ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชากัญชง พ.ศ. … ของพรรคภูมิใจไทย เตรียมกลายเป็น “วาระเดือด” ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สัปดาห์ที่ 2 ทันทีเมื่อสภาเปิดเทอม 1 พฤศจิกายน
ก็เพราะร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมลำดับที่ 5 ถือเป็น “หมัดเด็ด” ของพรรคภูมิใจไทย ภายใต้ “กัญชาเสรี” ที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2561
ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ 24 มีนาคม 2562 จะอุบัติขึ้นด้วยซ้ำ
นโยบายกัญชาเสรีนำมาสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่ผลักดันให้เป็น “กัญชาเพื่อการแพทย์”
ก่อนที่จะใช้อำนาจออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 พ.ศ. 2563 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยถอดกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันรุ่งขึ้น (9 กุมภาพันธ์ 2565) ให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน ตรงกับวันที่ คือ 9 มิถุนายน 2565
ซึ่งจะทำให้เฉพาะตัวสารสกัดจากกัญชาและกัญชง (พืชสกุล Cannabis) ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม ป.ยาเสพติดเท่านั้น
ทว่า ก่อนหน้าที่ประกาศกระทรวงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพียง 1 วัน วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็เห็นชอบในวาระ “รับหลักการ” ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. … ที่จะออกมาเป็น “ร่มใหญ่” ในการบังคับใช้เรื่องกัญชาและกัญชง อย่างท่วมท้น 373 ต่อ 7 เสียง
แต่แล้ว 14 กันยายน 2565 เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง เข้าสู่วาระที่ 2 เหตุการณ์กลับพลิกผันฉับพลัน เมื่อพรรคเพื่อไทย แท็กทีมกับพรรคประชาธิปัตย์ กดดันให้สภาถอนร่างออกไปพิจารณาใหม่
“สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นหารือในที่ประชุมว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำไปปรับปรุงอีกสักครั้งหนึ่ง เนื่องจากหลังสภารับร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการปรับปรุงแก้ไขทั้งร่าง จากเดิมมี 45 มาตรา เพิ่มเป็น 69 มาตรา และแก้เกือบทุกมาตรา อาจไม่รอบคอบได้
ส่วน “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย บอกว่า ในชั้นกรรมาธิการมีการปรับแก้อย่างมาก ไม่ตอบโจทย์ว่าจะควบคุมเรื่องที่หลายฝ่ายเป็นห่วงได้อย่างไร โดยเฉพาะการนำกัญชามาใช้ทางสันทนาการ พรรคเพื่อไทยจึงมีมติว่าจะไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ในวาระ 2-3
ที่สุดแล้วที่ประชุมสภามีมติให้ถอนออกจากระเบียบวาระการประชุม ด้วยเสียง 347 เห็นด้วย 198 ต่อ 136 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง แล้วให้กรรมาธิการ ซึ่งมี “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธานกรรมาธิการ ไปพิจารณาใหม่อีกรอบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาปิดเทอมไป 1 เดือน คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. … ที่ “ศุภชัย ใจสมุทร” เป็นประธาน ได้ยืนยันร่างกฎหมาย กลับเข้าสู่วาระ 2 อีกครั้ง โดยไม่มีการปรับแก้แม้แต่มาตราเดียว แม้สภาจะลงมติให้ถอนร่างกลับมาพิจารณาใหม่
“ศุภชัย” อธิบายเหตุผลที่ “ยืนยัน” ร่างเดิมกลับไปว่า ได้ทบทวนแล้วปรากฏว่า ข้อเสนอของทั้ง 2 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ มีอยู่แล้วในร่าง พ.ร.บ.ที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ไม่มีอะไรที่ขาดหายไป ทุกเรื่องที่เสนอมาอยู่ในตัวกฎหมายครบ บางเรื่องที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ที่บัญญัติไว้แล้ว เรื่องบางเรื่องแม้ไม่มีในร่าง พ.ร.บ. แต่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็นเอาไว้อภิปรายในสภา ซึ่งตรงกับข้อเสนอทั้ง 2 พรรค หรือบางเรื่องมี ส.ส.แปรญัตติไว้แล้ว
รวมถึงสิ่งที่บัญญัติไว้ในหลายกรณี ครบถ้วนกว่าข้อเสนอของทั้ง 2 พรรค กรรมาธิการจึงได้ทบทวนและที่ประชุมได้เห็นชอบว่าไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม จึงได้ส่งกลับ
“ประการสุดท้าย เราเห็นว่ากระบวนการที่ให้ลุกขึ้นมาอภิปราย และขอให้กลับไปทบทวน ไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม หรือวิธีการทางนิติบัญญัติ เพราะต้องพิจารณาไปทีละมาตรา เราก็เลยส่งร่าง พ.ร.บ.กลับไป นี่คือมติของกรรมาธิการ”
อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้าน-พรรครัฐบาลบางพรรค หยิบกระแส “ยาเสพติด” ตั้งแต่เหตุโศกนาฏกรรม ที่ จ.หนองบัวลำภู มาผูกโยงกับ “กัญชาเสรี” แล้วพรรคภูมิใจไทย จะฝ่ากระแสไปได้อย่างไร “ศุภชัย” ยืนยันว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด วันนี้ในต่างประเทศ หรือประเทศไทยเอง นำกัญชามารักษาคนติดยาบ้า กัญชามาช่วยให้คนที่ติดยาบ้าเสพ แล้วทำให้คนติดยาบ้าเลิกเสพยาบ้า
“กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด โดนถอดออกจากบัญชียาเสพติดมาแล้ว ถ้าเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดิม ๆ ก็คงไม่รู้เรื่องหรอก”
หากคำตอบของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยจุดยืนชัดยิ่งกว่าชัดว่า “ย้ำหลายครั้งชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน กัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ไม่สนับสนุนกัญชาเสรี ยืนยันจะใช้หลักการดังกล่าวในการพิจารณาเมื่อสภาเปิด เพราะกัญชาทางการแพทย์เป็นประโยชน์ ส่วนกัญชาเสรีมีแต่จะสร้างปัญหา”
“หลักใหญ่คือต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศในภาพรวมเป็นหลัก ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเราก็ทำงานด้วยกัน แต่จุดยืนทางการเมืองของแต่ละพรรคนั้น ก็ต้องมีจุดยืนที่เป็นของตัวเอง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนในเรื่องนี้”
พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านสุดตัว
ฟากพรรคเพื่อไทย “สุทิน คลังแสง” ยืนยันคำขาดเดิมว่า พรรคเพื่อไทย เรายืนยันว่าให้กัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ถ้าเป็นกัญชาเพื่อสันทนาการพรรคมีจุดยืนไม่เอามาตั้งแต่ต้น ดังนั้น ถ้าดูแล้วกรรมาธิการยอมปรับ ยอมแก้ให้เป็นกัญชาทางการแพทย์ก็จะไม่มีปัญหา
ส่วนที่กรรมาธิการยืนยันร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมกลับไปโดยไม่ได้มีการปรับแก้นั้น แม้เป็นร่างเดิม แต่มีผู้สงวนความเห็น มีผู้แปรญัตติ ถ้ามีผู้สงวนความเห็นอภิปรายให้กัญชาทางการแพทย์ เราก็จะสนับสนุนแนวทางนั้น แต่ถ้า เสนอให้กัญชาในเชิงสันทนาการเราก็ไม่เอาด้วย
“ถ้ามีเรื่องสันทนาการเข้ามาพรรคก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ใครแปรญัตติมาในแนวนี้เราก็ไม่เอา” สุทินกล่าว
ทว่า ฝ่ายที่กำลังมองสงครามการเมืองนี้อย่างสนุกสนาน คือ “พรรคพลังประชารัฐ” แหล่งข่าวระดับตัวทำเกมของพรรคพลังประชารัฐ ชวนให้จับตามองเรื่องร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. … ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเล่นการเมือง แม้ว่า พ.ร.บ.กัญชากัญชงก็ต้องผ่านสภา แต่จะผ่านอย่างไรต้องติดตามดู เพราะที่กรรมาธิการ ไม่ได้ปรับแก้อะไรเลยทั้งที่สภามีมติให้ถอนร่างกฎหมายกลับไปทบทวนนั้น ก็เป็นการท้าทายกัน พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ไม่เอาแน่ พลังประชารัฐก็แนวโน้มไปทางเดียวกัน
เมื่อเปิดประชุมสภา พรรคฝ่ายค้านจะปูพรมถล่มเรื่องเหตุการณ์หนองบัวลำพู แล้วลากไปสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง และอาจฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งต่าง ๆ ของ รมว.สาธารณสุข เรื่องที่เกี่ยวกับกัญชาด้วย
“ให้จับตาดูเกมนี้ เขาจะเล่นกัน เพราะเรื่องนี้ sensitive มีได้ มีเสีย พลิกกันได้เลย ลองคิดดูว่าคนที่ดีใจว่ามีกัญชาเสรีมีกี่คน ทั้งนายทุน ทั้งคนปลูก คนเสพ ที่ดำเนินการไปแล้วมีหลายแสนคน แต่คนที่กลัวยาเสพติดมีเยอะกว่าไหม ถ้ามีการปลุกปั่นในสภาจนกระทั่งเห็นว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แม้ฝ่ายกัญชาสายแพทย์ ไม่ได้ต่อต้าน แต่ต่อต้านการนำมาเสพ เมื่อเป็นนโยบายกัญชาเสรี จึงโดนโจมตีได้ง่าย”
“ดังนั้น ก็ต้องสู้กันไปในสภา พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐบางคน ก็พร้อมโจมตีอยู่แล้ว สุดท้ายก็ต้องโหวตกันในวาระ 2 ใช้เวลากันน่าดู”
“โดยเฉพาะที่อนุญาตให้ปลูกกัญชา กัญชงครัวเรือนไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น หัวใจของกฎหมายนี้ ถ้าไปคว่ำ มาตราที่เหลืออาจจะต้องแก้กันเละ”
อีกหนึ่งชนวนร้อน ตีคู่ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. ..คือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล ที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ 3 ป.ผู้มีอำนาจ เรียกรัฐมนตรีระดับแกนนำ-หัวหน้าพรรค ร่วมรัฐบาลมาหารือ แสดงความกังวลว่า จะ “เหล้าเถื่อน” จะเกลื่อนเมืองเหมือนกัญชา จึงต้องการให้ “ตีตก”
สัญญาณจากตึกไทยคู่ฟ้า ยิงตรงมายังอาคารรัฐสภาไม่เคยพลาดเป้า ยิ่ง 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อยู่ร่วมหารือพร้อมกัน กฎหมายสุราก้าวหน้าคงหืดขึ้นคอ
ดังนั้น สภาเทอมสุดท้าย เดือดตั้งแต่ยกแรกโดยเฉพาะปมกฎหมายกัญชา-สุราก้าวหน้า
- สุทินไม่ไว้วางใจกัญชาเสรี ชี้อนุทินมีผลประโยชน์ทับซ้อน
- กัญชาเสรี อนุทิน ยันนโยบาย ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่สันทนาการ
- ทิพานัน แจง ประยุทธ์ ไม่แทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ คว่ำสุราก้าวหน้า
- กก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห่วง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ชี้ควรมีนโยบายรองรับ
- รับมือสุราก้าวหน้า สรรพสามิตอ่วมลดภาษี รายได้ปีนี้ส่อวืดเป้า 7 หมื่นล้าน