อินไซด์ดักทาง สุราก้าวหน้า รัฐบาลประยุทธ์ ปิดฉาก กฎหมายร้อน

ประยุทธ์ สุราก้าวหน้า

และแล้วร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับ ..) พ.ศ. ….หรือ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” ที่เสนอโดย “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” แห่งพรรคก้าวไกล จอดป้ายสัปปายะสภาสถาน วาระที่สาม หลังถูกเล่ห์-เหลี่ยมของ 3 ป.

เบื้องหลังกฎหมายสุราก้าวหน้า “แท้ง” ตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าสู่การพิจารณาของสภาใน “วาระสาม” คือ การออก “ใบสั่ง” นอกรอบของการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565

ก่อนจะออกเป็น “ใบเสร็จ” ในรอบการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ผ่านแฟ้มสีชมพู วาระเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม-จร

เบื้องหลังของเบื้องหลัง ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถูก “ปัดตก” ตั้งแต่ในที่ประชุม “วิปรัฐบาล” เพราะมีการหยิบกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.เป็น “วาระจร” มาเป็น “คู่เทียบ”

ก่อนที่ประชุม ครม.จะมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. เพียง 1 วัน กระทรวงการคลัง ลงนามโดย “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ส่งหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ กค 0603/15086 ถึง “ณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์” เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

แนบด้วยหนังสือรับรองของ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี กำกับกระทรวงการคลัง เห็นชอบให้เสนอกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ พร้อมตารางเปรียบเทียบ

ทั้งบันทึกวิเคราะห์สรุปประกอบการเสนอร่างกฎกระทรวง สรุปคำเสนอต่อที่ประชุม-รายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอตามมาเป็นสายพานสู่ที่ประชุม ครม.

การประชุม ครม.มีมติเห็นชอบด้วยความรวบรัด-เร่งรีบเมื่อวันที่ 1 พ.ย. เพียงวันเดียว ปรากฏให้เห็นจากหนังสือตอบความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ นร 1113/6428

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0903/376 โดยได้มีการแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย รวมทั้งได้เปลี่ยนชื่อจาก “ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. ….” เป็น “ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. ….”

หลังจากนั้น คืนวันเดียวกันกับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ทันที

ก่อนที่ประชุมสภาจะมีมติ “คว่ำ” กฎหมายสุราก้าวหน้า “ซ้ำสอง” ด้วยการลงมติ 177 ต่อ 173 และการลงมติด้วยการขานชื่อ 196 ต่อ 194 เสียง

จุดเปลี่ยนของ “กฎหมายสุราก้าวหน้า” คือ การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ได้พิจารณาข้อสังเกตและผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

เนื่องจากข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ให้สภา “เตะถ่วง” โดย “เปิดช่อง” ครม.ขอรับร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดย ส.ส. หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปพิจารณาก่อนลงมติวาระที่หนึ่ง-ขั้นรับหลักการ 60 วันได้

“การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มีผู้เสนอตามมาตรา 133 (2) และ (3) ของรัฐธรรมนูญ ถ้าคณะรัฐมนตรีขอรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไปพิจารณาก่อนที่สภาจะลงมติตามข้อ 117 เมื่อที่ประชุมอนุมัติก็ให้รอการพิจารณาไว้ก่อน แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่สภามีมติ” ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อที่ 118 ระบุ

เป็นเส้นบาง ๆ ระหว่างอำนาจฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ นำมาสู่แท็กติกทางกฎหมาย-ไฮแจ็กผลงานของพรรคก้าวไกล ผู้เสนอกฎหมายสุราก้าวหน้า

นอกจากกฎหมายสุราที่ถูกก้าวก่าย-ชี้นำฝ่ายนิติบัญญัติ 500 คน โดยฝ่ายบริหาร 36 คน ที่ใช้แท็กติกทางข้อบังคับสภาแล้ว ยังมีร่าง พ.ร.บ.อีกอย่างน้อย 10 ฉบับ ที่ ครม.ยื่นมือมาสแกน-ขอดูคำตอบส่งประกวดแข่งขันกับ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน

ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. …. นายรังสิมันต์ โรม เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นผู้เสนอ

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ซึ่ง นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เป็นผู้เสนอ

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้เสนอ

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายชลน่าน ศรีแก้ว เป็นผู้เสนอ

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….นายวิรัช พันธุมะผล เป็นผู้เสนอ

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ แต่ ครม.กลับเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. “ประกบ”


อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติกำลังถูกอำนาจฝ่ายบริหารล้วงลูก-คุกคามอย่างหนักหน่วง