อัพเดต ส.ส.ย้ายพรรค พลังประชารัฐ ปชป.หนีตาย ภูมิใจไทยกวาดเรียบ

ส.ส.ย้ายพรรค
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
อัพเดตเนื้อหา 12 ธันวาคม 2565 

ความเคลื่อนไหว ส.ส. และนักการเมืองบ้านใหญ่ ในการย้ายสังกัดพรรคเพื่อรับการเลือกตั้ง แบบใหม่ บัตร 2 ใบ สร้างโอกาสให้กับพรรคใหญ่ 3 พรรค คือ เพื่อไทย พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เช็กเสียง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แบ่งสมบัติกับว่าที่พรรคใหม่ ที่เปิดหัวไว้รอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมายมั่นเป็นแคนดิเดตนนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ

จากนั้น เอฟเฟ็กต์จากปฏิบัติการข่าวปั่น-จัดฉากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพลังประชารัฐ ย้ายพรรค-ตอบรับเทียบเชิญเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ ดังกระหึ่มในความเงียบ

ส.ส. พปชร.รอท่าทีประยุทธ์

อาการสงวนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบรับ-ไม่ปฏิเสธนั่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “พรรคน้อง” ปล่อยให้ห้องเครื่องติดตั้งแสง-สี-เสียง บรรเลงมหรสพโรงใหญ่ สปอตไลต์จึงฉายไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ

โดยเฉพาะ ส.ส.ในบ่อเพื่อน-พรรคเก่าอย่างประชาธิปัตย์ก็ขยับเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ผสมโรงกับเรตติ้ง พล.อ.ประยุทธ์ในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้กระแสตอบรับจากทุกสำนักโพล

ไม่นับรวมถึง ส.ส.ที่อาจจะตัดสินใจ “หนีตาม” พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยความจำเป็น-จำใจร่วมหอลงโรงกับพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ เสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น ขุนพลขึ้นตรง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมี ส.ส.อยู่ในก๊วนในพรรค-นอกพรรคกว่า 20 ชีวิต

และที่ยัง “แทงกั๊ก” ดูทิศทางลมอำนาจ รอสัญญาณสุดท้ายจาก พล.อ.ประยุทธ์ คือ เสี่ยโอ๋ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส และแกนนำกลุ่มสามมิตร สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน และอนุชา นาคาศัย ต้อง “วัดใจ” จนวินาทีสุดท้าย

ส.ส.กทม.รายหนึ่งที่ถูกปล่อยข่าวเตรียมเก็บข้าวของย้ายพรรคกล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ 100% เพราะคงรอความชัดเจนเรื่องบัญชีแคนดิเดตนายกฯ

ความพิเศษของสนามเลือกตั้ง กทม.ที่ตัดสินแพ้-ชนะกัน 4 วินาทีสุดท้าย กระแสพรรค-ตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังเป็นปัจจัยใหญ่ของ ส.ส.เขตที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจย้ายพรรคเพื่อให้กลับมามีที่นั่งในสภาอีกสมัย

ยิ่งการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็น “บัตร 2 ใบ” ส.ส.เขต กทม.ประเภทดาวฤกษ์จนสามารถชนะเลือกตั้งได้ โดยไม่อิงกับกระแสพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีเพียงหยิบมือ เพราะสถิติการเลือกตั้งย้อนบ่งชัดเลือกทั้งคน-ทั้งพรรคทิศทางเดียวกัน ประกอบกับผู้เล่นในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าในพื้นที่ กทม.อาจไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งชนะขาด เพราะมีพรรคใหม่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด 33 เขตใน กทม. อาจมี ส.ส.มากกว่า 3 พรรค

“การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์คือจุดแข็ง ยังขายได้ใน กทม.สำหรับกลุ่มที่เป็นแฟนคลับ ลุงตู่ไปไหนยังไงก็ตามไปเลือก แต่กลุ่มคนกลาง ๆ ที่เลือกเพราะแคมเปญรักสงบจบที่ลุงตู่ ครั้งหน้าไม่แน่ใจว่ายังจะซื้ออยู่หรือไม่ ถ้ามีพรรคที่ดีกว่าก็พร้อมจะเลือก ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทย”

สำหรับ ส.ส.กทม.แล้ว การมี พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ จึงยังมีเป็น “แต้มต่อ” ให้ ส.ส.เขตอยู่ ที่เหลืออยู่คือการเติมสิ่งที่ขาด เช่น นโยบายใหม่ หรือแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 2-เบอร์ 3

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ตามน้ำ ก่อนจะออกมาดับกระแสข่าวย้ายพรรค-ขอเวลาโฟกัสไปที่การเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปค หลังจากนั้นจะประกาศอนาคตทางการเมือง สามารถห้ามเลือดไม่ให้หยุดไหลไว้ชั่วคราว

ส.ส.พลังประชารัฐจะตัดสินใจ “อยู่” หรือ “ย้าย” จึงรอดูท่าที พล.อ.ประยุทธ์หลังเอเปคเช่นเดียวกัน

พล.อ.ประยุทธ์แม้เป็น “คนช่างคิด” แต่ยังคิดแก้เกมแลนด์สไลด์ไม่ตก ว่าจะแยกกันเดิน รวมกันตี หรือรวมกันเราอยู่-แยกกันเราตาย

แกนนำพรรคพลังประชารัฐรายหนึ่งกระซิบบอกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ย้ายพรรค เลือดไหลออกเพียบแน่

ประชาธิปัตย์เลือดไหลไม่หยุด

ปรากฏการณ์ “หนีตาย” ส.ส.ย้ายค่ายในพรรคร่วมรัฐบาลยังคงเข้า-ออกกันฝุ่นตลบ พรรคเก่าแก่-ประชาธิปัตย์ ที่เลือดยังไหลไม่หยุด

โดยเฉพาะเบอร์ใหญ่อย่าง “โฆษกสามสี” ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคเก่าแก่-ปิดฉาก 36 ปีกับประชาธิปัตย์ มารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จ็อบดิสคริปชั่นแรก คือ ให้คำปรึกษาการเป็นเจ้าภาพงานเอเปค

ส่วนงานรูทีน คือ consulting ให้กับพรรคการเมืองใหม่ เพื่อ “ต้องรวมมิตรและแยกศัตรูในเชิงอุดมการณ์ให้ชัดเจน”

ลมหายใจสุดท้ายของ “ไตรรงค์” ที่จะเข้า-ออกช่วงบั้นปลายชีวิตทางการเมืองใน “พรรคใหม่” ที่เกิดใหม่จากคนที่ออกจากประชาธิปัตย์ ที่มีจุดยืน-อุดมการณ์ ไม่ตั้งตนเป็นศัตรูกับทหารของชาติ-ผู้ร้ายตัวฉกาจคือเผด็จการรัฐสภา มีไม่กี่พรรค

หนึ่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ ต.ตุ๋ย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และสอง พรรคไทยภักดี ที่มี “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี “ถาวร เสนเนียม” เป็นผู้สนับสนุนพรรคอย่างเป็นทางการ

“แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกหลายพรรคที่มีจุดยืนด้านอุดมการณ์ที่ตรงกับใจของผม ที่ผมอยากสนับสนุนโดยเฉพาะมีอยู่หลายพรรค ที่เกิดใหม่จากคนที่ต้องออกจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถจะบอกใครได้ (เพราะเกรงใจกัน)

แต่เมื่อไปตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาก็ได้มีการประกาศจุดยืนแห่งอุดมการณ์ พร้อมมีนโยบายปฏิรูปหลายประการ เหล่านี้ทำให้ผมเห็นด้วยและอยากสนับสนุน” ไตรรงค์โพสต์ความลับลงพื้นที่สาธารณะเปิดแผนการกบฏ

ขณะที่ ส.ส.เก่ายังต้องขยับขยายหาที่อยู่ใหม่ อย่าง น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่จะไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ และอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่ไปเปิดตัวในงานสัมมนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

ล่าสุดบ้านใหญ่เสนพงศ์ “โบกมือลา” พรรคประชาธิปัตย์ หลังจาก “พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์” น้องชายเทพไท เสนพงศ์ ที่ “แพ้โพล” ไม่มีชื่อติดโผว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช

ภูมิใจไทยเนื้อหอม

สวนทางกับเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ “เนื้อหอม” มี ส.ส.ย้ายมาร่วมชายคาพรรคภูมิใจไทยกันอุ่นหนาฝาคั่ง โดยเฉพาะบิ๊กเนมอย่างบี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ กปปส. ที่มีการเจรจากันกับนายอนุทินเป็นระยะ และจะดึง ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐมาแจ้งเกิดพื้นที่เมืองหลวงให้กับพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส.ส.แนน-บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี ที่ตัวอยู่ประชาธิปัตย์ แต่ใจอยู่ภูมิใจไทย

ด้านพรรคฝ่ายค้าน ยังจด ๆ จ้อง ๆ ที่จะย้ายจากพรรคสลับขั้วไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาล หรือย้ายสลับพรรค

อาจเป็นเพราะฝ่ายผู้ถืออำนาจคือพรรครัฐบาล กำลังตกอยู่ในภาวะที่คนเอือม เนื่องเพราะ พล.อ.ประยุทธ์อยู่มา 8 ปี ตามวัฏจักร มีขึ้นย่อมมีลง มีอำนาจย่อมมีวันเสื่อมอำนาจ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เสื่อมมนต์ขลัง จึงสร้างความลำบากใจกับ ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะไปเปิดตัวเป็นฝ่ายรัฐบาล แต่ก็ไม่อาจจะอยู่ได้ถึงนาทีสุดท้าย เพราะกฎหมายเลือกตั้ง มีกฎ “ล็อกตาย” ส.ส.ต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน ก่อนเลือกตั้ง

ดังนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยุบสภา ล็อกตาย 90 วัน คือ วันที่ 23 ธันวาคม 2565 จะได้เห็น ส.ส.ย้ายพรรค

แต่เมื่อนักการเมืองประเภท “งูเห่า” ได้รับสัญญาณแจ้งว่า รัฐบาลจะใช้วิธียุบสภาเอาชั่วโมงสุดท้าย คือ เดือนมีนาคม 2566 ก็จะทำให้ “ล็อกตาย” 90 วัน ใช้การไม่ได้

เพราะหากมีการยุบสภา ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคก่อนเลือกตั้ง 30 วัน โดยการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน ดังนั้น หากเข้าช่องทางยุบสภาแล้วค่อยย้ายพรรคก็สามารถทำได้…ยังมีเวลาให้หายใจ และไม่ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.อีกด้วย

แต่ ส.ส.ในซีกฝ่ายค้านที่ย้ายพรรค-สลับขั้ว ไม่ต้องรอยุบสภา มีให้เห็นแล้ว อย่าง “ทนายบิลลี่” จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ที่ยอมลงทุนลาออกจาก ส.ส.ย้ายจากพรรคก้าวไกล ไปอยู่พรรคเพื่อไทย

ล่าสุดพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่าในวันที่ 16 ธันวาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรค จะเป็นประธานเปิดที่ทำการพรรคภายหลังปรับปรุงครั้งใหญ่ และจะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.ที่ย้ายมาจากพรรคการเมืองอื่น จำนวน 37 คน

จากพรรคพลังประชารัฐสู่ภูมิใจไทย

สำหรับรายชื่อทั้ง 37 คน ประกอบด้วย  พรรคพลังประชารัฐ 14 คน ได้แก่ 1.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 2.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. 3.น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.4.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 5.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 6.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 7.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 8.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี 9.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 10.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี 11.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี 12.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 13.นายอัฎฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 14.พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี

เพื่อไทยอีสานสะเทือน

ส.ส.่จากพรรคเพื่อไทย 10 คน ได้แก่ 1.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ 2.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 3.นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ 4.นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. 5.นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย 6.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 7.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี 8.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก 9.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา 10.นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา

ก้าวไกล เปิดตัว ส.ส.ฝากเลี้ยง

จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จำนวน 5 คน ได้แก่ 1.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 2.นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 3.นายพีรเดช คําสมุทร ส.ส.เชียงราย 4.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 2.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี 3.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์

กวาดพรรคจิ๋ว

  • พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จำนวน 1 คน ได้แก่ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี
  • จากพรรคเพื่อชาติ จำนวน 1 คน ได้แก่ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  • จากพรรคประชาภิวัฒน์ จำนวน 1 คน ได้แก่ น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  • จากพรรคชาติพัฒนา จำนวน 1 คน ได้แก่ นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร
  • พรรครวมพลัง จำนวน 1 คน ได้แก่ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ฝ่ายค้านแพ้พลังดูด

ส่วนพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ดูด ส.ส.ฝ่ายค้าน มีอยู่พรรคเดียวในตอนนี้ คือ พรรคภูมิใจไทย ที่กำลังร้อนแรงทั่วทั้งแผ่นดินอีสาน อย่างน้อยมีพรรคก้าวไกล 5 คน ที่ไหลไปอยู่ด้วย

ประกอบด้วย นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย นายพีรเดช คําสมุทร ส.ส.เชียงราย นายคารม พลพรกลาง บัญชีรายชื่อ นายเกษมสันต์ มีทิพย์ บัญชีรายชื่อ

พรรคเพื่อไทย มากเป็นพิเศษ มีถึง 9 คนที่เปิดตัว ประกอบด้วย นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี และพรรคเพื่อชาติ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

กติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ วัดฝีมือ ส.ส.ดาวฤกษ์-ส.ส.ดาวดับ คนไหนอยู่ผิดพรรคเจ๊ง