เศรษฐาชูดิจิทัลวอลเลต เจรจาการค้าเสรี ทวงคืน Destination การลงทุนชั้นนำ

นายเศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐาย้ำความเป็นพันธมิตรไทย-สหรัฐ 2 ศตวรรษ เดินหน้าเปิดกว้างเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันที่ใกล้ชิดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

วันที่ 21 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 19.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ที่โรงแรม St. Regis นครนิวยอร์ก สหรัฐ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ (gala dinner) โดยสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) และหอการค้าสหรัฐ (U.S. Chamber of Commerce : USCC) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ ถือเป็นวาระสำคัญอันหนึ่งของการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในครั้งนี้ การเข้าร่วมงานของแขกทุกคนในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ

และความสำคัญที่ภาคเอกชนสหรัฐมีต่อประเทศไทย หวังว่างานในวันนี้จะเป็นพื้นฐาน (platform) ในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงประเทศและเศรษฐกิจของเราเข้าด้วยกัน ไทยและสหรัฐถือเป็นหุ้นส่วนธรรมชาติและมีผลประโยชน์ร่วมกัน (natural and mutually-beneficial partners) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ที่ในปีนี้ฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ

การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แม้จะมีการแพร่ระบาดทั่วโลก ด้วยมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (65 billion dollars) ในปีที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐกลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นที่มีอยู่ระหว่างกันอย่างชัดเจน ในขณะที่การลงทุน ต่างฝ่ายต่างมีการลงทุนเป็นจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังมีศักยภาพอีกมาก และจะเดินหน้าเพิ่มพูนศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขัน และทวงคืนตำแหน่งจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำ การเป็นกลไกการเติบโตในภูมิภาค และเป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถเพลิดเพลินกับคุณภาพการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียมกันอีกครั้ง

Advertisment

นายเศรษฐา ทวีสิน

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงนโยบายสำคัญและโอกาสมากมายสำหรับบริษัทสหรัฐ ทั้ง การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ “เกียร์สูง” (high gear) อาทิ นโยบาย digital wallet และ blockchain การบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม ที่ครอบคลุมและบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต (an “Innovative, Inclusive and Integrated (3Is) Thailand”)

Advertisment

อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การสร้างกลไกใหม่แห่งการเติบโตแบบครอบคลุม และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดข้อจำกัด และข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำให้สังคมไทยดีขึ้น รวมถึงชุมชนธุรกิจในประเทศไทยด้วย โดยประเทศไทยเปิดกว้างและพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้สำหรับห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย หลากหลาย และยืดหยุ่นของสหรัฐ และเชื่อมั่นถึงความไว้วางใจ และการสนับสนุนจากภาคเอกชนสหรัฐ ในฐานะตัวแทนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง (key agents of change) เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งร่วมกัน และขับเคลื่อนอนาคตไปสู่ศตวรรษที่ 2 ของการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ที่ใกล้ชิดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้มากขึ้น” นายเศรษฐาทิ้งท้าย