เพื่อไทย เตือนภัยกฎเหล็ก กกต. ห้ามจัดงานวันเกิด-หาเสียงในงานเลี้ยง

กกต. เพื่อไทย

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของการเมืองไทย ทุกองคาพยพในพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคเครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร มั่นใจว่าตนเองเป็นฝ่าย “ถูกกระทำ” ในทางการเมือง

ถูกยุบพรรคมาแล้ว 3 พรรค พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคไทยรักษาชาติ

ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มทางการเมือง หลังเข้าสู่ช่วง “โค้งอันตราย” 180 วันก่อนรัฐบาลครบเทอมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 68

เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้ กกต. กําหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ วิธีการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว

นำมาสู่การที่ กกต.ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 และแนวทางการปฏิบัติและข้อควรระวังในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้สมัครและพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหน่วยงานของรัฐ

วันนี้พรรคเพื่อไทยจึงไม่ต้องการพลาดซ้ำ 2 ซ้ำ 3 จึงดึงอดีต “คนวงใน” ระดับสูงของ กกต.มาแท็กทีมในฝ่ายกฎหมายพรรค คอยเป็น “ติวเตอร์” ที่ปรึกษาทางการเมือง ให้กับบรรดา “นักเลือกตั้ง” ยกหู โทร.หากริ๊งเดียวก็ได้คำตอบ

เป็นแบ็กอัพให้พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ช่วงปรับโครงสร้าง เปลี่ยนหัวหน้าพรรคจาก “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” มาเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว แต่งตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม

มีบทบาทเป็นที่ปรึกษากฎหมายเลือกตั้ง ตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่น

ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยหวาดหวั่นกฎเหล็ก 180 วันของ กกต. จนไม่กล้ากระดิกตัวไปช่วยเหลือชาวบ้าน รวมถึงการหาเสียงล่วงหน้า และอีเวนต์ใหญ่ครอบครัวเพื่อไทย

ต่อไปนี้คือข้อ “พึงระวัง” ที่มีการกำชับกับสมาชิก-ส.ส.พรรคเพื่อไทย ป้องกันไม่ให้ติดกับดัก 180 วัน

โดยเฉพาะกับดัก มาตรา 73 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ประเด็นห้ามไม่ให้ผู้สมัครกระทำ “จูงใจ” ให้โหวตเตอร์มาลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครคนอื่น หรือจูงใจไม่ให้คนไปเลือกผู้สมัครคนอื่น หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนน “ไม่เลือกผู้ใด” เป็น ส.ส.

ข้อแรก จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

มีการหยิบยกเรื่องของการไปร่วมงานศพตามประเพณี ซึ่งการให้ “พวงหรีดดอกไม้สด” กกต.อนุญาต แต่ถ้า “พวงหรีดดอกไม้แห้ง” ถือว่าเป็น “ของต้องห้าม”

เพราะ “พวงหรีดดอกไม้สด” กกต.ตีความว่า ให้ครั้งนั้นเพียงครั้งเดียวเพราะเอาไปใช้ต่อไม่ได้ แต่ถ้าเป็นหรีดอื่น เช่น หรีดพัดลม ถือเป็น “ทรัพย์สิน” ที่นำไปใช้ต่อได้

ข้อ 2 ข้อควรระวังเรื่อง “สัญญาว่าจะให้” ไม่ว่าจะโดยเจตนา หรือไม่เจตนา ไม่ว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด ก็ต้องพึงระวัง

มีการยกตัวอย่างว่า เริ่มมี ส.ส.ออกนโยบายเฉพาะพื้นที่ของตนเองในการเลือกตั้ง นอกเหนือจากนโยบายของพรรค จึงมีการกำชับว่า ถ้าเป็นนโยบายที่ไม่ได้ใช้ “เงินส่วนตัว” เป็นนโยบายเฉพาะพื้นที่นั้น สามารถพูดได้ เพราะไม่ได้เป็นสัญญาว่าจะให้ แต่ย้ำว่าถ้าจะมีนโยบายใหม่ ๆ ของตนเองต้องปรึกษากับ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานนโยบายพรรคเพื่อไทยเสียก่อน

เพราะถ้าเป็นนโยบาย “เกินความเป็นจริง” จะเข้าข่ายผิดมาตรา 73 (5) ฐาน “หลอกลวง”

ข้อ 3 ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพ หรือการรื่นเริงต่าง ๆ พรรคเพื่อไทย จำลองสถานการณ์ว่า หากงานดังกล่าวถ้าเป็นชาวบ้านเป็นผู้จัดงาน มี ส.ส.ไปร่วมงานนั้นเพื่อกล่าวเปิดงาน สามารถทำได้ แต่ “แนะนำ” ว่า

“ถ้ามีดนตรีอยู่ในงานอย่าไปหาเสียง หรืองานแต่งงาน มีดนตรีอยู่ข้างหลังแล้วไปหาเสียง ก็ต้องไปสู้ในชั้นศาลว่าเราไม่ได้เป็นผู้จัด จึงเป็นลักษณะที่หมิ่นเหม่”

ข้อ 4 ห้ามเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด ตามกฎหมายให้ ส.ส.จัดเลี้ยงได้เฉพาะผู้ช่วยหาเสียง 20 คน ส่วนคนที่มาช่วยหาเสียงนอกจากนี้ต้องใจดำ ให้เขาจ่ายตังค์เอง

ข้อ 5 ช่วงการจัดงานบวช งานแต่ง งานศพ โดยผู้จัดเป็น ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส. ข้อแนะนำของ กกต.จัดได้เท่าที่จำเป็น แต่ให้พึงระวังว่ามีขนาดใหญ่เกินไป ที่สำคัญต้อง “ไม่โฆษณาหาเสียง”

เช่น ในงานแต่งงานห้ามใส่เสื้อพรรคและแจกใบปลิวหาเสียงในงาน เพราะเท่ากับเป็นการจัดเลี้ยง ส่วนการเชิญคนเท่าใดนั้น ตามข้อแนะนำของ กกต.ไม่ได้ระบุว่า ห้ามเชิญแขกไม่เกิน 500 หรือ 1,000 คน ดังนั้น จัดเท่าที่จำเป็น

“ยกตัวอย่าง นักการเมืองคนหนึ่งมีการจัดงานวันเกิด มี ส.ส.ไปร่วมงาน ตอนนี้เขายังไม่เป็นผู้สมัคร สามารถทำได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง หลักฐานนี้สามารถเอามาร้องคัดค้านได้”

ข้อ 6 เตือน ส.ส.ว่า ให้ระวัง อย่าทิ้งใบปลิวหาเสียงไว้มั่วซั่ว ระวังจะถูกร้อง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 หมวดที่ 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 18 (2) ห้ามแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ

“เพราะเคยมีผู้สมัครหาเสียงในพื้นที่หนีบแผ่นพับ และเขาไปเข้าห้องน้ำ ระหว่างที่เข้าห้องน้ำก็ไปวาง แต่มีคู่แข่งไปถ่ายเอกสารไปวางในที่สาธารณะต้องต่อสู้กันว่าไม่มีเจตนา ต้องสู้กัน ดังนั้น เวลาเข้าห้องน้ำอย่าไปหนีบเอกสารไว้” ฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย กำชับ ส.ส.

ข้อ 7 เรื่องการช่วยเหลือเงินให้แก่ผู้ใดตามประเพณีต่าง ๆ ตามข้อ 18 (4) แต่ตามกฎหมาย ไม่ได้เขียนกรณีที่มี “เหตุอันสมควร” พรรคเพื่อไทยจึงทำหนังสือสอบถามไปยัง กกต. เช่น มีภัยพิบัติ ส.ส.จะเข้าไปช่วยเหลือได้หรือไม่ แต่ ณ วันนี้ยังทำไม่ได้ เพราะ กกต.ยังไม่ไขความกระจ่าง

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราส่งเรื่องไปยัง กกต.เพื่อให้ กกต.ทบทวน เรื่องระเบียบการหาเสียงและข้อห้ามในการหาเสียง โดยเฉพาะประเด็น 180 วัน กรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความลำบากมาก แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่สามารถให้สิ่งของที่มีความจำเป็นกับประชาชนที่เดือดร้อนได้เลย

ดังนั้น เราดูข้อกฎหมาย ประกาศระเบียบ กกต. ในมุมที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ น่าจะมีช่องทางทางกฎหมายที่สามารถออกระเบียบเว้นไว้เฉพาะกรณีที่มีภัยพิบัติ ซึ่งเบื้องต้นพรรคได้ส่งหนังสือไปยัง กกต.แล้ว และขั้นตอนต่อไปจะเสนอร่างแก้ไขระเบียบ กกต. โดยฝ่ายกฎหมายของพรรคต้องเร่งทำ เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่

ด้วยข้อห้ามอันหยุมหยิม ยิบย่อย นักการเมืองไม่กล้ากระดิกตัว พรรคเพื่อไทยจึงต้องติวเข้ม ส.ส.พรรค ห้ามเหยียบกับดักอันตราย