เปิดทุกบทบัญญัติเตะสกัด “พิธา” ศัตรู-คู่แข่งสนธิกำลังฟาด 4 คดีรวด

พิธา
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แห่งพรรคก้าวไกล ยิ่งนานวันดูเหมือนใกล้ แต่กลับห่างไกลขึ้นทุกที

ก็เพราะจู่ ๆ คดีค้างคา คดีใหม่ คดีเก่า ถูกขุดขึ้นมาทดสอบ “พิธา” และพรรคก้าวไกล ไม่เว้นช่วงให้หายใจ

เกมเรียก-ยื้อกระแส ที่พรรคก้าวไกล-พิธา และอีก 7 พรรคร่วมรัฐบาล พยายามปั้นอีเวนต์ขึ้นมา ให้มีเรื่องขายทุกสัปดาห์ แต่กลับ “โดนกลบ” ด้วยขวากหนามทางการเมือง

โดยเฉพาะ “คดีหุ้นสื่อไอทีวี” ที่ “พิธา” ต้องตอบคำถามไม่เว้นวัน

อีกด้านหนึ่ง กลไกการตรวจสอบ โดยเฉพาะในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เริ่มเดินหน้า เรียก “พิธา” และพวกไปให้ปากคำ คู่ขนาน กับ “นักร้อง (เรียน) การเมือง” ที่เข้าไปยื่นหลักฐานเพิ่มเติมให้ กกต.ทุกสัปดาห์

ต่อไปนี้คือ สารพัดกฎหมาย ที่ฝ่ายตรงข้าม พิธา และพรรคก้าวไกล ใช้มัดตราสัง-ล้อมคอก ไม่ให้ขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จ

กฎหมายคดีหุ้นสื่อ

คดีหุ้นสื่อของ “พิธา” เลี่ยงไม่ได้ว่า เป็น “เกมเตะตัดขา” หวังเป้าสูงถึงกระทบตำแหน่ง ส.ส. และการเป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะคำร้องต่าง ๆ ไม่ว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ-ศรีสุวรรณ จรรยา-สนธิญา สวัสดี ทุกคนงัด รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเรื่องการห้ามถือหุ้นสื่อไว้อยู่ในมาตรา 98 (3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ” เอาผิด “พิธา” ทั้งสิ้น

เพราะนอกจาก มาตรา 98 (3) เรื่องถือหุ้นสื่อ เป็น “คุณสมบัติต้องห้าม” ของ ส.ส. ยังเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) อีกด้วย

เสี่ยงพ้นสมาชิกพรรค

นอกจากองค์ประกอบในกฎหมายแม่ คือ รัฐธรรมนูญ แล้ว ยังอาจเข้าข่ายขัดกฎหมายลูก 2 ฉบับ

คือ 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 42 (3) ที่ห้ามไม่ให้ บุคคล ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ เป็นบุคคล “ต้องห้าม” มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งโยงกับมาตรา 151 ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี

ฟันพ้นหัวหน้าพรรค

ขณะเดียวกัน คำร้องของ “นักร้อง” ยังโยงสถานะสมาชิกพรรคก้าวไกลของ “พิธา” ขัดข้อบังคับพรรค ของพรรคก้าวไกล ข้อ 12 (6) สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อขัดข้อบังคับข้อ 12 (6) ก็จะโยงกลับมาที่คำร้องของ “เรืองไกร” ที่ร้อง กกต.ว่า “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 98 (3) ที่ระบุว่า สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

ขณะที่ข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อที่ 21 กำหนดวิธีการ “สิ้นสภาพของสมาชิกพรรค” โดยจะสิ้นสุดลงมีทั้งหมด 9 วงเล็บ แต่ที่ “พิธา” ถูกโยงคือ (3) ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อที่ 11 หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับพรรคข้อที่ 12

จากนั้นโยงถึงการเป็น “กรรมการบริหารพรรค” ซึ่งตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” ก็เป็น 1 ในกรรมการบริหารพรรค โดยกำหนดให้ “สถานะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว” เมื่อ 1.ตาย 2.ลาออก 3.พ้นสมาชิกภาพ 4.ขาดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร 5.ถูกถอดถอนโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคด้วยมติ 2 ใน 3

กล่าวคือ ในคำร้องของ “เรืองไกร” ที่จะเล่นงาน “พิธา” ปมหลุดจากหัวหน้าพรรค ต้องย้อนกลับไปที่ “พิธา” มีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อที่ 12 จึงทำให้ “พิธา” พ้นสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกพรรค นำมาสู่การสิ้นสุดการเป็นกรรมการบริหารพรรค ในฐานะหัวหน้าพรรค

คดีอื่น ๆ ของพิธา

ส่วนคดีอื่น ๆ ที่เข้ามาพัวพัน “พิธา” ทั้งคดีเก่าและคดีใหม่ อาทิ คดีที่ “เรืองไกร” ร้อง ป.ป.ช. ว่า “พิธาแจ้งว่ามีคู่สมรส ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่นายพิธาไม่ได้แสดงรายได้ รายจ่าย หรือหุ้นของคู่สมรส” และระบุว่า “พิธาได้นำอาคารของน้องชายมูลค่า 15,000,000 บาท มาแสดงในบัญชีทรัพย์สินของตนเอง ซึ่งในทางบัญชีควรตรวจสอบว่า ทรัพย์สินรวมที่แจ้งสูงเกินจริงหรือไม่ อีกทั้งไม่ได้แจ้งมูลค่าที่ดินและบ้านของคู่สมรสไว้แต่อย่างใด”

จึงมีเหตุที่ต้องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของนายพิธากับคู่สมรส ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.ไว้นั้น เข้าข่ายตามความใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 114 หรือไม่ ซึ่งกระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนของ ป.ป.ช. โดยนายเรืองไกรร้องเมื่อเดือนสิงหาคม 2564

กรณีที่นายเรืองไกร เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคการเมืองอีก 7 พรรค ที่ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม โดยร้องเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566

กรณีที่ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ยื่นร้องกรมควบคุมโรค ภายหลัง “พิธา” ไปออกรายการ กรรมกรข่าว “คุยนอกจอ” ระบุถึงนโยบายสุราก้าวหน้า และรสนิยมการดื่มของตัวเอง พร้อมกับเปิดเผยชื่อยี่ห้อและเชียร์สุราชุมชนที่ตัวเองดื่มหลายชื่อ อันเข้าข่ายเป็นการโฆษณา ต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มาตรา 32 โดยร้องเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566

นอกจากนี้ยังมีข้อหาความผิดตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (3) ซึ่งร้องทุกข์กล่าวโทษโดย ทรงชัย เนียมหอม ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน อร่ามศักดิ์ บุตรจู ผู้ก่อตั้งและแอดมินเพจรู้ทันโลกออนไลน์ แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์พลเมืองดิจิทัล และธนเดช ตุลยลักษณะ สมาชิกกลุ่มอาชีวะราชภักดี เข้าพบ พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บัญชาการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบ.ปอท.) ยื่นหนังสือแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) ปมให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 มีประเด็นกระทบสถาบันกษัตริย์ ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566

ย้อนคดีหุ้นสื่อ ธนาธรถึงพิธา

จุดเริ่มต้นคดีหุ้นสื่อ จุดไต้ตำตอจากวันที่ 25 มีนาคม 2562 หลังจากการเลือกตั้งเพิ่งผ่านพ้นไป “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้เป็น ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่

กระทั่ง 16 พฤษภาคม 2562 กกต.มีมติเอกฉันท์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ “ธนาธร” ให้สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่

กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า “ธนาธร” เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

เส้นทางการต่อสู้คดีของ “ธนาธร” ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่ง 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ว่า นายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562

ผ่านไป 6 เดือนเศษ ธนาธร พ้น ส.ส.ทันที