ประวิตร ตั้ง 15 อรหันต์ คิดนโยบายสู้ศึกเลือกตั้ง ไพบูลย์ ประธาน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ประวิตร ตั้งคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ-รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ไพบูลย์นั่งประธาน ก๊วนป่ารอยต่อพรึ่บ นักวิชาการ ม.ดังโผล่ร่วม

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 รายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ลงนามในคำสั่งพรรคพลังประชารัฐที่ 132/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้การกำหนดนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย

เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค สมาชิกพรรค นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของทุกภาคส่วน รองรับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และตอบสนองต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และประชาคมโลกในปัจจุบัน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 17 (1)(ซ) แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจ ดังต่อไปนี้

องค์ประกอบ 1.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมการ 2.พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองประธานกรรมการ

กรรมการประกอบด้วย 1.นายอัครวัฒน์ อัศวเหม 2.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 3.นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ 4.นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ 5.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา

6.นายรงค์ บุญสวยขวัญ 7.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ 8.นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ 9.พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ 10.นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ 11.นายบุรินทร์ สุขพิศาล 12.นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย 13.นางสาวพรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ กรรมการและเลขานุการ

หน้าที่และอำนาจ 1.ศึกษาและจัดทำร่างนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง เสนอหัวหน้าพรรคพิจารณา เพื่อปรับปรุงแก้ไข หรือดำเนินการอื่นใดเพิ่มเติม ให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน รวมทั้งนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป

2.จัดให้มีการรับฟัง แลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค สมาชิกพรรค นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาและจัดทำร่างนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่าง ๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับชาติ

3.จัดทำเอกสารประกอบนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

4.แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงาน
ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย

5.รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการในทุกขั้นตอนต่อหัวหน้าพรรคโดยตรง

6.ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ และปฏิบัติงานอื่นตามที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย

ประวัติคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ

1.พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ระดับปริญญาโทและเอกด้านการบริหารรัฐกิจและนโยบายสาธารณะจาก Northern Illinois University สหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลนักศึกษาดีเด่นของคณะรัฐศาสตร์ NIU รางวัลนักวิจัยสมาคมอาชญวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (ประจำพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานตำรวจ งบประมาณ การบริหารราชการแผ่นดินและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ มีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ปาล์มน้ำมัน และสื่อสังคมออนไลน์

2.พลเอกกฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร. และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ วิชาเอกนโยบายสาธารณะ มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง และเป็นกรรมการบริหารพรรค

3.ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกวิศวกรรมด้านการเกษตรและการชลประทานจาก Utah State University, USA อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นผู้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทาน การบริหารจัดการน้ำและผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

4.ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล

สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้าน Bio-refinery policy จาก AIT และมีพื้นฐานการศึกษาทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านปาล์ม และเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกรรมาธิการสามัญ กรรมาธิการ วิสามัญ อนุกรรมาธิการ มากกว่า 10 คณะ ตลอด 20 ปี และช่วยงานสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งแต่ปี 2557

5.นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย

สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์และด้านบริหารธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักวิชาการอิสระด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

6.รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์

สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและเอกรัฐศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล เคยเป็นนักวิจัยทุน Fulbright สหรัฐอเมริกา และยังได้รับเชิญเป็นนักวิจัยอาคันตุกะ ณ ISEAS–Yusof Ishak Institute ประเทศสิงคโปร์ และ University of Cambridge ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ ยังเป็นกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งจำนวนมาก มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครอง พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และอาเซียน