ธนาธร – ปิยบุตร รีเทิร์นสภา ชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ปลดล็อกท้องถิ่น”

ธนาธร ปิยบุตร ในนามคณะก้าวหน้า ชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 กระจายเงิน – อำนาจ ให้ท้องถิ่นจัดการ ชงแผนทำให้เป็นรูปเป็นร่างใน 5 ปี ยัน ไม่ยุบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เสนอโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากการชูขวดน้ำประปาจาก อบต.พนมไพร อ.ค้อใหญ่ ร้อยเอ็ด ที่มีปัญหาขุ่นข้น กำหนดเวลาเปิดปิด ประชาชนต้องดิ้นรนหาน้ำสะอาดเอง การจะลงทุนเพื่อปรับปรุงน้ำประปาทั้งระบบในตำบลให้ใสสะอาด สามารถทำได้ด้วยการใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาทต่อตำบล 

แต่ อบต. ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเงินลงทุนต่อปีแค่ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีอิสระและไม่มีงบประมาณของท้องถิ่น หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ท้องถิ่นต้องใช้คือการวิ่งเต้นของบประมาณจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งหลายเรื่องผ่านไปหลายสิบปี โครงการก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

ถ้าเราถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนแก่จนตายและส่งต่อไปถึงลูกหลานของเรา เราต้องการสังคมแบบนี้ต่อไปหรือไม่ สังคมที่คนหนุ่มสาวต้องเดินทางไปแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่เพราะไม่มีงานอยู่ที่บ้าน โครงการพัฒนาจากส่วนกลางที่ไม่ตอบโจทย์คนพื้นที่ ปัญหาถนนที่ส่งผลถึงความเป็นความตายในการเดินทางไปโรงพยาบาลไปโรงเรียน น้ำประปาที่ซักผ้าล้างหน้า แปรงฟันยังไม่ได้ ระบบชลประทานที่คลุมแค่ 23% ของพื้นที่เพาะปลูก

ไม่มีนโยบายใดแก้ปัญหาทุกเรื่องได้ทันที ดังนั้นยกระดับบริการสาธารณะให้ประชาชนดีกว่านี้ได้พร้อมกัน นั่นคือการกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์ของส่วนกลาง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ปลดล็อกท้องถิ่นคือเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย โดยมีหลักใหญ่ใจความ 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คืออำนาจและอิสระในการบริหาร ยึดหลักอำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกตัวแทนของตัวเอง

ไม่ต้องตีความอีกว่าอำนาจในการให้บริการสาธารณะเป็นของใคร นี่คือการทำให้ท้องถิ่นมีอิสระและอำนาจเต็มที่ในการออกแบบพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหามากกว่าคนในพื้นที่ รักบ้านของตัวเองมากกว่าคนในพื้นที่ อยากเห็นบ้านของตัวเองพัฒนามากกว่าคนในพื้นที่ และคนที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีแรงจูงใจในการตอบสนองประชาชนมากกว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางแน่นอน

เรื่องที่ 2 คือการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมเหมาะสม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมและเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ จากที่ได้รับส่วนแบ่งงบประมาณร้อยละ 30 ในปัจจุบัน ให้เป็นร้อยละ 50 ในอนาคต การจัดสรรงบประมาณใหม่เช่นนี้ ทำให้ท้องถิ่นไม่ต้องวิ่งเต้นหางบประมาณอีกต่อไป งบประมาณมาอยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ผ่านตัวกลางเดียวคือบัตรเลือกตั้ง เลือกคนที่จะมาใช้งบพัฒนาพื้นที่ด้วยตัวเอง สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ ออกแบบการจัดบริการสาธารณะแบบที่ประชาชนต้องการได้ด้วยตัวเอง

“ลองจินตนาการดูว่าประเทศไทยมี 7,255 ตำบล ถ้าทุกตำบลมีโรงเรียนที่มีคุณภาพ หลักสูตรสอดคล้องกับงานในพื้นที่ สอนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมๆ กันได้ มีสวนสาธารณะให้ผู้คนมาใช้ชีวิต มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นปอดให้ชุมชน มีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ มีน้ำประปาที่ไม่ใช่แค่ใสสะอาด แต่ยังดื่มได้ด้วย มีการคมนาคมสาธารณะที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้ มีห้องสมุดที่มีคุณภาพ มีการจัดเก็บขยะที่มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ได้มาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ ถ้าทุกตำบลมีบริการสาธารณะแบบนี้ ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวอีกว่า  หากจะมีอะไรที่สะท้อนการรวมศูนย์ของไทยได้ดีที่สุด ก็คือรัฐสภาแห่งนี้ ทุกวันก่อนเริ่มประชุม ส.ส. จะต้องใช้เวลาคนละ 2 นาที ปรึกษาหารือ ซึ่งตัวเลขจากสำนักประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ร้อยละ 65 ของเรื่องปรึกษาหารือ เป็นเรื่องถนน ไฟฟ้า ประปา ซึ่งเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นกลับขาดงบและอำนาจในการแก้ปัญหา

จนประชาชนต้องพึ่งพา ส.ส. ให้นำเรื่องมาสู่สภา กว่าเรื่องจะถูกแก้ ก็ผ่านไป 2-3 ปี ไม่ทันกับความต้องการของประชาชน เพราะฉะนั้น ตนขอเรียกร้องสมาชิกรัฐสภา ให้ช่วยกันผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อจบปัญหาในรุ่นจองเรา ให้ท้องถิ่นได้ทำหน้าที่รับใข้ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตนจึงให้ ส.ส.และ ส.ว.เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โหวตผ่านร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว


ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายต่อมา  การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเทศไทยมีการพูดคุยมายาวนาน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 และเกิดผลเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์แบบ จึงมีความจำเป็นต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาที่ตกค้างมาอย่างน้อย 5 ประการ

ประการแรก อปท. ในประเทศไทยยังคงมีอำนาจและภารกิจอย่างจำกัด หลายครั้งเป็นไปอย่างล่าช้า มีอำนาจเฉพาะที่กฎหมายกำหนด แต่หากมีภารกิจอื่นในพื้นที่ที่ท้องถิ่นต้องการทำ แต่กฎหมายไม่ให้อำนาจ ก็ทำให้ปัญหาความทุกข์ร้อนของพี่น้องชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที 

ประการที่สอง ปัญหาเรื่องอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างอำนาจของราชการส่วนกลางและอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งถูกเอาไปวางไว้ในทุกๆ จังหวัด ซ้ำซ้อนกับอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดสภาพอำนาจซ้ำซ้อน บางกรณีก็เกี่ยงกันทำ บางกรณีก็แย่งกันทำ

ประการที่สาม ปัญหาเรื่องงบประมาณและรายได้ของ อปท. ไม่เพียงพอ ถ้าท้องถิ่นไม่มีรายได้ ไม่มีความเป็นอิสระทางงบประมาณเพียงพอ ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ ทุกวันนี้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นอยู่ที่ 35% แต่เอาเข้าจริง หลายๆ เรื่องเป็นงานฝากที่ราชการส่วนกลางเอาไปให้ท้องถิ่น เช่น การจ่ายเบี้ยสวัสดิการ เงินสวัสดิการต่างๆ เงินส่วนนี้ ท้องถิ่นไม่สามารถเอาไปคิดอ่านทำอะไรได้ 

ประการที่สี่ การกำกับดูแลของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ทำไปทำมากลายเป็นบังคับบัญชามากขึ้น เริ่มมีหนังสือเวียน ระเบียบ ข้อสั่งการต่างๆ เข้าไปสั่งการท้องถิ่นให้ทำนั่นทำนี่ หรือบางครั้งก็สำรวมนิดหน่อยโดยการใช้คำว่า ขอความร่วมมือ ทั้งๆ ที่หลักการปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น ส่วนกลางและภูมิภาคไม่ใช่เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาที่จะไปสั่งการให้ท้องถิ่นทำอะไรได้ เต็มที่ไปได้ไกลสุดคือการประสานงานร่วมมือกัน 

ประการที่ห้า การมีส่วนร่วมของพลเมืองในท้องถิ่น เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่หมายความว่ากระจายระบบราชการแข็งตัวตึงตัวเอาไปไว้ที่ท้องถิ่น แต่จะต้องกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนพลเมืองในท้องถิ่น นั่นก็หมายความว่าพลเมืองจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น นอกไปจากแค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การกระจายอำนาจในโลกนี้มีหลายรูปแบบ หลายประเทศกระจายอำนาจโดยสมบูรณ์แต่ยังเก็บราชการส่วนภูมิภาคไว้ เช่น ฝรั่งเศส สเปน บางประเทศกระจายอำนาจสมบูรณ์โดยยกเลิกภูมิภาคไปเลย เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร การตัดสินใจจึงควรเป็นการถามประชาชนผ่านการทำประชามติ และไม่ใช่ทำแบบทันที แต่มีโรดแมปแผนการต่างๆ มาเสนอ และทำภายใน 5 ปี สิ่งนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่าท้องถิ่นทำอะไร ภูมิภาคทำอะไร ถ้าประชาชนตัดสินใจว่ายกเลิก ส่วนภูมิภาคก็ไม่ใช่จะหายไป แต่จะถูกยุบไปรวมอยู่กับท้องถิ่นหรือส่วนกลางเท่านั้นเอง และร่างนี้ไม่ได้ยุ่งอะไรกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต่อให้ร่างนี้ผ่านกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็คงอยู่

“คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา ในซีกสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองสนับสนุนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ไม่มีพรรคไหนบอกว่าไม่กระจายอำนาจ แต่อาจเห็นแตกต่างกันบ้างซึ่งเราสามารถไปปรับปรุงแก้ไขกันได้ต่อไปในวาระที่ 2 เช่นเดียวกันในสมาชิกวุฒิสภา ได้ยิน ส.ว.อภิปรายหลายครั้ง ท่านก็พูดชัดเจนว่าสนับสนุนการกระจายอำนาจ ขอเรียนว่าร่างนี้อาจช่วยให้วุฒิสภาแสดงออกให้สังคมได้เห็น ว่าวุฒิสภาไม่ได้ขวางการแก้รัฐธรรมนูญหากเป็นประโยชน์ต่อประชาชน” นายปิยบุตร กล่าว