แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท “เลขาธิการนายกฯ” เปิดที่มางบฯ 5.6 แสนล้าน

แจกเงิน 10,000 บาท เลขาธิการนายกฯ เปิดแหล่งที่มางบฯ 5.6 แสนล้าน

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยแหล่งที่มา 5.6 แสนล้าน สำหรับแจก 10,000 บาท ให้ประชาชน อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนในประเทศ

วันที่ 13 ตุลาคม 2566 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนการเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่อยู่ในกระแสร้อนแรง ทั้งคัดค้านและสนับสนุนว่า “เป็นการเติมเงินครั้งเดียว ใช้ในเวลาจำกัดกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน การเติมเงิน 1 หมื่นบาทจะเดินหน้าไปพร้อมกับชุดนโยบายสร้างรายได้ และนโยบายลดรายจ่าย และไม่ผิดวินัยการเงินการคลัง รักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน มุ่งเน้นสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ”

นพ.พรหมินทร์ชี้แจงพร้อมดูเอกสารประกอบว่า เมื่อมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มขึ้นจากเงินดิจิทัล ทำให้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันอยู่ที่ 60% ต่ำกว่าหลายประเทศมีโอกาสเพิ่มขึ้น และเมื่อมีการบริโภคมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มการผลิต การจ้างงาน ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้เกิด Multiplier effect ส่งผลให้จีดีพีขยายตัว ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประชาชนต่อจีดีพีลดลงด้วย

เปิดแหล่งที่มางบประมาณ 560,000 ล้านบาท

นพ.พรหมินทร์ระบุว่า “แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ 560,000 ล้านบาท ยืนยันว่ารัฐบาลเน้นการรักษาวินัยการเงินการคลัง มีทางเลือก 3 ทาง ซึ่งอาจใช้หลายแนวทางผสมกัน โดยให้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการแจกเงินดิจิทัลพิจารณาในรายละเอียด บนพื้นฐานว่าการทำโครงการนี้จะไม่กระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ”

ทางเลือกที่ 1 คือการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ด้วยการลดคำของบประมาณจากหน่วยงานบางแห่ง และเลื่อนการจัดซื้อรายการใหญ่ ๆ ออกไป รวมทั้งชะลอการสร้างอาคารใหม่ของส่วนราชการ

Advertisment

ทางเลือกที่ 2 คือการใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานของรัฐออกเงินให้ก่อน ซึ่งรัฐบาลอาจใช้ช่องทางนี้ในการจัดหาแหล่งเงินทุน 200,000-300,000 ล้านบาท หากเลือกวิธีนี้ก็ต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 จะขยายเท่าใด จะขึ้นอยู่กับว่าใช้เงินจากช่องทางนี้แค่ไหน

“รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาคืนให้ชัดเจน ซึ่งโดยหลักการแล้วหน่วยงานของรัฐเหล่านี้รัฐบาลถือหุ้นเต็ม 100% เท่ากับว่าหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมาเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้ง 100% ที่สำคัญรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับในการใช้หนี้ทุกปีงบประมาณ ปีละ 100,000 ล้านบาท และจะใช้หมดภายใน 3 ปี”

ทางเลือกที่ 3 คือการกู้เงินโดยตรง ขณะนี้ยังไม่ได้ดูช่องทางนี้ ซึ่งจริง ๆ สามารถกู้ได้ เพราะขณะนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 60% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 70% ขณะที่ขนาดของจีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ามีช่องที่จะกู้เงินตรงนี้อยู่ 1.7 ล้านล้านบาท และถ้าจีดีพีโตก็ยิ่งมีพื้นที่หายใจมากขึ้นอีก

นพ.พรหมินทร์เปรียบเทียบว่า “หากดูจากขนาดของงบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าสามารถบริหารและใช้คืนเงินกู้ในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว เหมือนในอดีตที่รัฐใช้เงินทำกองทุนหมู่บ้าน ก็ไปเอาเงินของธนาคารออมสินมา 77,000 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใช้หนี้คืนปีละ 10,000 กว่าล้านบาทเป็นเวลา 7 ปี”

Advertisment