กกต. (ละ) เว้นกฎเหล็ก ประชานิยม เปิดช่องพรรคการเมืองลด แลก แจก แถม

หาเสียง

พรรคการเมืองจึงเริ่มติดป้ายหาเสียง ขายนโยบายกันถ้วนหน้า ตั้งแต่ยังไม่สิ้นศักราช 2565

ทั้งหมดเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจปากท้อง ที่จะเป็นปัจจัยที่จะชี้ขาดการเลือกตั้งในปี 2566

พรรคเพื่อไทย โยนหินชิ้นใหญ่ลงกลางวง ประกาศนโยบายค่าแรง 600 บาท ปริญญาตรีเงินเดือน 2.5 หมื่นบาท ภายในปี 2570

พรรคก้าวไกล มิตรการเมืองร่วมทางเพื่อไทย ประกาศไล่เลี่ยกัน ถ้าเป็นรัฐบาลจะขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาททันที ให้สวัสดิการเด็กเล็ก 1,200 บาททุกเดือน ให้เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาททุกเดือน

พรรคใหญ่-ใหม่ล่าสุด อย่าง พรรคภูมิใจไทย ประกาศนโยบายพักหนี้ ปลอดดอกเบี้ย 3 ปี รายละ 1 ล้านบาท นโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอน โดยภาษีที่เสียไปจะต้องคืนให้กับบ้านเกิด 30% เพื่อนำมาเป็นงบประมาณบำรุงพัฒนาบ้านเกิด เพิ่มเบี้ยให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) 2,000 บาทต่อเดือน นอกเหนือจากนโยบายกัญชาเสรี

พรรคประชาธิปัตย์ ยังปักหลักที่นโยบายประกันรายได้พืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ทั้งนี้ นโยบายทั้งหมดยังต้องผ่านการกลั่นกรองจาก “ผู้กำกับการเลือกตั้ง” คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เขียนบังคับแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งไว้ในมาตรา 57 ว่า การกําหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คํานึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย

ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทํารายการให้ กกต.สั่งให้ดําเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด

ถ้าไม่ทำตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

บวกกับ มาตรา 22 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน บังคับให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกํากับดูแลมิให้สมาชิกกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคําสั่งของ กกต.

ถ้าไม่ปฏิบัติตาม นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อ กกต. เพื่อพิจารณามีคําสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตําแหน่งทั้งคณะ

คําสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้กรรมการบริหาร พรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุดังกล่าว ดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมือง จนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่ง

กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตําแหน่ง มีสิทธิยื่นคําร้องคัดค้านคําสั่ง ของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

กฎเหล็กตามกฎหมายพรรคการเมืองที่ดูเหมือนเข้มงวด แต่ถึงเวลาใช้จริงกลับป้องกัน “นโยบายประชานิยม” ไม่ได้

ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยเคยทำหนังสือหารือ กกต. ถึงกำหนดนโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงิน จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 57 ครบทั้ง 3 ข้อ โดยศึกษารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและกำหนดขึ้นได้เอง หรือต้องมีผลงานทางวิชาการหรือผลการวิจัยในเรื่องนั้น ๆ มารับรอง ทาง กกต.ได้ตอบข้อซักถามเมื่อ 20 มกราคม 2562 ว่า “พรรคภูมิใจไทยจะใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งตามที่สอบถามมาก็ได้”

นอกจากนี้ ภูมิใจไทยยังถามอีกว่า ก่อนโฆษณานโยบายเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคต้องจัดส่งนโยบายดังกล่าวให้ กกต.พิจารณาตรวจสอบก่อนหรือไม่

กกต.ได้ตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า “ไม่มีกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องแจ้งนโยบายที่จะใช้ในการประกาศโฆษณา เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งต่อ กกต.พิจารณาตรวจสอบก่อนดำเนินการโฆษณา ดังนั้น พรรคภูมิใจไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องแจ้งต่อ กกต.ก่อนดำเนินการ”

กกต.เปิดช่องแคมเปญประชานิยม