ครม. เห็นชอบ งบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท

ทีมโฆษก-แถลงผลประชุมครม.

ครม.เห็นชอบงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท เป็นงบกลางกว่า 601,745.0 ล้าน ส่วนงบสำรองจ่ายฉุกเฉิน 93,000 ล้านบาท

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท จำแนกตามรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

1.วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3,350,000.0 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2,490,860.5 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 717,199.6 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 117,250.0 ล้านบาท วงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 593,000.0 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 19,421,600 ล้านบาท

2.งบประมาณดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องกำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แบ่งเป็น งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 93,000 ล้านบาท งบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ (เฉพาะเงินต้น) วงเงิน 117,250 ล้านบาท รายจ่ายผูกพันข้ามปีงบประมาณ (รายการผูกพันใหม่) วงเงิน 333,674.3 ล้านบาท รายจ่ายลงทุนวงเงิน 717,199.6 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน ไม่น้อยกว่าวงเงินขาดดุลงบประมาณประจำปีนั้น 717,199.6 ล้านบาท

3.งบประมาณ จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ งบกลาง 601,745.0 ล้านบาท (ร้อยละ 17.96) รายจ่ายของหน่วยรัฐงบประมาณ 1,148,298.1 ล้านบาท (ร้อยละ 34.28) รายจ่ายบูรณาการ 210,249.0 ล้านบาท (ร้อยละ 6.28) รายจ่ายบุคลากร 790,029.5 ล้านบาท (ร้อยละ 23.58) ทุนหมุนเวียน 229,112.3 ล้านบาท (ร้อยละ 6.84) ชำระหนี้ภาครัฐ 336,807.0 ล้านบาท (ร้อยละ 10.05) และชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท (ร้อยละ 1.01)

งบกลาง (11รายการ) 6 แสนล้าน

4.งบประมาณ จำแนกตามกระทรวง งบกลาง (11 รายการ) 601,745.0 ล้านบาท 2.สำนักนายกรัฐมนตรี 35,423.3 ล้านบาท 3.กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท 4.กระทรวงการคลัง 313,822.0 ล้านบาท 5.กระทรวงการต่างประเทศ 7,555.9 ล้านบาท 6.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,764.7 ล้านบาท 7.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 25,261.4 ล้านบาท

8.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 127,669.8 ล้านบาท 9.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142.9 ล้านบาท 10.กระทรวงคมนาคม 183,950.0 ล้านบาท 11.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8,639.9 ล้านบาท 12.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 31,977.4 ล้านบาท 13.กระทรวงพลังงาน 3,026.7 ล้านบาท 14.กระทรวงพาณิชย์ 6,680.9 ล้านบาท 15.กระทรวงมหาดไทย 351,985.3 ล้านบาท 16.กระทรวงยุติธรรม 26,048.0 ล้านบาท

17.กระทรวงแรงงาน 61,841.1 ล้านบาท 18.กระทรวงวัฒนธรรม 7,004.6 ล้านบาท 19.กระทรวงศึกษาธิการ 330,512.3 ล้านบาท 20.กระทรวงสาธารณสุข 170,369.2 ล้านบาท 21.กระทรวงอุตสาหกรรม 4,645.0 ล้านบาท 22.ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 128,444.2 ล้านบาท 23.จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 22,628.4 ล้านบาท 24.รัฐวิสาหกิจ 149,382.7 ล้านบาท

25.หน่วยงานของรัฐสภา 7,499.3 ล้านบาท 26.หน่วยงานของศาล 24,914.6 ล้านบาท 27.หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 23,054.4 ล้านบาท 28.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 93,647.6 ล้านบาท 29.หน่วยงานอื่นของรัฐ 583.2 ล้านบาท 30.สภากาชาดไทย 8,867.5 ล้านบาท 31.ส่วนราชการในพระองค์ 8,478.4 ล้านบาท 32.ทุนหมุนเวียน 229,112.3 ล้านบาท 33.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท

5.งบประมาณ จำแนกตามยุทธศาสตร์ชาติ ความมั่นคง 391,495.8 ล้านบาท (11.69%)-ด้านการแข่งขัน 374,547.5 ล้านบาท (11.18%)-ทรัพยากรมนุษย์ 565,073.8 ล้านบาท (16.87%)-ความเสมอภาคทางสังคม 821,736.7 ล้านบาท (24.53%)-สิ่งแวดล้อม 129,870.9 ล้านบาท (3.88%)-พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 603,209.3 ล้านบาท (18.00%)-รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 464,066.0 ล้านบาท (13.85%)

6.งบประมาณ แผนงานบูรณาการ รวมทั้งสิ้น 210,249.0 ล้านบาท

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ความมั่นคง (แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และ ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด) วงเงิน 10,854.3 ล้านบาท
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว) 137,796.0 ล้านบาท
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (รองรับสังคมสูงวัย พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก) 2,514.5 ล้านบาท
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 สิ่งแวดล้อม (การบริหารจัดการน้ำ) 55,123.2 ล้านบาท
  • ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการภาครัฐ (ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รัฐบาลดิจิทัล) 3,961.0 ล้านบาท

7.งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีงบประมาณจัดสรรรวมทั้งสิ้น 801,092.10 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.06 ของรายได้สุทธิรัฐบาลปี 2567 จำนวน 2,757,000 บาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท ยังเชื่อมโยงแผนแม่บท 23 ประเด็น (แผนย่อย 85 ประเด็น) วงเงิน 1,521,757 ล้านบาท แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ใน 13 หมุดหมาย วงเงิน 1,121,375 ล้านบาท และโครงการสำคัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้งหมด 1,026 โครงการ

แก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า 2.9 แสนล้าน

สำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า งบประมาณ 295,085 ล้านบาท รวมทั้งหมด 434 หน่วยงาน จำนวน 268 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 295,085 ล้านบาท ใน 5 มิติความขัดสน ตามหลักการแก้ไขปัญหาคนยากจนตาม TPMAP

ได้แก่ มิติด้านรายได้ 177,147 ล้านบาท มิติด้านการศึกษา 19,703 ล้านบาท มิติด้านสุขภาพ 87,965 ล้านบาท มิติด้านความเป็นอยู่ 7,086 ล้านบาท มิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ 3,184 ล้านบาท รวมทั้งยังแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านสภาพแวดล้อม มิติด้านการศึกษา มิติด้านความมั่นคงทางการเงิน

ทั้งนี้ ยังมีรายการสำคัญที่เสนอตั้งงบประมาณ 2567 ได้แก่-อสม./อสส. งบประมาณ 25,967.0880 ล้านบาท เพื่อให้ค่าป่วยการ อสม./อสส. เหมาะสมกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

– กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน งบประมาณ 27,555,1239 ล้านบาท เพื่อให้อัตราเงินค่าตอบแทนสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และค่าครองชีพ

โอกาสนี้ คณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรี ที่ให้รายจ่ายลงทุนที่จะขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณทุกรายการต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรกเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายจ่ายลงทุนนั้น ๆ โดยไม่รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด และเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว สำนักงบประมาณจะนำเสนอการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อไป