คอลัมน์ : Politics policy people forum
แม้ท้ายที่สุด พรรคเพื่อไทยจะพลิกเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี พ่วงเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กลับมีคลื่นใต้น้ำภายในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งภายในพรรคเพื่อไทย รอการแก้ปัญหา
รอยยิ้มบนใบหน้าของผู้ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี-ข้าราชการการเมือง สวนทางกับคนที่ชวดตำแหน่ง
แม้แต่รัฐมนตรีที่ได้รับการแบ่งงานก็ยังไม่พอใจ เพราะศูนย์อำนาจภายใน ไปเจรจากับต่างพรรค จนแทบไม่เหลืออะไรที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียงกับชาวบ้าน
ศึกในกระทรวงเกษตรฯ
ตัวอย่างเช่น รอยร้าวในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามคำสั่งแบ่งงานให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการจาก 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย ที่มี “ไชยา พรหมา” เป็น รมช.เกษตรฯ และพรรครวมไทยสร้างชาติ อนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรฯ
ร.อ.ธรรมนัสคุมสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมชลประทาน, กรมส่งเสริมการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร , กรมประมง, การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร, กรมส่งเสริมสหกรณ์, กรมตรวจบัญชีสหกรณ์, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ไชยา” ดูแลและกำกับ กรมปศุสัตว์, กรมฝนหลวงการบินเกษตร, กรมหม่อนไหม, องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย “อนุชา” ดูแลและกำกับ ได้แก่ กรมการข้าว, กรมพัฒนาที่ดิน, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และองค์การสะพานปลา
แต่ทั้ง “อนุชา-ไชยา” ประสานเสียงเรื่อง “คำสั่ง” ที่ยังไม่ชัดเจน
“ไชยา” ทิ้งปมว่า ไม่ใช่ไม่พอใจ เพียงแต่ได้ท้วงติงว่าการแบ่งงานต้องมอบอำนาจในการบริหารจัดการ ทั้งบริหารบุคคลและบริหารงบประมาณ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถบริหารงานได้ และคำสั่งต้องมีความชัดเจน
ฟาก “ร.อ.ธรรมนัส” ปฏิเสธว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกับ 2 รัฐมนตรีช่วย “ผมในฐานะหัวหน้าครอบครัวต้องดูแลให้เรียบร้อย การมอบหมายงานของกระทรวงเกษตรฯ ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ทุกพรรคแล้ว ไม่ได้ตัดสินใจโดยพลการ”
“ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งแบ่งงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ แต่ขอให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายไปให้ดี อาจมีการพิจารณาให้งานเพิ่ม หรือไม่อีก 6 เดือน หรือไตรมาส เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของกระทรวงเกษตรฯ เพราะพวกเราเป็นรัฐบาลของประชาชน”
ร้อนถึง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ผู้ทำหน้าที่กระดูกสันหลังรัฐบาลเศรษฐา ต้องลงมาหย่าศึกก่อนบานปลาย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็น “เก้าอี้เป้าหมาย” ของพรรคเพื่อไทย ที่เอาไว้สร้างผลงาน เพราะมีฐานเกษตรกรเป็นโหวตเตอร์หลัก ทว่าหลังมีข่าวว่าเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ จะตกไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และมี ร.อ.ธรรมนัสจะเข้ามาคุมกระทรวง
แกนนำ-สส. ที่อยู่นอกวงเจรจา ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ต่างจัดม็อบมาประชันอำนาจ กดดันพรรค แต่ท้ายที่สุด เก้าอี้ รมว.เกษตรฯก็ตกไปเป็นของ ร.อ.ธรรมนัสและพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่ “ไชยา” ที่เคยอยู่ “นอกโผ” รมช.เกษตรฯ ก็มาแรงแซงโค้ง เบียดผู้ที่คุมนโยบายเกษตรในพรรคเพื่อไทยแต่ต้น อย่าง “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” หรือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ผู้ต้องการผลักดันโคขุนล้านตัว
เมื่อ “ไชยา” จับพลัดจับผลู จากที่เคยศึกษาเรื่องการเงิน การค้า การขาย งานของกระทรวงพาณิชย์มาหลายยุค เมื่อครั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน หลายสมัย
ครั้นมาอยู่กระทรวงเกษตรฯ ได้รับแบ่งงาน แต่ไม่มีอำนาจบริหารคน-งบประมาณ จึงต้องแอ็กชั่นของอำนาจในการบริหาร
ศึกในมหาดไทย ซุกใต้พรม
ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี เป็นอีกหนึ่งจุดที่คนในพรรคเพื่อไทยโวยว่า ถูกพรรคภูมิใจไทยริบกรมสำคัญ ๆ ไปกำกับ ส่วนคนของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกตั้งไว้ว่าเป็น “มท.2” แต่งานกลับเหมือน มท.4
เพราะ 3 มท.ภายใต้การนำของพรรคภูมิใจไทย กำกับทั้งสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมโยธาธิการและผังเมือง การประสานงานส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การประปานครหลวง กรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน และกำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค
ส่วน “เกรียง กัลป์ตินันท์” รมช.มหาดไทย หนึ่งเดียวจากพรรคเพื่อไทย กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และกำกับดูแลองค์การตลาดฯ และองค์การจัดการน้ำเสีย ทั้งที่ขอดูกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่เจ้ากระทรวงปฏิเสธ
นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทยยังส่งผู้ว่าฯบุรีรัมย์ มาเป็นอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย “เกรียง” กำกับอยู่
ศึกในกระทรวงมหาดไทย เหมือนเงียบแต่ไม่เงียบ
6 เดือน จ่อปรับ ครม.
นอกจากนี้ ยังมีศึกในพรรคของผู้ที่มาเป็นรัฐมนตรี พ่วงตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งคนในพรรคเพื่อไทย ที่มีลำดับใกล้จะได้เป็น สส. ต้องการให้ผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทย ให้คนเหล่านี้ออกจากการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการการเมือง เพื่อเปิดทางให้คนที่ต่ำกว่าลำดับที่ได้เป็น สส. ได้เลื่อนลำดับขึ้นมา
โดยบุคคลที่เป็นรัฐมนตรี และพ่วง สส.บัญชีรายชื่อ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม
เมื่อพรรคเพื่อไทยมีหน่วยขึ้นตรงหลายคน หลายศูนย์อำนาจ ทั้งที่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และตึกไทยคู่ฟ้า-จันทร์ส่องหล้า คุมตั้งแต่ตึกบัญชาการ ไปถึงกระทรวงชายขอบ มีการถ่วงดุลอำนาจแต่งตั้งคนสายตรง คนในคาถา ครอสไป-มา แต่ละกระทรวง จนถึงพรรคร่วมรัฐบาล
เรื่องวุ่น ๆ ของคนที่ผิดหวังจึงบังเกิด ทุกคนต้องหนีตาย หาผลงานเอาตัวรอด เพื่อไม่ให้ถูกปรับพ้นคณะรัฐมนตรีใน 6 เดือนข้างหน้า