ธนพร ศรียากูล วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 อยู่ต่อกับลุงตู่ หรือดูแลลุงป้อม

ธนพร ศรียากูล
รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ฟันธง คนไทยมีทางเลือกแค่ 2 จะอยู่ต่อกับลุงตู่ หรือดูแลลุงป้อม แบ่งเขตเลือกตั้งมีผลชี้ขาดชัยชนะ

วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่อาคารมติชน “เครือมติชน” จัดเวทีเสวนาวิชาการ “วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง” เสวนา หัวข้อ “บทวิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากการแบ่งเขต 400 เขต” โดย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ซึ่งนับเป็นเวทีที่ 2 ในแคมเปญ “มติชน เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย”

รศ.ดร.ธนพรกล่าวว่า ตนกำลังจะทำให้เห็นคือ 1.ใช้ข้อมูล Secondary data ที่จัดเก็บอย่างเป็นระบบ เช่น เอาข้อมูลราคาข้าวในอดีต มาคาดการณ์อนาคต ลองคิดดูว่าข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งจากปี 2531 หายากมาก ตอนนี้กดเข้าไปในอินเทอร์เน็ตก็เจอ

ถ้าฐานข้อมูลมีครบอย่างนี้ เรามีของ ซึ่งเป็นของแท้ที่ผ่านกระบวนการ เป็นพฤติกรรมคนที่ลงคะแนนจริง ๆ

2.ข้อมูลแบบนี้จะถูกหักอคติออก เพราะ ‘ไม่ใช่เรื่องของผม’ เป็นเรื่องของคนไทย 70 ล้านคน จากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว นี่คือตัวเลขที่ใช้วิเคราะห์จริง ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว โดยเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ไม่ได้ซับซ้อน ใช้โปรแกรมคอมพิเตอร์ธรรมดา ใส่ ‘ตัวแปร’ เพื่อลดอคติให้มากที่สุด

ใส่แค่ 2 ตัวแปรก็พอ คือ 1.ตัวแปรผลการเลือกตั้ง ใส่ลงไปถึงระดับตำบล ซึ่งเรามีทีมงานไปตามล่าข้อมูลที่แฝงอยู่ในเว็บไซต์ต่าง ๆ และใส่ตัวแปรที่ 2 คือเขตเลือกตั้งที่แบ่งใหม่ ก็จะได้ผลออกมา นี่คือหลักการ

แบ่ง 400 เขตเลือกตั้ง พรรคลุงตู่ได้ลุ้น 264 เสียง

รศ.ดร.ธนพรกล่าวว่า การแบ่งเขตครั้งนี้ 350 เขต เป็น 400 เขต มันมีผลต่อการเลือกตั้ง ผมมีกรอบในการวิเคราะห์ว่า พอทำตามวิธีที่บอกผลที่ออกมา ‘สวัสดีกับพรรคเพื่อไทย แลนด์สไลด์ไม่เกิด’ ขั้วลุงตู่ยังได้ไปต่อ 264 เสียง พรรคพลังประชารัฐ ได้ 142 พรรคภูมิใจไทย 59 พรรคประชาธิปัตย์ 48 พรรคชาติไทยพัฒนา 9 พรรครวมพลังประชาชาติไทย 2 พรรคเศรษฐกิจใหม่ 2 พรรคชาติพัฒนากล้า 1 พรรรคพลังท้องถิ่นไท 1 รวม 264

“การย้ายพรรค เกิดในขั้วเดียวกันเกิน 95% มีย้ายข้ามขั้วกรณีเดียวคือ ‘สามมิตร’ ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ ไปพรรคเพื่อไทย แต่ที่เหลือขั้วเดียวกันหมด”

แจง 3 scenario กรอบความคิดการเมืองไทย เลือกตั้ง 2566

รศ.ดร.ธนพรกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ขั้วฝ้ายค้านเดิม พอแบ่งเป็น 400 เขต เอาคะแนนปี 2562 เป็นตัวตั้ง ก็ยังคงเป็นฝ่ายค้านต่อไป เพื่อไทย 174 อนาคตใหม่ 48 ประชาชาติ 9 เสรีรวมไทย 3 เพื่อชาติ 2

“ในผลคะแนนที่ออกมา เรามักจะบอกว่าวันนี้เมืองไทยยังอยู่ในกรอบความคิด ‘เอาตู่ หรือไม่เอาตู่’ ตู่ไปต่อหรือจะเฉดหัว ในกรอบความคิดนี้จึงมี 3 ซีนาริโอ คือ

1.เพื่อไทยแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน ปิดสวิตช์ ส.ว. 376 เสียง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ตัวแปรทั้ง 2 ของผม ปิดสวิตช์ไม่สำเร็จ”

2.ลุงป้อมพยายามเดินหน้าอยู่ ปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง เอาพลังประชารัฐ มาบวกกับเพื่อไทย เป็น 2 แกนนำหลักก่อน ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะ 142 + 174 ได้ 316 เสียง

ใครบอกลุงป้อมมี ส.ส.ในมือ 100 ผมกล้าเถียงขาดใจ มีตัวชี้วัดใครติดตามการเลือกองค์กรอิสระหนึ่ง ซึ่งวันนี้เข้าทำงานแล้วคือ กสทช. คะแนนออกมา 197 ต่อ 53 ฟันธงว่า ส.ว.ลุงป้อม มี 53 ไม่เกินนี้ เพราะผมทราบดีว่าในการโหวตวันนั้นเกิดอะไรขึ้น 53 ไปบวกกับ 316 ยังไงก็ไม่ถึง 376 ไปไม่ได้

ดังนั้น ในความเป็นจริง 142 ณ วันนี้ก็ไม่ใช่ของลุงป้อมหมด อาจจะหารครึ่งกับ ลุงตู่ รวมไทยสร้างชาติก็ได้ ฉะนั้น ซีนาริโอที่ 2 ‘ไม่เอาตู่’ ปิดไปอีกหนึ่ง

3.ลุงตู่ไปต่อ หรือลุงป้อมเป็นนายกฯ วันนี้จากข้อมูลที่เราวิเคราะห์ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ชอบไม่ชอบ เอาไว้ในใจ แต่ตัวเลขปี 2562 ซึ่งนำมาใส่เป็นตัวแปรแบ่งเขตในปี 2566 แล้วนำวิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ในปี 2566 มาคำนวณคะแนนเสียงที่ได้ วันนี้คนไทยมีทางเลือกแค่ 2 ทาง 1.ท่านจะรักลุงตู่ หรือท่านจะดูแลลุงป้อม มีเท่านี้

เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เพิ่งไปออกรายการ ก็บอกแล้วว่า จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ 2+2 ยอมพี่ตู่เป็นก่อน 2 ปี แล้วผมต่อก็ได้ นี่คือไฮไลต์แรก”

รศ.ดร.ธนพรกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของจำนวน ส.ส.จากการแบ่งเขตใหม่ ทำให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านหายไปประมาณ 10 ที่นั่ง จาก 246 เหลือ 236 ที่นั่ง ส่วนพรรครัฐบาลได้ ส.ส.เพิ่ม 10 ที่นั่ง เวลานี้ยังคงอยู่ระหว่างการสู้ 2 ขั้ว คือ เอาหรือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ หัวเสรีประชาธิปไตย หรืออนุรักษนิยม

พร้อมกับวิเคราะห์สนามเลือกตั้งภาคเหนือว่า ในการเลือกตั้ง 2566 โดยอิงกับคะแนนเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทยจะได้ 31 คน พรรคพลังประชารัฐ 30 คน พรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) 4 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน รวม 68 คน

ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยได้ 90 คน พรรคภูมิใจไทย 22 คน พรรคพลังประชารัฐ 19 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน พรรคอนาคตใหม่ 1 คน

ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ 28 คน พรรคพลังประชารัฐ 15 คน พรรคภูมิใจไทย 9 คน พรรคประชาชาติ 7 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน

ภาคกลาง พรรคพลังประชารัฐ 54 คน พรรคเพื่อไทย 31 คน พรรคอนาคตใหม่ 25 คน พรรคภูมิใจไทย 15 คน พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 7 คน


“การแบ่งเขตเลือกตั้งมีผลต่อการแพ้ชนะจริง ๆ เราจะพบว่าเวลานักเลือกตั้งทำงานในเขตเลือกตั้งเขาดูกันละเอียด หลายคนใน กทม.ดูกันระดับชุมชน หมู่บ้านด้วยซ้ำไป หน่วยย่อยที่สุดที่พอจะหาได้ครบคือตำบล อยากฝากเป็นข้อมูลอีกชุดสำหรับคนที่สนใจการเมือง” รศ.ดร.ธนพรกล่าว