สำนักงบประมาณ เด้งรับ รมว.คลังคนใหม่ จ่อรื้องบฯปี’67 ตั้งแต่ขั้นตอนแรก

เฉลิมพล เพ็ญสูตร
เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (ภาพจาก มติชน)

ผอ.สำนักงบประมาณ เตรียมเรียก 4 หน่วยงาน สภาพัฒน์-แบงก์ชาติ-สงป.-คลัง รื้องบฯปี’67 เผยพร้อมจัดทำงบประมาณปี’67 ใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนแรก หวั่นกระทบงบฯลงทุน 6.7 แสนล้านบาท คาดได้รัฐบาลใหม่เข้าเดือน ส.ค.

วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ภายหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ สำนักงบประมาณได้เตรียมความพร้อมรองรับการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณ 2567 ที่จะต้องดูตัวเลขรายรับ รายจ่าย และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยควบคู่กันไปทั้งหมด

นายเฉลิมพลกล่าวว่า รวมทั้งคำของบประมาณจากหน่วยงานราชการในปี 2567 ที่ต้องให้ส่งเข้ามาใหม่ด้วย โดยคาดว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะล่าช้าไปกว่ากำหนดเดิมประมาณ 6 เดือนซึ่งสำนักงบประมาณได้เตรียมการจัดทำงบประมาณไปพลางก่อน ซึ่งมีวงเงินเบิกจ่ายได้ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทสำหรับการเบิกจ่ายในช่วงที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้

นายเฉลิมพลกล่าวว่า สำนักงบประมาณคาดว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศประมาณช่วงเดือนสิงหาคม จากนั้นสำนักงบประมาณจะประสานกับรัฐบาลชุดใหม่เพื่อเริ่มขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำกรอบงบประมาณปี 2567 ใหม่ ร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ เพื่อให้ได้ตัวเลขกรอบการจัดทำงบประมาณที่สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญ

ผู้สื่อข่าวถามว่านโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากนั้น จะกระทบการจัดทำงบประมาณในภาพรวมหรือไม่ นายเฉลิมพลกล่าวว่าข้อกังวลก็คือ หากมีการจัดสวัสดิการด้วยงบประมาณจำนวนมากอาจจะกระทบกับกรอบงบประมาณเพื่อการลงทุน ที่ตาม พ.ร.บ.งบประมาณกำหนดว่าจะต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมด

โดยในปีงบประมาณ 2567 จัดสรรไว้ที่ 6.7 แสนล้านบาท หากมีการจัดสรรงบฯลงทุนต่ำกว่า 20% ต้องมีการจัดสรรงบประมาณทดแทน เพื่อไปทำโครงการอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งถือว่าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้มีงบฯลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ

“งบฯลงทุนที่กำหนดไว้ที่ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีถือว่าน้อย เราควรจะมีการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเป็นงบประมาณในส่วนที่กรรมาธิการงบประมาณให้ความสำคัญมากว่า ประเทศควรมีงบฯลงทุนไม่น้อยกว่า 20% จึงควรทำงบประมาณในส่วนนี้ให้ได้ตามกฎหมายไว้ก่อน ส่วนที่จะตัดงบฯประจำบางส่วนคงต้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามากำหนด”

“เพราะว่างบฯประจำที่หน่วยงานราชการเสนอมานั้น ถือว่ามีการตัดลดมาแล้ว และให้หน่วยงานจัดลำดับความสำคัญแล้วว่าจะทำอะไรก่อนหลัง ซึ่งกรอบวงเงินงบประมาณที่มีอยู่ของประเทศก็คงไม่สามารถเพิ่มได้มาก เพราะในปีที่ผ่านมาก็มี่การเพิ่มวงเงินจาก 3.1 ล้านล้านบาท มาเป็น 3.3 ล้านล้านบาทแล้วในการจัดทำงบประมาณใหม่ หากจะเพิ่มงบประมาณให้เพิ่มขึ้นอีกก็เป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดอยู่พอสมควร” นายเฉลิมพลกล่าว

เมื่อถามว่าหากมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากมาใช้ในเรื่องสวัสดิการ จะสามารถตัดงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ลงได้หรือไม่ นายเฉลิมพลกล่าวว่าอาจไม่สามารถตัดได้มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้เสนอคำของบประมาณให้กับสำนักงบประมาณมากกว่ากรอบงบประมาณที่มีจำนวนมาก โดยจากงบประมาณ 3.35 ล้านล้านบาทที่เป็นกรอบรายจ่ายในปี 2567 นั้น มีคำของบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาถึง 5.7 ล้านล้านบาท ซึ่งทุกหน่วยงานก็ยืนยันถึงความสำคัญและจำเป็น

“ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณก็พยายามที่จะปรับลดงบประมาณลง และจัดลำดับความสำคัญซึ่งก็เหลืออยู่ประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ยืนยันว่าส่วนที่เหลือนี้เป็นรายการใช้จ่ายสำคัญที่อาจทำให้การตัดงบประมาณมากกว่านี้ทำได้ลำบาก เพราะว่าส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นงบประจำเรื่องเงินเดือน และค่าจ้างบุคลากร ค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งที่ทำสัญญาผูกพันต่อเนื่องแล้วคงไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ แต่ในส่วนโครงการใหม่ต้องให้รัฐบาลใหม่ทบทวนด้วย” นายเฉลิมพลกล่าว

นายเฉลิมพลกล่าวว่า ต้องดูว่ากรอบนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะทำนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องใด และกรอบวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาทนั้นเพียงพอหรือไม่ จะต้องเพิ่มหรือไม่ ตรงนี้ต้องคุยให้จบในที่ประชุม 4 หน่วยงาน แล้วก็มาดูว่างบประมาณที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลใหม่ให้มีการลดทอนงบฯในส่วนไหนก็อาจจะลดทอนลงมาได้ แต่ก็คิดว่าไม่ได้มากนักเพราะงบประมาณที่จัดสรรนั้นได้มีการตัดมาจนเหลือแต่งบประมาณที่มีความจำเป็นแล้ว ส่วนงบประมาณจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันได้หรือไม่ ต้องดูเรื่องการจัดเก็บรายได้เป็นสำคัญ ว่ามีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าจัดเก็บได้เพิ่มก็อาจะสามารถจัดสรรเป็นรายจ่ายภาครัฐเพิ่มได้