คดียุบพรรคเลือกตั้ง 66 ขั้วรัฐบาล-ฝ่ายค้าน พรรคไหนเสี่ยงถูกยุบ

การเลือกตั้ง 2566 กำลังจะเริ่มต้นแข่งขันอย่างดุเดือด ในอีกไม่เกิน 3 เดือน พรรคเพื่อไทยหาเสียงชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเป้ากลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญ แต่ทั้ง 3 พรรค อาจติดรากแหต่อสู้ “คดียุบพรรค” อีกครั้ง

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ลงนามในหนังสือ เรื่อง การควบคุมและกำกับดูแลมีให้สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย แจ้งต่อหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค พร้อมกับได้ลงนามในหนังสือเรื่องการควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ส่งถึงหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

โดยมีรายละเอียดว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้ปราศรัยนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง อาจเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ กกต. ดังนั้นจึงขอให้พรรครวมไทยสร้างชาติควบคุมและกำกับดูแลมิให้นายไตรรงค์กระทำการอันอาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับรวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของ กกต.

อดีต กกต. ชี้ความผิดสำเร็จเข้าขั้นยุบพรรค

วันที่ 13 มีนาคม 2566 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกรณีที่เลขาธิการ กกต.ออกหนังสือเตือนหัวหน้าพรรคการเมืองให้ควบคุมสมาชิกพรรคห้ามปราศรัยพาดพิงสถาบันว่า คำร้องกรณี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี กล่าวปราศรัยในเวทีการเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 และเวทีหาเสียงที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ตนได้ยื่นร้องต่อ กกต.

มีผลคือเลขาธิการ กกต.ลงนามเอกสารถึงทุกพรรคเพื่อให้ระมัดระวังการหาเสียงที่พาดพิงสถาบัน และมีหนังสือเตือนไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพื่อกำกับนายไตรรงค์ไม่ให้กระทำการที่อาจเข้าข่ายดังกล่าว ซึ่งต้องชื่นชมเลขาฯที่ออกหนังสือ 2 ฉบับ แต่เท่านี้ยังไม่สมควรจบ เพราะเป็นความผิดสำเร็จที่กระทำขึ้นแล้วถึง 2 ครั้ง และเป็นข้อหาที่เชื่อมโยงถึงการทำความผิดตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองถึงขั้นยุบพรรค

“สิ่งที่เลขาฯ พึงกระทำคือการมีคำสั่งรับ หรือไม่รับคำร้อง หากรับคำร้องต้องตั้งกรรมการเก็บรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงเสนอ กกต.ภายใน 30 วัน เพื่อให้ กกต.วินิจฉัย หาก กกต.เห็นว่าผิดก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคต่อไป ขอบคุณที่ทำงานเรื่องนี้ พอมีความคืบหน้าก็แจ้งประชาชน ส่วนกรณี กกต.ปัดตกคำร้องกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเมื่อวันเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์อีก 4 เรื่องนั้น รอผมยื่นต่อ ป.ป.ช.เร็วๆ นี้” นายสมชัยกล่าว

พรรคไหนเสี่ยงโดนยุบ
พรรคไหนเสี่ยงโดนยุบ

เลือกตั้ง 2566 มีพรรคอะไรบ้างเข้าข่ายโดนยุบ

สนธิญา ร้องยุบเพื่อไทย : วันที่ 7 มีนาคม 2566 นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร้อง กกต.ยุบเพื่อไทยจากกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ขึ้นปราศรัยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทยทั้งที่ถูกตัดสิทธิการเมืองโดยระบุว่า นายณัฐวุฒิ ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้มีการขึ้นปราศรัยในเวทีของพรรคเพื่อไทย สนับสนุนผู้สมัคร และเปิดเผยนโยบายของพรรค ด้อยค่าบุคคลอื่นแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่สบายก็นำขึ้นไปกล่าวบนเวที

ซึ่งการที่พรรคเพื่อไทยนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้นายณัฐวุฒิมีส่วนร่วมในเวทีต่างๆ ของพรรค จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (2) ที่ระบุว่าการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ก้าวไกลเสี่ยงยุบพรรคหลังตั้ง ‘ธนาธร’ ช่วยหาเสียง : วันที่ 2 มีนาคม 2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แต่งตั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขานุการคณะก้าวหน้า และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ว่า

“บุคคลทั้ง 3 ต้องไปตรวจสอบข้อกฎหมายให้ชัดเจนว่ามีสถานะอย่างไร ตอนนี้ตนกำลังตรวจสอบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากเป็นอย่างไรก็จะดำเนินการทันที เพราะทราบว่าทั้ง 3 ท่านจะไปช่วยพรรคการเมืองหาเสียงในวันที่ 3 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงพอสมควร เพราะหากตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจจะนำไปสู่การยุบพรรคที่นายธนาธรไปช่วยหาเสียงได้อีกครั้งหนึ่ง”

กกต.รับคำร้องปมพลังประชารัฐรับเงินบริจาคทุนจีนเทา : วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ข่าวสดรายงานว่า แหล่งข่าวระดับสูงจาก กกต. กล่าวถึงกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐยอมรับว่านายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ นายทุนจีนที่ได้รับสัญชาติไทย เชื่อมโยงกับผับคนจีนย่านยานาวา ที่ถูกตำรวจบุกทลายปาร์ตี้ยาเสพติด พบมีชื่อบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ 3 ล้านบาทเมื่อปี 2564 ว่า

ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พ.ศ. 2564 ข้อ 4 กำหนดให้เมื่อมีผู้ร้องหรือข้อเท็จจริงปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่ามีพรรคใดกระทำการอันอาจเป็นเหตุให้ยุบพรรค ทางนายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทันที

ดังนั้น กรณีนี้นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือเลขาธิการ กกต.จะดำเนินการตรวจสอบ และรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานก่อน หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค นายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณาต่อไป

ย้อนยุบพรรคอนาคตใหม่ 2563

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560พร้อมกับยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวมาจาก คำชี้แจงของ กกต. ที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 62 กำหนดที่มารายได้ของพรรคการเมืองไว้ 7 ประเภท ไม่มีประเภทรายได้อื่นที่เปิดช่องให้พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินมาดำเนินกิจการพรรคการเมืองได้ ดังนั้น หากไม่ใช่เงินรายได้ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง 7 ประเภท แม้จะเป็นเงินที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็อาจเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพรรคการเมือง

เลือกตั้ง 2562 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ตามมาตรา 92 และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง แก่คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี และห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นเวลา 10 ปี และห้ามใช้ชื่อซ้ำ และชื่อย่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองนี้ เป็นเวลา 10 ปี โดยมีคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ บางตอนว่า

“เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำโดยรู้สำนึก และสมัครใจอย่างแท้จริง กรรมการบริหารพรรคย่อมรู้ดีว่า ทูลกระหม่อมเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ และเป็นเชษฐภคินี แม้จะถวายบังคมลาจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังคงดำรงเป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง

ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชน คนทั่วไปรู้สึกได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนฝักใฝ่ทางการเมืองและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียฐานะที่ต้องอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามเป็นเหตุให้เข้าข่ายเป็นการกระทำเป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครอง ตามมาตรา 92 จึงมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง”

ยุบพรรคไทยรักไทย 2550

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้องสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากปมกู้ยืมเงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึงยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เหตุการณ์ในลักษณะนี้ยังเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ยังโลดแล่นทางการเมือง.

ซึ่งในยุคนั้นมีพรรคการเมืองที่เคยถูกยุบพร้อมกันมาแล้วหลายพรรคในเวลาไล่เลี่ยกัน เริ่มจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียน กกต.ว่า พรรคไทยรักไทย ได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก อย่างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคเล็กเมื่อปี 2549

จากนั้น กกต. ได้ส่งอัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค แต่ระหว่างนั้นเกิดรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 และตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ 9 คน เพื่อพิจารณาคดี

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จึงมีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 จนส่งผลให้นักการเมืองหลายคนถูกตัดสิทธิทางการเมือง เนื่องจาก พ.ร.ป. 2550 กำหนดว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้นเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ภาคต่อยุบ 3 พรรคการเมืองในปี 51

ในปี 2551 พรรคพลังประชาชน ถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินี หรือตัวแทนพรรคไทยรักไทย ในขณะนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรค และมีความสัมพันธ์เป็นน้องเขยทักษิณ ถูก กกต.สรุปว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ว่าเข้าข่ายเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย แต่ไม่สามารถเอาผิดได้

จนกระทั่ง กกต.ได้มีมติให้ใบแดงพรรคพลังประชาชนและส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค หลังพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่ จ.เชียงราย โดยในวันที่ 8 ก.ค.2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ 5 ปี พร้อมส่งอัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน จนกระทั่งวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี

ขณะที่ พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้ถูก กกต.ส่งคำร้องไปยังอัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคด้วย เพราะมีเหตุจากกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมกับเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคตามไปด้วยเช่นเดียวกัน