เลือกตั้ง 2566 : กาง 4 สูตรตั้งรัฐบาล ผ่านจุดยืน 10 พรรคการเมือง

สูตรตั้งรัฐบาล ผ่านจุดยืน 10 พรรคการเมือง

คำถามที่ขุนพลแกนนำพรรคการเมืองต้องตอบคำถาม “สาธารณชน” ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ว่า

ในชั่วโมงหลังเลือกตั้ง พรรคไหนจะจับมือกับใครตั้งรัฐบาล พรรคไหนปฏิเสธจับมือใครล่วงหน้าไม่ต้องรอ “จำนวนเสียง” หลังเลือกตั้ง แต่ละพรรคได้ประกาศจุดยืนไปแล้ว ดังนี้

พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศแลนด์สไลด์ หากได้ 310 เสียงขึ้นไป จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่ถ้าได้ 250 ขึ้นไปจะจัดตั้งรัฐบาลผสม อันดับแรกจะจับมือ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ด้วยกัน คือ ขั้วฝ่ายค้านในปัจจุบัน อาทิ ก้าวไกล เสรีรวมไทย ไม่ร่วมรัฐบาลอย่างเด็ดขาดกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ

ขณะที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่น ว่า การจับมือกับพรรคพลังประชารัฐจะเป็น “ทางเลือกสุดท้าย”

ส่วนเงื่อนไข – ข้อจำกัดของบุคคลที่เป็น “ตัวเอก” หน้าม่านการเมืองพรรคเพื่อไทยระบุจุดยืนแนบท้าย ว่า ไม่ต้องการจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการยกเลิก ม.112 ถ้าเห็นเป็นอื่นต้องมาตกลงกัน รวมถึง ไม่ปลื้มนโยบายกัญชา ถ้าร่วมรัฐบาลต้องมาเคลียร์กัน

พรรคพลังประชารัฐ แกนนำหลายคนในพรรคมั่นใจว่า พรรคพลังประชารัฐไม่มีวันเป็นฝ่ายค้าน ส่วนจะจับมือกับใครนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ไม่เคยระบุชัด แต่แกนนำพรรคเคยระบุไว้ว่า จะจัดรัฐบาลร่วมกับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเก่า อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ปิดประตูการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย มีเพียง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่ออกมาเขี่ยลูกเพียงคนเดียว

พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี เป็นแคนดิเดตนายกฯ ยื่นคำขาดว่า ไม่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล

พรรคภูมิใจไทย ของ อนุทิน ชาญวีระกูล หัวหน้าพรรค ระบุว่า ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เพราะนโยบายแก้ไข ม.112 แต่ไม่ได้ปิดทางจับมือกับขั้วเพื่อไทย และขั้วพลังประชารัฐ และต้องการจำนวน ส.ส.เพียงแค่ 80-90 เสียง เพราะไม่ต้องการเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน”

พรรคชาติพัฒนากล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค ระบุนิยามของพรรคว่าเป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย ร่วมงานกับขั้ว-พรรคไหนก็ได้ ที่มีนโยบายเข้ากันได้

พรรคไทยสร้างไทย ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค ระบุว่า พรรคจะไม่เป็นที่เหยียบยืนของพรรคเผด็จการ ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนการจับมือกับ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ขัดข้องถ้าแกนนำรัฐบาลเห็นด้วยกับนโยบายพรรคไทยสร้างไทย และนำไปปฏิบัติ แต่ถ้าเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ ขอไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพราะไม่อาจทนยกมือให้ พล.อ.ประวิตร – พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้

พรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ไม่ขัดข้องที่พรรคก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นผลประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน เป็นช้อนกับส้อมผลักประเทศไทย แต่ไม่จับมือกับพรรคเผด็จการจำแลง ไม่ว่ากับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ

พรรคชาติไทยพัฒนา วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ไม่ปฏิเสธการร่วมได้กับทุกขั้ว โดยระบุว่า สำหรับท่าทีของพรรค ต้องรอดูวันที่ 14 พฤษภาคม ถ้าเราได้เสียงมากเราก็จะเป็นผู้เลือกแต่ถ้าเราได้เสียงน้อยเขาก็จะเป็นผู้เลือก

พรรคเสรีรวมไทย โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค ย้ำชัดไม่จับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ไม่ขัดข้องที่จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะ พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่ผู้ทำรัฐประหาร

พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ระบุว่า จับขั้วไหนหรือจับมือกับใครจะต้องอยู่หลังการเลือกตั้งทั้งหมด รอให้ประชาชนตัดสิน

เมื่อกางเงื่อนไข – จุดยืน การเมืองของแต่ละพรรค สามารถแบ่งเป็น 4 Scenario ในการจัดตั้งรัฐบาล

Scenario ที่ 1 พรรคเพื่อไทย ได้เสียงเกิน 310 เสียง เป็นพรรครัฐบาลพรรคเดียว หรือ เลือกพันธมิตรการเมือง 2-3 พรรคเข้ามาผสม เพื่อให้คะแนนเกิน 376 เสียง ปิดสวิตช์ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ในสภา โดยประธานรัฐสภาเป็นคนของพรรคเพื่อไทย คอยคุมเกม

Scenario ที่ 2 พรรคเพื่อไทย ได้เสียง 240 – 280 เสียง ต้องยอมจำนนเป็น “รัฐบาลผสม” หลายพรรค อาจดึงพรรคที่เป็นขั้วฝ่ายค้านเดิม อย่าง พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพันธมิตรทางการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติพัฒนากล้า

หรือ ตัวเลือกสุดท้ายคือ จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ถ้าในกรณีนี้จะไม่มีพรรคไทยสร้างไทย

Scenario ที่ 3 พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ “ชนะไม่ขาด” ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเอาชนะเสียง ส.ว. 250 คน ที่เข้ามาร่วมโหวตนายกฯ ได้ สถานการณ์เช่นนี้ มีแนวโน้มจะทำให้ขั้วรัฐบาลปัจจุบัน 3 ป. นำโดย พรรคพลังประชารัฐ – พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมเสียงกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ระบุผ่านรายการ กรรมกรข่าว ของ “สรยุทธ สุทัศนจินดา” ว่า “ใครได้ (ส.ส.) มากกว่า คนนั้นได้ฟอร์มรัฐบาล”

จากนั้น อาจจับมือกับพันธมิตรขั้วรัฐบาลปัจจุบัน กลับมารวมตัวอีกครั้ง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า ฯลฯ โดยหาก พล.อ.ประวิตร ได้เป็นนายกฯ อาจมีพรรคเสรีรวมไทย กระโดดเข้ามาร่วมรัฐบาลในสูตรนี้

Scenario ที่ 4 หากพรรคเพื่อไทย ชนะแต่ชนะไม่ขาด และ พรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรครวมไทยสร้างชาติ รวบรวมกำลังแล้วไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ แม้จะมีความพยายามชิง ส.ส.งูเห่า หน้างานมาเป็นพวก แล้วยังไม่สำเร็จ ก็จะเข้าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกังวล คือ เกิด “เดดล็อกการเมือง” แล้ว รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ชุดปัจจุบันที่ยังทำหน้าที่อยู่ จะต้องรักษาการต่อไปยาวๆ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเกิน 250 เสียง แล้ว เรากังวลว่าเราจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เขาเองก็จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่ได้ด้วย เช่น พรรคเพื่อไทยได้ 255 เสียง ตัวเลขนี้เขาเชื่อว่าจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ เพราะเขาเชื่อว่าเขาดึง ส.ส.ได้ แต่ถ้า ส.ส.อยู่กับพรรคเพื่อไทย เราต้องมีกลไกป้องกัน ส.ส.ไม่ให้ออกไป ดังนั้น 255 ก็จะอยู่ 255 ตลอด เขาก็เป็นรัฐบาล 245 เสียง แม้เขาจะมีตัวรัฐมนตรี มีนายกฯ แต่ถ้ากฎหมายงบประมาณไม่ผ่านก็จบแล้ว เพราะงบประมาณปี 67 รอรัฐบาลหลังเลือกตั้งอยู่

“ถ้ากฎหมายงบประมาณไม่ผ่าน เขามีสิทธิจะลาออก จัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือ เลือกตั้งใหม่ มีสองทางเท่านั้น ภาวการณ์แบบนี้เป็นเดดล็อกทันที ที่เขาเองก็ไม่ตั้งรัฐบาล เสียงข้างน้อยมันไปไม่ได้ เขาก็เป็นรัฐบาลรักษาการสิ อันนี้มันน่ากลัวนะ”

เป็นการคาดการณ์ 4 Scenario หลังวันที่ 14 พฤษภาคม ผ่านจุดยืนพรรคการเมือง