เลขาฯกฤษฎีกา แจงยิบต่างชาติถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ กับประเด็นขายชาติ

ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาฯกฤษฎีกา แจงร่างกฎกระทรวงเปิดให้คนต่างชาติเช่าที่ดิน 1 ไร่ ขายชาติ ข้อกล่าวหาคลาสสิกช่วงใกล้เลือกตั้ง

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 รายงานข่าวแจ้งว่า นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เปิดเผยผ่านบล็อกส่วนตัวและได้มีการส่งบทความต่อกันในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ชี้แจงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ดังนี้

ปกรณ์ นิลประพันธ์
ปกรณ์ นิลประพันธ์

ข้อกล่าวหาว่า “ขายชาติ” นี่เป็นข้อกล่าวหาคลาสสิกที่มักจะมีการหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวกันตอนใกล้เลือกตั้ง กับเมื่อใดก็ตามที่จะอนุญาตให้คนต่างด้าวซื้อที่ดินในประเทศได้

จริง ๆ ประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2497 เขาก็มีบทบัญญัติเรื่อง “การกำหนดสิทธิในที่ดินของคนต่างด้าว” ไว้ในหมวด 8 ตั้งแต่มาตรา 86 ถึงมาตรา 96 ตรี ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้หลากหลายประการ ใครเรียนกฎหมายมา หรือทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็คงจะทราบดีว่ามีกฎหมายนี้มานานแล้ว แต่ที่นิ่งเสียไม่อธิบายอะไร ก็คงจะเป็นเพราะภยาคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะรัก โลภ โกรธ หลง

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์เสียหน่อย หรือเคยดูละครบุพเพสันนิวาส ที่โด่งดังมากเมื่อหลายปีก่อน ท่านก็คงจะพอระลึกกันได้ว่าเราให้สิทธิ์คนต่างด้าวถือที่ดินในพระราชอาณาจักรมาตั้งแต่ครั้งอยุธยาแล้ว เพราะเขามาทำมาค้าขายต้องมีที่พักอาศัย มีแหล่งทำมาหากิน แต่ยุคนั้นไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ เป็นสิทธิ์ครอบครอง เนื่องจากในยุคนั้นถือว่าที่ดินทุกแปลงเป็นของหลวง

ครั้นเมื่อเราเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยพระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง รศ 124 การซื้อที่ดินของคนต่างด้าวก็ยังทำได้ แต่เราจำกัดสิทธิ์คนต่างด้าวจริงจังตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พุทธศักราช 2486 เพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงจำเป็นต้องควบคุมการถือครองที่ดินของต่างด้าวทั้งหลาย และแก้ให้เข้มข้นอีกครั้งปี 2493 เมื่อเกิดสงครามเกาหลีที่เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ และต่อมาก็เป็นประมวลกฎหมายที่ดินปี 2497

นี่แหละที่กำหนดแน่นอนว่าต่างชาติถือที่ดินได้ไม่เกินเท่าไร และภายใต้เงื่อนไขอย่างไร เขาไม่ได้มีสิทธิ์อย่างคนไทยที่จะถือที่ดินกันจำนวนเท่าไรก็ได้ จนทำให้หลายคนมีที่ดินเป็นพันเป็นหมื่นไร่ ในขณะที่คนไทยอีกจำนวนหนึ่งไม่มีที่ทำกิน เป็นปัญหาสังคม

ผู้เขียนเองมีประสบการณ์ถูกกล่าวหาว่าขายชาติกับเขามาแล้ว เมื่อครั้งทำวิจัยเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษในราวปี 2548 ที่เสนอให้ผู้มาลงทุนใน SEZ ถือครองที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินนี่แหละ ไม่ได้เสนอแปลกประหลาดอะไรเลย แต่มีการจัดประชุมกรรมาธิการสามคณะมาซักฟอก “ผู้วิจัย” ด้วย

วันนั้นผู้ทรงเกียรติทุกคนกล่าวหาว่าผู้เขียนมีข้อเสนอให้ขายชาติ คำก็ขายชาติ สองคำก็ขายชาติ มันเจ็บปวดนะ ข้อหานี้ ใครไม่เจอกับตัวไม่รู้หรอก พอผู้เขียนของขึ้น ถามว่าขายตรงไหน ให้ยกขึ้นมา จะอธิบายให้ฟังอย่าพูดเหมา ๆ เขาก็ยกว่าให้ต่างชาติซื้อที่ดินไทยได้นี่ไง ขายชาติแล้ว ผู้เขียนจึงบอกว่า อ้าว! จริง ๆ มีมาตั้งแต่อยุธยาโน่น มีหมู่บ้านจีน หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านมอญ หมู่บ้านญวน ตรงเชิงสะพานซังฮี้ก็มี และประมวลกฎหมายที่ดินเราก็รับรองเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2497 นะ

ที่สำคัญ มาตรา 96 ทวิ ที่กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเรื่องให้สิทธิ์คนต่างด้าวที่มาลงทุนในประเทศตามที่กำหนดซื้อที่ดินได้ เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนของประเทศนั้น ก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาเองเมื่อปี 2542 ผู้เขียนขายชาติตรงไหน ถ้าถือว่าการที่ผู้เขียนนำบทกฎหมายที่มีอยู่แล้วนั้นมาเสนอเป็นข้อเสนอแนะในงานวิจัยว่าเป็นการขายชาติละก็ ผมว่าสภาชุดที่อนุมัติกฎหมายเมื่อปี 2542 ก็ต้องเป็นคนต้นคิดขายชาตินั่นแหละ แล้วถ้าบทกฎหมายมันขายชาติ ทำไม่ท่าน ๆ จึงไม่เสนอแก้เสีย ปล่อยไว้ทำไม … ท่าน ๆ เลยปล่อยตัวผู้เขียนออกมาได้ และเมื่อกลับมาทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ก็ได้ระบุไปด้วยว่า เขาคงต่อว่าผู้เขียนกับท่านว่าผู้เขียนนั้นปากไม่ดี

เรื่องนี้ไม่เคยลืมเลย …

ในทรรศนะของผู้เขียนนะ การให้ต่างด้าวถือครองที่ดินแบบจำกัดมาก เช่นไม่เกิน 1 ไร่ในเขตเมือง และภายใต้เงื่อนไขที่ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ต้องมาลงทุน เข้ามาในประเทศไม่น้อยกว่าที่กำหนด ซึ่งเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทนั้นสมเหตุสมผล และคงไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งยังไม่มีที่ทำกิน ผู้เขียนเห็นว่าการแก้เรื่องนั้นต้องแก้ที่แลนด์ลอร์ด คนไทยแท้ ๆ ต่างหากที่ถือครองที่ดินจำนวนมากมาย

ซึ่งแก้ปัญหาจึงต้องมีมาตรการชัดเจนว่า “เราจะออกกฎหมายมากระจายที่ดินจำนวนมาก ที่กระจุกอยู่ในมือคนไทยแท้ ๆ ไม่กี่คนนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างไร” มันจึงจะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้ เรื่องนี้รัฐธรรมนูญ 60 ก็เขียนไว้นะ แต่ไม่เห็นว่าทำกันหรือยัง มันน่าทำนะ …

Prudent กว่ากล่าวหากันไปมาเพื่อหาคะแนนนิยมเยอะ …