ครม.รับทราบ ใช้จ่ายเงินกู้โควิด รอบ 6 เดือน เฉียด 3 ล้านล้าน

ครม.รับทราบ ใช้จ่ายเงินกู้โควิด รอบ 6 เดือน เฉียด 3 ล้านล้าน
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ครม.รับทราบผลการใช้จ่ายพ.ร.ก.เงินกู้โควิด รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 2 สร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 2.9 ล้านล้าน

วันที่ 3 มกราคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. เงินกู้ ฯ 1 ล้านล้านบาท) ครั้งที่ 2 ใช้จ่ายเงินกู้ ตามพระราชกำหนด รอบ 6 เดือน (กรกฎาคม -ธันวาคม 65)

โดยการประเมินผลจะสุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงาน ที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 100 โครงการ กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติรวม 898,092.12 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายรวม 877,766.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.73 ของกรอบวงเงินตามที่ คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ( ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2565) โดยทั้ง 100 โครงการ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก สร้างมูลค่าผล กระทบต่อเศรษฐกิจ 2,916,074.47 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ 562,869.84 ล้านบาท เกิดความคุ้มค่า 3.55 เท่า

โดยมีผลการประเมินระดับแผนงาน ดังนี้

แผนงานที่ 1 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด- 19 การประเมินผลจำนวน 26 โครงการ กรอบวงเงินรวม 55,086.52 ล้านบาท เบิกจ่ายรวม 51,046.76 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.66 ของกรอบวงเงิน มีผลการประเมินอยู่ในระดับดี เช่น

โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชน และโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด- 19 สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทยเพิ่มเติม 35 ล้านโดส ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 63,559.74 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐจากการจัดเก็บภาษี จำนวน 12,267.03 ล้านบาท

เกิดความคุ้มค่าหรือมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ 4.65 เท่า และผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ คือ เพิ่มความสามารถด้านระบบสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19

แผนงานที่ 2 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับ ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การประเมินผลจำนวน 17 โครงการ กรอบวงเงินรวม 669,688.03 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 667,393.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.65 ของกรอบวงเงิน

โดยมีผลการประเมินอยู่ในระดับดี เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 2,156,189.28 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐจากการจัดเก็บภาษี จำนวน 416,212.00 ล้านบาท เกิดความคุ้มค่าหรือมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ 3.23 เท่า

สำหรับผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ คือ เพิ่มความสามารถในการรักษาสภาพคล่อง ชะลอการเกิดหนี้เสียของภาคธุรกิจ รักษาการจ้างงานของภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจและสังคมรักษา/ชดเชยรายได้ให้กับประชาชนและเกษตรกร บรรเทาภาระค่าใช้ใช้จ่ายสาธารณูปโภค (ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า) และชะลอการเกิดหนี้เสียและการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครอบครัว อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะ

เช่น ควรเพิ่มบทลงโทษกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ และการมีระบบ ฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์และการปรับปรุงฐานข้อมูลให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน

แผนงานที่ 3 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีผลการประเมินอยู่ในระดับดี เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการคนละครึ่ง ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 696,325.45 ล้านบาท มีรายได้ที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุดจากการจัดเก็บภาษี จำนวน 134, 390.81 ล้านบาท เกิดความคุ้มค่าหรือมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ 3.55 เท่า

สำหรับผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ คือ ลดการว่างงาน การเลิกจ้างงาน สร้างงาน สร้างอาชีพ ประชาชนได้รับการฝึกอบรมด้านเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกิดแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และมีการพัฒนาแหล่งน้ำกักเก็บน้ำและระบบชลประทาน รวมทั้งเกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ใช้วิเคราะห์เชิงลึกเพื่อออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจ

โดยมีข้อเสนอแนะ เช่น ควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก และให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยี และการปกป้องข้อมูลของประชาชน