กกต.กับกฎห้ามช่วย

น้ำท่วม
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ยังนิ่งเงียบอยู่สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากกรณีพรรคการเมือง-นักการเมืองจำนวนมาก เรียกร้องให้ออกข้อยกเว้นกฎ 180 วันก่อนกำหนดเลือกตั้ง ซึ่งตามระเบียบเดิมก่อนรัฐบาลหมดอายุ 180 วัน หรือตรงกับวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ห้ามนักการเมืองหรือพรรคการเมืองแจกของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ แม้โดยความตั้งใจเดิมเชื่อว่าเพื่อป้องกันพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเงินหนาใช้ความได้เปรียบ หาเสียงล่วงหน้ากับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ขณะนี้ที่ประชาชนหลายแสนครัวเรือน กำลังเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งประเมินว่ามีความรุนแรงระดับน้อง ๆ มหาอุทกภัยปี 2554 และบางพื้นที่รุนแรงกว่าด้วยซ้ำ โดย กกต.ออกมาฮึ่มฮั่มตั้งแต่เริ่มนับ 180 วัน ว่าห้ามช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบแจกของ หรืออื่น ๆ ทำได้เพียงให้กำลังใจ ซึ่งเวลานั้นสถานการณ์ยังไม่รุนแรงเท่าขณะนี้ แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป ความเดือดร้อนกระจายตัวเกือบทั่วประเทศ ทว่า กกต.ยังยืนกรานคำเดิม

แม้หน่วยงานภาครัฐ หรือท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนบางส่วนมีมาตรการช่วยเหลือ แต่ยังไม่เพียงพอ หลายพื้นที่มีความต้องการทั้งอาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัยชั่วคราว หรือกระทั่งสุขาเคลื่อนที่ ดังเห็นได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นอีกหนึ่งองคาพยพที่เข้าถึงประชาชนได้รวดเร็ว เนื่องจากมีเครือข่ายในจังหวัด หรือพื้นที่รับผิดชอบของตนอยู่แล้ว

ต่อให้ทำเพื่อหาเสียงหรือหวังประโยชน์ในอนาคต แต่สำหรับชาวบ้านที่แทบกินน้ำตาแทนข้าว การได้ถุงยังชีพเพิ่มขึ้น ได้ที่พักชั่วคราวอย่างเพียงพอ ได้สุขาเคลื่อนที่ หรือกระทั่งสะพานไม้ เพื่อบรรเทาเบาบางความทุกข์ได้บ้างย่อมดีกว่าอยู่อย่างขาดแคลน หรือลำบากเกินไป แต่เพราะเงื่อนไขและข้อจำกัดของกฎเกณฑ์ ทำให้ขาดส่วนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่การช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ

ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ มักออกมาตรการยกเว้นกฎเกณฑ์บางประการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน อาทิ ยกเว้นภาษี ยกเว้นระเบียบขั้นตอนการเบิกจ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานรวดเร็วขึ้น ทั่วถึงมากขึ้น แต่แม้เห็นประชาชนเดือดร้อนเกือบครึ่งประเทศ กกต.ยังกอดกฎเกณฑ์กติกาอย่างเหนียวแน่น

กฎเกณฑ์หรือกติกาต่าง ๆ มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระเบียบ แต่หากกฎเกณฑ์เหล่านั้นขัดขวางการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังเดือดร้อน กำลังอดอยาก การยกเว้นชั่วคราว ยกเว้นแบบมีเงื่อนไข หรือแบบมีกำหนดเวลา คงไม่ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ลดน้อยลงกระมัง จึงควรหรือไม่ที่ กกต.ต้องเร่งหารือกับรัฐสภา ว่ามีช่องทางใดยกเว้นกฎเกณฑ์เหล่านี้ เพราะการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ย่อมสมควรมาก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด