เผยเงื่อนไข “คนละครึ่ง” สำรวจพลังงานใต้ทะเล พื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา

พล.อ.ประวิตร
พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน JTC ไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทย

เตรียมนำเข้าสภา เห็นชอบเงื่อนไขเจรจาสำรวจพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หวังสู้วิกฤตพลังงานจากศึกรัสเซีย-ยูเครน ย้ำไม่มีเรื่องแบ่งเขตแดน ยึดหลักสองประเทศได้ประโยชน์แบบคนละครึ่ง

วันที่ 4 มกราคม 2566 แหล่งข่าวเผยถึงการประชุมวาระลับในช่วงท้ายการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ม.ค. 2566 ว่ามีการพิจารณาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นำเข้ามาหารือใน ครม. ใช้เวลาราว 20 นาที พร้อมเชิญผู้ไม่เกี่ยวข้องออกนอกที่ประชุม

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน JTC ไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทย หารือกับนายซุย แซม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา ในฐานะประธาน JTC ไทย-กัมพูชา ฝ่ายกัมพูชา ร่วมกันผลักดันความร่วมมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานน้ำมันและแก๊ส

ในพื้นที่บริเวณพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) รับทราบว่าทางกัมพูชายินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยโดยใช้โครงสร้างของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC) ระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป

เนื้อหาการเจรจาดังกล่าว ไม่เอ่ยถึงเรื่องเขตแดนที่ยังทับซ้อน เนื่องจากเป็นหัวข้อที่จะดำเนินการต่อเรื่องการสำรวจแหล่งพลังงานไม่ได้ ในขณะที่ปัญหาวิกฤตพลังงานจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอีกหลายปัจจัยทำให้สองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรนำพลังงานที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ร่วมกัน โดยที่ประชนทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมี 4 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่

1) รัฐบาลเห็นชอบร่วมกัน และต้องประกาศให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ขัดแย้งกันเอง

2) ต้องให้สภาให้ความเห็นชอบร่วมกันทั้งสองประเทศ

3) ไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

4) ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น แบ่งกันคนละครึ่ง

“เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราคุยกันไว้ในเรื่องพลังงาน เปรียบเหมือนมีเงินในกระเป๋า แต่ไม่สามารถเอาออกมาใช้ได้ ความสามารถของรัฐบาลก็คือมีเงินอยู่ในกระเป๋าแล้วเอาออกมาใช้ให้ได้

ฉะนั้น ข้อตกลงที่เราคุยจากนี้ไปก็จะมีการประชุมหารือตั้งคณะทำงานร่วมกัน” แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงเผย และว่าหน่วยงานที่ต้องขับเคลื่อนหลักในเรื่องนี้ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ เพราะเป็นเรื่องเส้นเขตแดน เพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อน กระทรวงพลังงาน เพราะเป็นเรื่องวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น เป็นต้น