
อนุทิน สั่ง 7 มาตรการอย่างเร่งด่วน คุมเข้มอาวุธปืน ขอกระทวงดีอีเอสปราบเว็บขายปืนเถื่อน รายงานมหาดไทย ทุก 15 วัน
วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการออกใบอนุญาตพกปืนแก่บุคคลทั่วไป ว่า จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ กรมศุลกากร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงสาธารณสุข
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการระยะสั้น ดังนี้ 1.ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ เช่น นายอำเภอในต่างจังหวัด และใน กทม.งดออกใบอนุญาตให้สั่งนำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด ไม่เฉพาะปืน และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่ม
2.ขอให้ผู้ครอบครองแบลงก์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ โดยให้นำแบลงก์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนเองที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนา ที่มีทะเบียนบ้านอยู่
3.ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะแบลงก์กัน และบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืน ให้เข้มงวด
4.ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่กำกับดูแลสนามยิงปืน ที่จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาทั่วประเทศ ให้กวดขัน ตรวจสอบทั่วประเทศ ดังนี้ ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้นได้รับอนุญาตตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย อาทิ นักกีฬายิงปืนทีมชาติ โดยอาวุธปืนที่ใช้ในสนามยิงปืน ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และต้องตรงตัวกับผู้ที่นำมาใช้บริการ ไม่สามารถไปยืมของใครมาใช้ได้ ห้ามนำกระสุนปืนออกนอกเขตสนามยิงปืนเป็นอันขาด
ส่วนสนามยิงปืนในกำกับดูแลของส่วนราชการ ขอให้ดำเนินการกวดขันในการตรวจสอบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต่อไปนี้จะบอกว่าเก็บปืนไว้ที่บ้าน แล้วพกมาสนามยิงปืนไม่ได้ ถ้าเป็นนักกีฬา หรือเป็นสโมสรใดก็ตาม ต้องฝากอาวุธปืนของตัวเองไว้ที่สนามยิงปืน
โดยสนามต้องมีวิธีการรักษา ควบคุม เก็บรักษาให้ผู้มาใช้อาวุธดังกล่าว ขอย้ำว่าจะนำออกนอกสนามไม่ได้ จนกว่าจะพ้นจากการเป็นสมาชิกที่มาใช้งาน ก็จะต้องขออนุญาตเป็นรายครั้งในการพกพาอาวุธปืนไปที่ใด
5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ งดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว 6.กระทรวงมหาดไทย ไม่มีนโยบายดำเนินโครงการอาวุธปืนสวัสดิการให้กับประชาชนทั่วไป แต่สำหรับเจ้าพนักงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการป้องกันปราบปรามจะมีได้แค่คนละ 1 กระบอก แล้วห้ามโอนต่อ หากผู้ครอบครองเสียชีวิตก็ให้ตกเป็นของทายาทตามระเบียบ
7.ให้นายทะเบียน งดออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ช่วงนี้ตนจะไม่อนุญาตให้มีการเปิดร้านค้าอาวุธปืนรายใหม่ เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน และลดการเข้าถึงการครอบครองอาวุธปืนของประชาชนทั่วไปให้มากที่สุด
“คนที่พกปืนไปมา ผิดกฎหมายทั้งนั้น ประชาชนทั่วไปในประเทศนี้ ไม่สามารถแต่งตัวแล้วเอาปืนพกเหน็บเอวไปไหนต่อไหนก็ได้ตามสะดวก โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันตัว เพราะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การอนุญาตให้พก ไม่ได้อนุญาตให้ทำแบบนี้ และคนที่มีใบอนุญาตครอบครอง หรือพกพาถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่คนทำผิด
แต่คนที่ไปก่อเหตุ มีเรื่องมีราว คือพวกผิดกฎหมายทั้งนั้น เช่น ปืนไม่ใช่ของตัวเอง ปืนเถื่อน ซื้อมาจากแหล่งไหนก็ไม่รู้ เป็นคนที่ตั้งใจทำผิดกฎหมาย ตรงนี้ตำรวจเร่งดำเนินคดีในทุกกรณี ข้อกำหนดของเราที่ออกมา คือ ห้ามพกพาและห้ามซื้อใหม่ ใครมีก็เก็บเอาไว้ที่บ้าน และเก็บรักษาไว้ให้ดี โดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเอาไปใช้ เจ้าของปืนมีความผิดด้วย” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวต่อว่า จะมาอ้างว่าต้องการพกอาวุธเพื่อป้องกันตัวไม่ได้ การอนุญาตให้คนพกพาอาวุธปืนได้ ก็เหมือนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดีอีเอส ปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์การซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน โดยให้รายงานผลการปฏิบัติงานให้กระทรวงมหาดไทยรับทราบทุก ๆ 15 วัน
นายอนุทินกล่าวว่า การหารือในวันนี้พยายามที่จะใช้กฎหมายที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย เพื่อบังคับใช้อย่างเต็มที่ ส่วนอื่นที่นอกเหนือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นของหน่วยงานอื่น ๆ หากมีเรื่องใดที่จำเป็นที่จะมีข้อเสนอเข้ามา จะมีการแก้ไขกฎหมาย หรือตรากฎหมายใหม่ ก็เสนอมา
แล้วจะนำเรื่องเรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการต่อไป โดยรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติคงต้องช่วยกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ ข้อกำหนดที่หารือกัน จะไปยกร่างเป็นหนังสือสั่งการเพื่อแจ้งให้ผู้ปฏิบัติรับทราบต่อไป ให้มีผลบังคับใช้ทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกวาดล้างการครอบครองปืนที่ถูกและไม่ถูกกฎหมายอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ปืนที่มีทะเบียนนั้นทราบอยู่แล้วว่าเป็นของใคร ส่วนปืนบีบีกัน และสิ่งเทียมอาวุธปืนให้มาขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครองทุกกระบอก เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว อย่างน้อยก็จะรู้ว่าเป็นของใคร ถ้าเปลี่ยนมือแล้วไม่มาแจ้ง หากมีอะไรก็ต้องรับผิดชอบ และถ้าไม่มาขึ้นทะเบียน เมื่อมีการตรวจค้น ตรวจจับ หรือมีใครนำไปใช้ก็จะถูกจับกุมและมีโทษ
เมื่อถามว่า มีกรอบเวลาเปิดให้แจ้งครอบครองสิ่งเทียมอาวุธปืน ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาเท่าไหร่ นายอนุทิน กล่าวว่า จะมีการกำหนดกรอบไว้ เช่น 30 วัน 60 วัน หรือ 90 วัน อธิบดีกรมการปกครองจะไปพิจารณาและนำมาเสนอ ทั้งหมดนี้เป็นกรอบปฏิบัติ อาจจะมีเพิ่มเติมเข้ามาได้ ถ้าอยู่ในขอบเขตอำนาจของกรมการปกครองเราก็จะดำเนินการ
ด้านนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า สำหรับมาตรการระยะยาว จะมีการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ดังนี้ 1.ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ
2.กำหนดนิยาม คำว่า สิ่งเทียมอาวุธปืน ไม่ให้หมายความรวมถึง แบลงก์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย 3.กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืน
4.ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นจะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย 5.ให้ใบอนุญาตมีอาวุธปืนภายในวงเล็บ (ป.4) มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัว กับนายทะเบียน ในทุก 5 ปี 10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตเช่นเดียวกันกับใบขับขี่รถยนต์