันติภาพ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยมีสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้จัดการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา เชื่อมั่นว่า จะเป็นโอกาสดีที่ผู้นำของแต่ละประเทศให้ได้แสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด พื้นฐานสำคัญของการพัฒนากำลังคนและประเทศ

โดยได้บรรจุการพัฒนาการศึกษาไว้ในแผนมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ ผู้เรียนรู้ ผู้สอน และ ระบบการศึกษา ผ่านการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันการกลับเข้าสู่การเรียนอย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน ด้วยมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพของระบบการศึกษา

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ความรู้ และทักษะที่มอบให้แก่ผู้เรียนนั้น มีความจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต รัฐบาลไทยจึงส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการปรับปรุง หลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอดรับกับความคาดหวังของนายจ้าง โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย

รวมทั้งการลดภาระของผู้เรียนและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ สถาบันการศึกษา โดยการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น เพื่อการส่งเสริม การลงทุนด้านการศึกษาที่เพียงพอ เท่าเทียม ยุติธรรม โปร่งใส และการพัฒนาครูให้สามารถใช้ทักษะการสอนเชิงนวัตกรรม เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ครูสามารถดูแลห้องเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่หลากหลายได้

รัฐบาลไทย ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัลใต้ความเป็นศูนย์กลางของผู้เรียน รวมทั้งเน้นการศึกษาออนไลน์อย่างครอบคลุม เสมอภาค โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านแพลตฟอร์มที่เปิดให้เข้าถึงได้โดยทั่วไป


รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าถึงความมุ่งมั่นของไทยในการทำงานร่วมกับสหประชาชาติและประเทศสมาชิกเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านการพลิกโฉมการศึกษา