นายกฯเพื่อไทยคู่แข่งอุ๊งอิ๊ง

เพื่อไทย แพทองธาร
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รวมทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างยืนยัน 3 ชื่อว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

แม้ว่าความจริงหลังฉากจะจัดเตรียมไว้ถึง 5 ชื่อ ทุกชื่อมีคำจำกัดความ เพื่อแก้โจทย์ ทั้งเรื่องดีลกับคนรุ่นใหม่ เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมอย่างถ่องแท้ ไม่แพ้หากขึ้นเวทีดีเบต

และเป็นคู่เทียบกับคู่แข่งอย่างพรรคก้าวไกลได้ เอ่ยชื่อแล้วตรงใจมวลชน-ฐานเสียงทุกรุ่น จากเหนือจดใต้

หน้าบ้านในคลับเฮาส์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี บุคคลเบื้องหลังที่เอาการเอางานที่สุด เอ่ยสรรพนามแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย ไว้แต่เพียงว่า

“พรรคเพื่อไทยน่าจะมี 3 คน คนแรกที่เป็นแคนดิเดต คนที่ 2 เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ แก้วิกฤตที่เผชิญกันอยู่ เราอยากได้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา คนเป็นนักบริหารที่ดูไว้ก็เห็นว่าเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่การเมืองแล้ว ส่วนคนที่ 3 ยังเป็นปริศนาอยู่”

หลังบ้านพรรคเพื่อไทยเตรียมบุคลากรการเมืองไว้ 5 คน แต่เปิดโผมา 3 คน ชื่อแรกในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี ที่นักการเมืองในพรรคพูดกันจนคล่องปาก ประกอบด้วย

1.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประธานคณะทำงานด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม

2.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ปักหมุด ลงสมัคร ส.ส.ระบบเขต

3.ชื่อปริศนา-นักธุรกิจ ที่เคยปรากฏชื่ออยู่ในโผของพรรค สายตรง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

4.นักการเมืองที่คะแนนนิยมสูงสุด ชื่อที่เคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย

5.นักการเมืองที่อาจไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่ได้รับความนิยมมากเพียงพอที่จะเซอร์ไพรส์ตลาดการเมืองได้

เพราะในโผรายชื่อ 5 คน มีทั้งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และหัวหน้าพรรค และบุคคลสนิทสายตรงอดีตนายกรัฐมนตรี วัดบารมีกันในพรรค “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” จึงชี้ขาด-เขตอำนาจการเมืองไว้ว่า…

“ถ้าเนื้องานท่านเป็นหมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคอยู่แล้ว รู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองตอนนี้อย่างละเอียด สื่อสารในรูปแบบของพรรค กฎหมาย ส่วนอิ๊งจะลุยในเรื่องหัวหน้าครอบครัว คือเข้าไปสื่อสารกับประชาชน หาเสียง ลดเส้นแบ่งพี่น้องประชาชนกับพรรคการเมือง ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น”

“ก็เป็นภาพที่เรารู้สึกว่าเราทำงานควบคู่กันไป แค่อยากตั้งหัวหน้าครอบครัวขึ้นมาให้ชัดเจน ว่าคนนี้เป็นคนคุยกับประชาชน”

อุ๊งอิ๊ง-ยืนยันหลายครั้ง ทั้งหน้า-หลังฉากเวทีการเมืองว่า ต้องการให้คนที่เฝ้าดูเพื่อไทย ได้ค่อย ๆ คาดเดา “ว่าตกลงจะเป็นใคร และจะมีใครเพิ่มเติม”

ส่วนชื่อนักธุรกิจคนดัง ที่ปรากฏเป็นข่าวว่าจะเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ นั้น “อุ๊งอิ๊ง” บอกแต่เพียงว่าต้องไปถามเขาเอง

ท่ามกลางไทม์ไลน์การเมืองที่แหลมคม 2 เฟส ที่จะนำไปสู่การลาออก-โยกย้ายพรรค ของบรรดา ส.ส. รวมทั้งของพรรคเพื่อไทย เฟสแรก 24 กันยายน เริ่มนับถอยหลัง 180 วัน ของอายุสภาผู้แทนราษฎร และเฟสที่ 2 นับจาก 24 ธันวาคม ดีเดย์นับถอยหลัง 90 วัน ของอายุสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่นักการเมืองระทึก-รอคอยกติกาเลือกตั้ง ที่อยู่ในกฎหมายลูก ผูกไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเขตการเลือกตั้งหลายจุด กกต.ยังไม่ปักหมุดแบ่งเขต ยิ่งทำให้ความผันผวนมีผลต่อการย้ายพรรค

พรรคเพื่อไทย จึงรุกคืบเท่าที่ได้ โดยวางตัว ส.ส.กทม.ไปแล้ว 21 เขต และไม่สามารถเปิดตัวได้อีก 12 เขต ต้องแขวนชื่อลอยไว้ เช่นเดียวกับในอีสาน-เหนือ และภาคกลาง รวมทั้งภาคใต้ ที่ไม่เคยประกาศตัวผู้สมัคร

ภายใต้ข่าวที่สะพัดในพรรคว่า มีนักการเมืองหลายรายรอย้ายพรรค อาทิ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ และการุณ โหสกุล 2 ส.ส.กทม. และ ส.ส.ที่เพิ่งสอบได้อยู่ในก๊วนเดียวกัน เตรียมย้ายอยู่พรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

รวมทั้ง ส.ส.อีสานที่เป็นทั้งพวกงูเห่าที่เลื้อยเข้าพรรคภูมิใจไทย และยังมี ส.ส.กลุ่มหนึ่งที่รอดูขอบเขต-กฎหมาย จังหวะทุน-จังหวะก้าว ย้ายพรรค ภายใต้สมมติฐานที่เชื่อกันว่า “เพื่อไทยชนะก็อาจไม่ได้เป็นรัฐบาล”

หากได้เป็น ส.ส.แล้วต้องเป็นฝ่ายค้านซ้ำสอง ก็ถือว่าไม่คุ้มที่ลงทุน-ลงแรง มา 2 สมัย แคนดิเดตนายกฯ 5 คนบวกแลนด์สไลด์ ก็อาจไร้ความหมายทางการเมือง ?


หากไร้อุบัติเหตุทางการเมือง การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 กว่าจะมีคณะรัฐบาลใหม่ ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครองตำแหน่งรักษาการไปจนถึง ไตรมาส 3 ของปีหน้า