
คอลัมน์ : Politics policy people forum
นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 คน 1 หมื่นบาท ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ถูกรุมกระหน่ำจากทุกสารทิศ ทั้งที่โครงการยังไม่นับ 1
คำถามใหญ่ที่สุดคือ เรื่องงบประมาณที่ต้องใช้กว่า 5.6 แสนล้านบาท ลามถึงแหล่งที่มาของเงิน และความคุ้มค่า
แต่ใช่ว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลตเพียงนโยบายเดียวที่ใช้งบฯ-เงินมหาศาล หากแต่ยังมีหลายนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงกับประชาชนเอาไว้ ซึ่งใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป จนถึงแสนล้าน อีก 13 โครงการ
แท็บเลต 2.9 หมื่นล้าน
ทั้ง 13 นโยบาย แจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มจากนโยบาย One tablet per Child With Free Internet เพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ให้กับนักเรียนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ ลดค่าใช้จ่ายสื่อการสอนแบบเดิมที่เป็นภาระของผู้ปกครอง ใช้ งบ 29,000 ล้านบาท มาจากการบริหารงบประมาณ และบริหารระบบภาษี
ส่วนผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
นโยบายสวัสดิการแสนล้าน
นโยบายเงินสมทบคนสร้างตัว เพื่อเป็นสวัสดิการวัยทำงานให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ วงเงินที่ใช้ 90,000 ล้านบาท มาจากการบริหารงบประมาณ และบริหารระบบภาษี โดยต้องจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้ ต้องมีกระบวนการที่แม่นยำในการแยกกลุ่มรายได้ของประชาชน รวมทั้งการตรวจสอบ
นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ วงเงินที่ใช้ 300,000 ล้านบาท มาจากการบริหารงบประมาณ และบริหารระบบภาษี
เพื่อเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่วนผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
อัพเกรด 30 บาท 2 หมื่นล้าน
นโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค งบประมาณที่ใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม 20,000 ล้านบาท มาจากการบริหารงบประมาณ และการบริหารระบบภาษี
ความเสี่ยง ต้องจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
นโยบายคมนาคม
นโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาท ตลอดสาย วงเงินที่ต้องใช้ 40,000 ล้านบาท +8,000 ล้านบาทต่อปี โดยใช้การบริหารงบประมาณปกติ เพื่อลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชน ส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
นโยบายยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเป็นการเดินทางแบบไป-กลับประจำ (commute) ได้อย่างแท้จริง วงเงินที่ใช้ 11,700 ล้านบาทต่อปี มาจากการบริหารงบประมาณปกติ เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ) โดยความคุ้มค่าคือ สร้างระบบ feeder ที่สะดวกสบายเชื่อมโยงแต่ละ HUB เช่น เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ
ผลกระทบและความเสี่ยงคือ ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
นโยบายเชื่อมโยงรถไฟขนส่งสินค้าจากลาวเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ งบประมาณที่ใช้ 45,000 ล้านบาท ต่อปี (9 ปี) ใช้การบริหารงบประมาณปกติ เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังที่กำลังขยายตัวรองรับสินค้า 18 ล้านตู้ต่อปี สร้าง ecosystem ยกระดับเป็น logistics hub ของเอเชีย ทั้งทางทะเลและทางอากาศ
ผลกระทบและความเสี่ยงคือ ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
นโยบายเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ 80,000 ล้านบาท ต่อปี (10 ปี) ใช้การบริหารงบประมาณปกติ เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ ทั้งนี้ เป็นการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มปริมาณทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยวกับจีน และประเทศในอาเซียน อีกทั้งเส้นทางรถไฟดังกล่าวยังเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมใหม่ (silk road economic belt) ซึ่งเป็นประตูไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรป
ผลกระทบและความเสี่ยงคือ ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
ไม่ท่วมไม่แล้ง 5 แสนล้าน
นโยบายการบริหารจัดการน้ำ ไม่ท่วม ไม่แล้ง ชนบทมีน้ำกินน้ำใช้ด้วยระบบบาดาล เบื้องต้นใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยบริหารงบประมาณปกติ เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ
การดำเนินนโยบายมี อาทิ สร้างทางระบายน้ำลงสู่ทะเล และช่องเชื่อมท่อทางน้ำหลักเพื่อการกระจายน้ำ สร้างเขื่อน ฝาย และแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำหรือชะลอการไหลของน้ำในพื้นที่เหมาะสม ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น ถนน โดยทำสะพาน และการเกลาริมฝั่งแม่น้ำ คู คลองให้น้ำเดินได้สะดวกไม่มีสิ่งกีดขวาง ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ 15 ล้านไร่ ภายใน 4 ปี ถมทะเล ป้องกันน้ำท่วม พัฒนาพื้นที่เป็นเขตธุรกิจใหม่
ซอฟต์พาวเวอร์ หมื่นล้าน
นโยบายเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 40,000 ล้านบาท จากการบริหารระบบงบประมาณ และการบริหารระบบภาษี ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าครองชีพ
ความเสี่ยง คือ ต้องอาศัยการปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และผลิตภาพแรงงาน
นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ (ซอฟต์พาวเวอร์) ใช้งบ 10,000 ล้านบาท ใช้การบริหารระบบงบประมาณ และการบริหารระบบภาษี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ส่วนผลกระทบและความเสี่ยงคือ ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
นโยบายลดภาระหนี้ประชาชน 13,000 ล้านบาท มาจากการบริหารระบบงบประมาณ และการบริหารระบบภาษี โดยพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเกษตรกร 3 ปี พักหนี้ธุรกิจเฉพาะที่เดือดร้อนจากโควิด-19 เป็นเวลา 1 ปี สนับสนุนและอุดหนุน pico finance เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
ส่วนความเสี่ยงคือ ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
นโยบายสนับสนุนและส่งเสริม SMEs ใช้งบฯ 30,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนและอุดหนุนภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ผลักดันแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ สนับสนุนและอุดหนุนการค้ำประกันสินเชื่อ สนับสนุน อุดหนุน ส่งเสริมให้ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดโลก สนับสนุน SMEs ให้เป็นกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในทุกมิติ
ความเสี่ยงคือ ต้องจัดงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้
นี่คือนโยบายหาเสียงที่พรรคเพื่อไทยแจ้งต่อ กกต.