ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง สมทบเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ

การเงิน การออม

รัฐบาลเห็นชอบร่างกฎกระทรวง กำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. …. เพิ่มจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สร้างแรงจูงใจ กระตุ้นการออม

วันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. …. ปรับเพิ่มให้สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับสมาชิกในอัตราที่กำหนดตามช่วงอายุไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.การจ่ายเงินสะสมสูงสุดของสมาชิก ขั้นต่ำ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2558 เดิมขั้นต่ำ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน ไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี) ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 16,800 บาท

2.การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาล

– สมาชิกอายุไม่เกิน 30 ปี บริบูรณ์ ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 600 บาทต่อปี)

– สมาชิกอายุเกิน 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 50 ปีบริบูรณ์ ในอัตราร้อยละ 80 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 960 บาทต่อปี

– สมาชิกอายุเกิน 50 ปีบริบูรณ์ ในอัตราร้อยละ 100 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี)

นายอนุชากล่าวว่า การเพิ่มจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบ เป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ประมาณ 19 ล้านคนทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมกองทุน ซึ่งเป็นการออมร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน รวมทั้งกระตุ้นสมาชิก กอช. เพิ่มการออม สร้างความมั่นคงในอนาคตให้สมาชิกมีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัยในอัตราที่เพิ่มขึ้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรียังเน้นเป้าหมายของกองทุนฯ มุ่ง ให้การดูแลบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใด ๆ อย่างเช่น เกษตรกร โดยหวังให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ยังมีรายได้ในการดำรงชีวิตในยามชรา ซึ่งในปี 2566 มีสมาชิก กอช. ประมาณ 2,575,000 คน

อนึ่ง กระทรวงการคลังยังประเมินว่า จำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น โดยสมาชิก กอช.ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม โดยเงินบำนาญที่คาดว่าจะได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในบัญชีประกอบด้วยเงินสะสมของสมาชิก เงินสมทบจากรัฐ และผลตอบแทนจากการนำเงินดังกล่าวไปลงทุน